posttoday

“สนามทดสอบรถอัตโนมัติ” EECi ระยอง บทบาทสร้างความเชื่อมั่นยานยนต์ไทย

23 กรกฎาคม 2567

เดินหน้าพัฒนา “สนามทดสอบยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ”  สร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและความปลอดภัย รองรับการพัฒนาและผลิตยานยนต์อัตโนมัติในไทยให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล เผยความคืบหน้าอยู่ระหว่างดำเนินการเฟส 2  คาดเสร็จสมบูรณ์พร้อมให้บริการได้ภายในปี 2568

KEY

POINTS

  • ปัจจุบันยานยนต์ไร้คนขับยังไม่สามารถออกมาใช้งานได้เทียบเท่ารถที่วิ่งบนถนน ทำให้เกิดการคาดการณ์ที่ผิดพลาด ส่งผลให้นักลงทุนถอนตัว สตาร์ทอัพหลายพันบริษัททยอยเลิกกิจการจนเหลือเพียงไม่ที่รายที่ยังคงวิจัยและพัฒนาต่อ แต่ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้าง “สนามทดสอบรถอัตโนมัติ” และผลักดัน “อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่” 
  • กระทรวง อว. โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ เดินหน้าพัฒนา “สนามทดสอบยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ”  สร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพและความปลอดภัย
  • ความคืบหน้าอยู่ระหว่างดำเนินการเฟส 2  คาดเสร็จสมบูรณ์พร้อมให้บริการได้ภายในปี 2568  พร้อมยก “สนามทดสอบ“  มาโชว์ศักยภาพในงาน “อว.แฟร์”  22-28 กรกฎาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  

 

การใช้ยานยนต์อัตโนมัติในหลายประเทศกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งบริการ Taxi หรือ รถบัสโดยสาร แม้จะมีการทดสอบใช้งานจริงในพื้นที่สาธารณะแล้ว แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งด้านสมรรถนะและความปลอดภัยก็ยังคงเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยี

 

สำหรับประเทศไทย เทคโนโลยีนี้ได้รับการขับเคลื่อนโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งได้วางมีเป้าหมายขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นแผนงานสำคัญโดยเน้นผลักดัน 3 แผนงานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่

 

1) EV-HRD การพัฒนาทักษะกำลังคน เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า

2) EV-Transformation การส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้ อว. ปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

3) EV-Innovation การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ

 

“สนามทดสอบรถอัตโนมัติ”  EECi ระยอง บทบาทสร้างความเชื่อมั่นยานยนต์ไทย

 

กรมวิทยาศาสตร์บริการ  ซึ่งมีภารกิจหลักในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ(NQI) ของประเทศจึงได้จัดทำ “โครงการสร้างสนามทดสอบรถอัตโนมัติหรือ Connected and Autonomous Vehicle (CAV) Proving Ground” ขึ้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) จ.ระยอง  เพื่อรองรับการพัฒนาและผลิตยานยนต์อัตโนมัติในประเทศให้ได้มาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล  

 

โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (พ.ศ.2565-2568)   คาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ถึง 2 แสนล้านบาทในปี 2573  

 

ดร.ปาษาณ กุลวาณิช  นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) หัวหน้าโครงการพัฒนาสนามทดสอบยานยนต์ CAV Proving Ground กล่าวว่า ปัจจุบันการดำเนินงานโครงการระยะแรก คือปรับพื้นที่ และสร้างสนามส่วนถนนแล้วเสร็จ ขณะนี้สนามทดสอบรถอัตโนมัติ CAV Proving Ground อยู่ในระหว่างการดำเนินงานในระยะที่ 2 คือ 

 

การก่อสร้างอาคารสำนักงาน (Control and Welcome Center) และอาคาร Small Workshop สำหรับใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติงานเชิงเทคนิค ก่อสร้างอุโมงค์กันสัญญาณ GNSS

 

“สนามทดสอบยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ”  ที่ EECi ระยอง

 

ติดตั้งระบบตรวจติดตามรถ ณ 4 แยก ด้วยเลเซอร์ผ่านเครือข่าย 5G สำหรับเชื่อมต่อข้อมูลจราจรกับรถอัตโนมัติที่ขับผ่านทางแยกนั้นผ่านเครือข่าย 5G เพื่อจัดเก็บข้อมูลการจราจร ตำแหน่ง ความเร็ว และทิศทางของยานยนต์ที่มีความแม่นยำสูงสำหรับให้ยานยนต์อัตโนมัติได้ใช้ข้อมูลในการตัดสินใจในการนำทางผ่าน 4 แยกได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น  แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นส่วนตัวของยานยนต์ที่ถูกตรวจจับ เนื่องจากการติดตามจะไม่บันทึกข้อมูลป้ายทะเบียนรถ 

 

อีกทั้งมีการพัฒนาการทดสอบนวัตกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ได้แก่ การพัฒนาวิธีทดสอบ ADAS แบบใช้เป้าสะท้อนสัญญาณ RADAR แบบลาก และการทดสอบระบบ HD map แบบแม่นยำสูง เพื่อยกระดับมาตรฐานยานยนต์แห่งอนาคตที่พัฒนาได้เองภายในประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ลดค่าใช้จ่ายในการส่งออกรถยนต์ไปทดสอบในต่างประเทศ  โดยคาดว่าการก่อสร้างสนามทดสอบรถอัตโนมัติ CAV Proving Ground จะแล้วเสร็จสมบูรณ์พร้อมให้บริการภายในปี 2568

 

ในปัจจุบันยานยนต์ไร้คนขับยังไม่สามารถออกมาใช้งานได้เทียบเท่ารถที่วิ่งบนถนน ทำให้เกิดการคาดการณ์ที่ผิดพลาด ส่งผลให้นักลงทุนถอนตัว สตาร์ทอัพหลายพันบริษัททยอยเลิกกิจการจนเหลือเพียงไม่ที่รายที่ยังคงวิจัยและพัฒนาต่อ

 

แต่ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นที่จะสร้าง “สนามทดสอบรถอัตโนมัติ” และผลักดัน “อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่” ซึ่งยานยนต์ไร้คนขับอาจจะไม่สำเร็จภายใน 2-5 ปีนี้ แต่ไม่ได้แปลว่าจะทำไม่สำเร็จ เมื่อสำเร็จแล้วจะเกิดประโยชน์หลายอย่างที่ตามมา ได้แก่ ทำให้อุบัติเหตุบนถนนเป็นศูนย์ ทำให้อุตสาหกรรมการขนส่งที่เป็น Smart City มีประสิทธิภาพมากขึ้น  ลดข้อจำกัดทางร่างกายช่วยผู้พิการและผู้สูงอายุให้สามารถเดินทางง่ายขึ้น ตลอดจนการดึงนักลงทุนเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย

 

“ยานยนต์ไร้คนขับถือเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจมาก ขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมกับการใช้งานในโรงงาน คลังสินค้า สนามบิน แคมปัส ท่าเรือ ซึ่งการที่ไทยยังพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งสามารถใช้บนท้องถนน ไทยจะได้เป็นส่วนหนึ่งไม่ต้องรอรับเทคโนโลยีจากต่างประเทศอย่างเดียว และสามารถดึงนักลงทุนเข้ามาสร้างมูลค่าภายในประเทศได้ เพราะมีนวัตกรรมที่พร้อมใช้แล้ว”

 

“สนามทดสอบรถอัตโนมัติ”  EECi ระยอง บทบาทสร้างความเชื่อมั่นยานยนต์ไทย

 

ล่าสุดกระทรวง อว. โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ พร้อมยก “สนามทดสอบยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติจำลอง” มาโชว์ศักยภาพในงาน “อว.แฟร์”  22-28 กรกฎาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  

 

รู้หรือไม่ “ยานยนต์อัตโนมัติ” มีกี่ระดับ

มีการกำหนดระดับขั้นของการพัฒนาระบบอัตโนมัติของยานยนต์ไว้ 5 ระดับ ตั้งแต่ในระดับที่มีระบบช่วยเหลือการขับขี่บางส่วน เช่น Cruise control (Level 1) ไปจนถึงระบบที่รถยนต์ทำงานอย่างอิสระเต็มรูปแบบโดยไม่จำเป็นต้องมีคนขับ (Level 5) ส่วนระดับที่ยังต้องมีคนคอยควบคุมอยู่คือระดับ 1-3

 

6 ระดับของระบบอัตโนมัติในรถยนต์:

ระดับ 0 คนขับที่เป็นมนุษย์ทําหน้าที่ในการควบคุมทั้งระบบ

ระดับ 1 ระบบอัตโนมัติในยานพาหนะที่สามารถช่วยเสริมการขับรถของมนุษย์

ระดับ 2 ระบบอัตโนมัติสามารถทำหน้าที่ในการขับขี่ได้ส่วนหนึ่ง ขณะที่มนุษย์ผู้ขับขี่เป็นผู้สังเกตการณ์สภาพแวดล้อมและเป็นผู้ทำหน้าที่ในการขับขี่เป็นส่วนใหญ่

ระดับ 3 ระบบอัตโนมัติสามารถดําเนินการขับรถและตรวจสอบสภาพแวดล้อมในการขับขี่ได้ในบางส่วน แต่คนขับมนุษย์จะต้องพร้อมที่จะเข้าควบคุมรถในกรณีที่มีความจำเป็น

ระดับ 4 ระบบอัตโนมัติดําเนินการขับรถและตรวจสอบสภาพแวดล้อมในการขับขี่ โดยไม่ต้องอาศัยการควบคุมของมนุษย์ แต่สามารถทํางานเฉพาะในสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่กำหนดไว้เท่านั้น

ระดับที่ 5 ระบบอัตโนมัติดําเนินงานขับรถทั้งหมดภายใต้เงื่อนไขเทียบเท่ากับการขับรถโดยมนุษย์