นักวิชาการแนะ ! แก้ผังกายภาพไม่ได้ ต้อง ‘เติมของ’ ให้ทันความเจริญ
ไฟไหม้เยาวราชถึงสาธารณภัยใน ‘ชุมชนเมืองเก่า’ นักวิชาการธรรมศาสตร์ แนะ ‘กทม.-ท้องถิ่น’ เมื่อแก้ผังกายภาพไม่ได้ ต้อง ‘เติมของ’ ให้ทันความเจริญ
นักวิชาการธรรมศาสตร์ แนะท้องถิ่น-สำนักงานเขต สำรวจข้อมูลใหม่ทุก 5 ปี “สร้างคลังข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐาน” เพื่อเตรียมทรัพยากร วางแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน-ภัยพิบัติ หากไม่สามารถแก้ผังเมือง-โครงสร้าง-กรรมสิทธิ์ที่ดิน
รศ.ดร.สุวดี ทองสุกปลั่ง หรรษาสุขสิน อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงมาตรการรับมือสาธารณภัยในชุมชนเมืองเก่า ภายหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ในชุมชนตรอกโพธิ์ ย่านเยาวราช กรุงเทพมหานคร (กทม.) ตอนหนึ่งว่า ด้วยลักษณะทางกายภาพของชุมชนที่เปลี่ยนไปตามบริบทเมือง ทำให้ย่านชุมชนเมืองเก่าหรือชุมชนดั้งเดิมในปัจจุบันมีความคึกคัก จำนวนมากกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะเวลาผ่านไป ทำให้เมืองมีการพัฒนาไปมาก ประชากรมีความหนาแน่น การสัญจรเข้าออกพื้นที่มีความยากลำบากกว่าในอดีต ตลอดจนวัสดุโครงสร้างอาคารในพื้นที่มีความเก่า บางส่วนอาจชำรุด โดยเฉพาะระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบไฟฟ้า ที่อาจมีความเสี่ยง ดังนั้น กทม. รวมถึงรัฐบาล จำเป็นต้องให้น้ำหนักความสำคัญอย่างยิ่งกับชุมชนเมืองเก่า
“สิ่งสำคัญที่ทำได้ทันทีคือการเตรียมทรัพยากรเพื่อใช้ในการบรรเทาภัยที่ไม่ใช่แค่อัคคีภัย ให้เพียงพอตามมาตรฐานที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนด” รศ.ดร.สุวดี กล่าว
รศ.ดร.สุวดี กล่าวต่อไปว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนตัวมองว่าการเก็บข้อมูลในพื้นที่ อาทิ ข้อมูลประชากร หน่วยครัวเรือน การดำเนินธุรกิจ จุดเปราะบาง จุดปลอดภัย ฯลฯ เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมาก โดยสำนักงานเขต หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ควรสร้างคลังข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐาน เพื่อนำไปสู่การจัดเตรียมทรัพยากรการป้องกันหรือบรรเทาภัยต่างๆ ให้สอดคล้องกับค่ามาตรฐานที่ได้มีการกำหนดเอาไว้ โดยการเก็บข้อมูลอาจเก็บทุกๆ 5 ปี ซึ่งมองว่าน่าจะเพียงพอ
ทั้งนี้ มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสวัสดิภาพการอยู่อาศัยอยู่ 2 ฉบับ คือ กฎกระทรวงผังเมืองรวมประจำแต่ละท้องที่ และกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่งต่างก็ให้ความสำคัญกับความปลอดภัย การป้องกันอัคคีภัยในอาคาร และสาธารณสุข นอกเหนือไปจากความสวยงามทางสถาปัตยกรรม และความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยกฎหมายจะมีการกำหนดค่ามาตรฐานทั้งเรื่องระบบไฟ และความพร้อมของหัวจ่ายน้ำเอาไว้ ซึ่งจะต้องสอดรับกับจำนวนประชากรและขนาดของชุมชน ว่าจะต้องมีทรัพยากรมารองรับมากน้อยเพียงใด
“จำนวนคนและความหนาแน่นของอาคารสิ่งปลูกสร้างจะสัมพันธ์กับโครงสร้างพื้นฐานของเมือง เช่น ระยะเว้นจากถนน ความกว้างของตรอกซอกซอยต่างๆ จุดรวมพลเพื่อรับมือกับการเกิดภัยพิบัติ รวมทั้งหัวจ่ายน้ำดับเพลิง ซึ่งโดยปกติแล้วกรมโยธาธิการและผังเมืองจะมีการจัดทำคู่มือค่ามาตรฐานสำหรับการพัฒนาชุมชนเมืองขนาดต่างๆ โดยระบุไว้ว่าจะต้องมีบริการสาธารณะอะไรบ้าง เป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งแน่นอนว่า ทุกชุมชนมีการพัฒนา จึงจำเป็นต้องมีการสำรวจ อัพเดทสถานการณ์ให้ทันปัจจุบัน และจัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอด้วย” รศ.ดร.สุวดี กล่าว
รศ.ดร.สุวดี กล่าวอีกว่า ข้อเสนอข้างต้นนี้ เพื่อใช้สำหรับชุมชนที่มีข้อจำกัดเรื่องผังทางกายภาพ โครงสร้างอาคาร หรือการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินที่อาจทำให้ไม่สามารถแก้ไข หรือพัฒนาใหม่ได้ ฉะนั้นการเก็บข้อมูล หรือการเตรียมทรัพยากรให้พร้อมจึงมีความสำคัญ แต่ก็ควรต้องศึกษาค่ามาตรฐานให้ชัดเจนด้วยเช่นกัน
“ข้อจำกัดที่ล้อมไปด้วยความเจริญที่เพิ่มมากขึ้น อาจไม่สามารถปรับแก้โครงสร้างได้ เพราะการแก้ต้องกลับไปดูกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งพื้นที่ย่านเก่าในเมืองส่วนมากเป็นที่เช่า ถ้าเจ้าของที่ดินไม่มีดำริว่าจะทำผู้เช่าก็ทำไม่ได้ ทางออกที่ดีที่สุดหากไม่ปรับโครงสร้างก็คือการเตรียมพร้อมทรัพยากรบรรเทาภัยให้เพียงพอ ฉะนั้นจึงย้อนกลับไปเรื่องของการเก็บข้อมูล เพื่อดูจุดเปราะบาง หรือจุดปลอดภัย ที่ส่วนตัวมองว่าเป็นจุดเริ่มที่ทุกคนจะต้องรู้ร่วมกัน” รศ.ดร.สุวดี กล่าว