มุมมองท่องเที่ยวไทยบนเส้นทางที่ยั่งยืน รับกติกาโลกยุคใหม่-วิกฤติโลกรวน
ฟังมุมมองแนวทาง-การปรับตัวของธุรกิจท่องเที่ยวในยุคการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตัวแทนธุรกิจต่างๆ ปรับตัวกันอย่างไรในยุคโลกรวน!
หากถามว่าจุดหมายปลายทางบนเส้นทางท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของคุณคือที่ไหน? คุณจะนึกถึงที่แห่งใด หรือหากคิดว่าการท่องเที่ยวของเราจะช่วยโลกได้อย่างไร? วันนี้เรามีคำตอบ
เพราะ “ความยั่งยืน” กำลังกลายเป็นกระแสหลัก ไม่ใช่แค่เทรนด์อีกต่อไป เห็นได้จากการปรับกฎระเบียบใหม่ของโลก และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้การลงมือทำเรื่องยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญของทุกคน รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
งานแถลงข่าวความร่วมมือจัดงาน Amazing Green Fest 2024 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ The Cloud พร้อมเปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน: แนวทางและความสำคัญ และการปรับตัวของธุรกิจท่องเที่ยวในยุคการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้สะท้อนมุมมองเกี่ยวกับความยั่งยืนไว้อย่างน่าสนใจ
ททท. ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ยั่งยืนต่อไป เช่น การตั้งเป้าให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมี STGs Star ให้ได้ 3 ดวงอย่างน้อย 80% ภายในปี 2570 การช่วยธุรกิจโรงแรมและที่พักหาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่าน Platform CF-Hotels เพื่อมุ่งสู่การเป็น Net Zero Tourism รวมถึงรางวัล TTA ที่ ททท. ตั้งใจจะผลักดัน ให้เชื่อมโยงกับมาตรฐานในระดับนานาชาติ เพื่อสร้างความมั่นใจและการมีตัวตนของผู้ประกอบการไทยในเวทีโลก จากสรรพกำลังของ ททท. และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ฉายภาพว่า ทุกวันนี้โลกให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมาก หากใครยังไม่เริ่มก็จะไม่มีจุดยืนในสังคม ททท. จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาตลอด 64 ปี เช่น การพูดถึงเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในนิตยสาร อ.ส.ท , การให้ความสำคัญกับการสื่อสาร 7 Greens Concept ในหมู่ผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว การกำหนดเป้าหมายการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Goals: STGs) ที่เชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs: Sustainable Development Goals) เกิดเป็นการให้ STGs STAR ที่เป็นสารตั้งต้นในการประเมินตนเองเรื่องความยั่งยืน, การทำ Platform CF-Hotels สำหรับผู้ประกอบการโรงแรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, การมอบรางวัล Thailand Tourism Awards หรือ TTA ที่เป็นมาตรฐานสูงสุดสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยว เป็นต้น
นายช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท คลาวด์แอนด์กราวนด์ จำกัด กล่าวเสริมว่า สิ่งหนึ่งที่ ททท. และ The Cloud มีเหมือนกันคือมุมมองความคิดด้านความยั่งยืนที่จะเข้ามาเปลี่ยนทุกอุตสาหกรรมให้หันมาคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว แต่ต้องสร้างความร่วมมือกันทุกฝ่าย พลังแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนก็จะแข็งแรงและยั่งยืนอย่างแท้จริง ทำให้งาน Amazing Green Fest 2024 แตกต่างจากงานท่องเที่ยวอื่นๆ ตรงที่เป็นงานที่เต็มไปด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้จากผู้ประกอบการตัวจริงในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ประกอบด้วย โรงแรม ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว เป็นต้น และเป็นครั้งแรกของการจัดงาน The Hotelier 2024 งานสัมมนายกระดับโรงแรมไทยด้วยความยั่งยืนและบทเรียนจากธุรกิจที่พักชั้นนำทุกระดับทั้งในและต่างประเทศ ที่ไม่อยากให้ทุกคนพลาด!
นายนิพัทธ์พงษ์ ชวนชื่น ผู้ก่อตั้ง trekking THAI และอุปนายกสมาคมการค้าเครือข่ายท่องเที่ยวเชิงนิเวศเอเชีย กล่าวถึงปัญหาในภาพรวมว่า การท่องเที่ยวกำลังประสบวิกฤต จากสาเหตุ 3 ประการ ได้แก่ 1. มลพิษอย่างฝุ่น PM 2.5 ซึ่งส่งผลให้นักท่องเที่ยวน้อยลงในบางพื้นที่ 2. วิกฤติโลกรวนที่ทำให้มีที่อากาศเหมาะกับการท่องเที่ยวมีน้อยลง และ 3. ความเสื่อมของระบบนิเวศที่ทำให้เกิดการแปรปรวนอย่างโรคระบาด หรือประการังฟอกขาว การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจึงเป็นสิ่งที่นักเดินทางจากทั่วโลกให้ความสำคัญในการเลือกเป้าหมายการเดินทาง อย่างไรก็ดี ประเทศไทยได้อันดับที่ 47 จากเกณฑ์ GSTC ตกลงมาจากปีก่อนหน้าถึง 12 อันดับ ทุกองคาพยพในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมทั้งนักท่องเที่ยวจึงควรร่วมมือกันยกระดับเพื่อตอบโจทย์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนี้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
นางสาวรัฎดา ลาภหนุน ผู้ก่อตั้งเครือข่ายประชาคมเกาะ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแห่งประเทศไทย เล่าถึงการปรับตัวรับมือวิกฤติโลกรวนว่า การท่องเที่ยวเกาะสร้างรายได้ให้ประเทศมหาศาล ประชาคมเกาะ จึงตื่นตัวและเตรียมรับมือกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายมิติ
เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ ๆ อย่าง การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ การพัฒนาไม่จำเป็นต้องมุ่งเน้นเรื่องปริมาณแต่สามารถพัฒนาในเชิงคุณภาพได้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ และทำให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งภายในงาน Amazing Green Fest 2024 อยากเปิดมิติใหม่ให้เห็นว่าเกาะไทยมีมากกว่าทะเล หาดทราย และแสงอาทิตย์ แต่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเรื่องความยั่งยืนด้วย
นายธัชรวี หาริกุล ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน ThailandOutdoor Shop กล่าวว่า การเดินป่าชมธรรมชาติเป็นกุญแจสำคัญดอกหนึ่งของการท่องเที่ยว เพราะเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้ให้กับทุกคนที่อยู่ในป่า สร้างผลกระทบกับธรรมชาติน้อยมาก และเป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่ทำให้ทุกคนได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ การสร้างวัฒนธรรมการเดินป่า การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง ชุมชน ภาครัฐ และชาวบ้าน และการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้
ด้านนางสาวอลิสรา ศิวยาธร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ ตัวแทนจากอุตสาหรรมโรงแรม ฉายภาพกว้างว่าอุตสาหกรรมโรงแรมเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานมาก ทั้งไฟฟ้า น้ำ และอาหาร โรงแรมจึงจำเป็นต้องตรวจสอบตัวเองอยู่เสมอว่าจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างไรบ้าง การลดการใช้พลังงานและการร่วมมือกับชุมชนเป็น 2 แกนหลักที่ทางศิวาเทลใช้ในการพัฒนาตัวเองให้เป็นโรงแรมที่ยั่งยืน ทั้งทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อมและธุรกิจ
อย่างไรก็ดีการปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ในเวลาอันสั้น ศิวาเทลใช้เวลาร่วม 7 ปีในการปรับตัว จนปัจจุบันสามารถบรรลุการเป็น Zero Food West Hotel ได้แล้ว ธุรกิจโรงแรมเป็นจิกซอว์สำคัญของการท่องเที่ยวในฐานะผู้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง โรงแรมจึงถือว่าเป็น Change Agent ที่สำคัญที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนนี้ได้
ปิดท้ายที่นายมนต์เทพ กมลศิลป์ Head Chef ประจำห้องอาหาร TAAN (ธาน) ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร มองว่า ในฐานะคนทำอาหารมองว่าวิธีการที่ดีที่สุดในการสร้างความยั่งยืน คือ ทำให้คนได้กินอาหารที่หลากหลายจากวัตถุดิบที่ผลิตในประเทศไทย การใช้วัตถุดิบในประเทศจะทั้งสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่น่าจดจำให้กับนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่น และช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นอีกวิธีที่อาหารจะช่วยส่งเสริมความยั่งยืนได้
สุดท้าย นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้กล่าวปิดท้ายว่า นี่เป็นเวลาสำหรับการฟื้นสร้างอย่างยั่งยืน (Regeneration) ที่อยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศต่อไป
สำหรับผู้ที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวยั่งยืน อดใจรอกิจกรรมดี ๆ แล้วมาเจอกันได้ที่งาน Amazing Green Fest 2024 และงาน The Hotelier 2024 วันที่ 15-18 สิงหาคม 2567 ณ พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน