อีกแห่ง! ธ.ก.ส.จ่อซื้อคาร์บอนเครดิต ราคาสูงสุดในประวัติศาสตร์ ที่ชุมพร
ธ.ก.ส. จับมือเครือข่ายธนาคารต้นไม้ จังหวัดชุมพร จ่อรับซื้อคาร์บอนเครดิตสูงถึงตันละ 3,000 บาท ซึ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์ไทย เผยพร้อมเชื่อมโยงตลาดระหว่างชุมชนกับหน่วยงานขนาดใหญ่ที่สนใจรับซื้อคาร์บอนเครดิต ด้านชาวบ้านระบุเหลือเชื่อ ‘เปลี่ยนอากาศเป็นเงินได้’
- จากธนาคารต้นไม้สู่การซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต
จุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจากการที่ ธ.ก.ส. เริ่มสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกป่าตามพระราชดำริ “ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” และยกระดับไปสู่ "โครงการธนาคารต้นไม้และชุมชน" จนปัจจุบันมีชุมชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 6,814 ชุมชน มีต้นไม้ขึ้นทะเบียนกว่า 12.4 ล้านต้น มีสมาชิก 124,071 คน มูลค่าต้นไม้ในโครงการกว่า 43,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการนำต้นไม้ที่ปลูกมาแปลงเป็นสินทรัพย์ เพิ่มมูลค่าให้กับที่ดินและนำมาใช้เป็นหลักประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส. ทำให้สมาชิกในชุมชนมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากต้นไม้/ป่าไม้ ปีละ 116 ล้านบาท
ต่อมาธ.ก.ส. ได้จัดตั้ง "โครงการ BAAC Carbon Credit " ขับเคลื่อนการซื้อ – ขายคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ตามโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) และสามารถทำให้เกิดการซื้อ-ขายครั้งแรกสำเร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเป็นการรับซื้อจากชุมชนธนาคารต้นไม้บ้านท่าลี่และบ้านแดง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 400 ตันคาร์บอน โดย ธ.ก.ส. รับซื้อในราคากึ่ง CSR ตันละ 3,000 บาท คิดเป็นเงินรวม 1.2 ล้านบาท
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ตั้งเป้ารับซื้อคาร์บอนเครดิตอยู่ที่ 5.10 แสนตันคาร์บอน ภายในปี 2571 ได้แก่ ปี 2567 จำนวน 2,580 ตันคาร์บอน ปี 2568 จำนวน 43,700 ตันคาร์บอน ปี 2569 จำนวน 68,801 ตันคาร์บอน ปี 2570 จำนวน 188,100 ตันคาร์บอน และปี 2571 จำนวน 207,100 ตันคาร์บอน เพื่อที่จะสร้างรายได้ให้ชุมชนมูลค่ากว่า 1,500 แสนล้านบาท
- ราคาคาร์บอนเครดิตในไทย ก่อน ธกส.ใจป้ำรับซื้อในราคาสูงสุดในประวัติศาสตร์!
โพสต์ทูเดย์สำรวจราคาเฉลี่ยรับซื้อคาร์บอนเครดิตพบว่า
ในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่ทำรายได้สูงสุดในการซื้อขายตลาดคาร์บอนเครดิตของไทย
ประเทศไทยรับซื้อคาร์บอนเครดิตในปริมาณ 108 บาท/tCO2e
ในขณะที่สหภาพยุโรปซึ่งเป็นผู้นำด้านตลาดคาร์บอนเครดิตรับซื้อเฉลี่ยที่ 3,500 บาท/tCO2e
ในปี 2566 พบมีการซื้อที่ค่าเฉลี่ย 79.71 บาท/tCO2e
ในขณะที่สหภาพยุโรปซื้อในราคา 3,850 บาท/tCO2e
ส่วนในปีล่าสุด (จนถึงเดือนสิงหาคม 2567) ค่าเฉลี่ยการรับซื้อของไทยสูงขึ้นเป็น 125.78 บาท/tCO2e
ในขณะที่สหภาพยุโรปลดต่ำลงเหลือ 2,500 บาท/tCO2e
อย่างไรก็ตามราคาที่แตกต่างกันนี้ส่วนหนึ่งมาจากกลไกการซื้อขายที่ไทยใช้กลไกภาคสมัครใจ ในขณะที่สหภาพยุโรปใช้กลไกภาคบังคับในการกำหนดราคา
เมื่อสังเกตราคาเฉพาะการรับซื้อคาร์บอนเครดิตจากการปลูกต้นไม้ พบว่า ในปี 2565-2566 มีค่าเฉลี่ยที่ราว 2,000 บาท/tCO2e ซึ่งเป็นราคาที่สูงที่สุดในประเภทของกิจกรรมที่ขายคาร์บอนเครดิต เนื่องจากการปลูกป่าเป็นการลงทุนที่ใช้เวลาและลงทุนสูง อย่างไรก็ตามเมื่อ ธ.ก.ส. เปิดโครงการ BAAC เพื่อขับเคลื่อนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตทำให้ราคาซื้อขายสูงถึง 3,000 บาท/tCO2e ทันที และเป็นราคาที่สูงที่สุดของการรับซื้อคาร์บอนเครดิตเมื่อเปรียบเทียบทุกประเภทกิจกรรมในไทย!
- ธ.ก.ส. ทำการตลาดให้แก่เกษตรกรในการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต
นายฉัตรชัย เปิดเผยถึงบทบาทของ ธ.ก.ส.ในโครงการนี้เพิ่มเติมว่า นอกจากที่ ธ.ก.ส.จะซื้อคาร์บอนเครดิตกลับคืนมาแล้ว หากบริษัทเอกชนขนาดใหญ่หรือหน่วยงานรัฐ ต้องการเข้ามาส่งเสริมก็ยินดี
ส่วนในปริมาณ 5 แสนตันที่ทาง ธ.ก.ส. รับซื้อกลับ สามารถทำได้สองอย่างคือ หน่วยงานจะมาซื้อต่อจาก ธ.ก.ส. ในฐานะผู้รวบรวม หรือซื้อตรงไปที่ตัวเกษตรกรก็ได้ เมื่อเราผลิตได้แล้วเราก็ขาย ซึ่งธ.ก.ส.จะทำตัวเป็นการตลาดให้แก่เกษตรกร
“ผมว่าถึงเวลาที่ภาคเอกชนในเมืองที่มีกำลังซื้อ จะสามารถเข้ามาดูแลรายได้ของเกษตรกรรายย่อยผ่านโครงการของ BAAC”
โดยนายฉัตรชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าการรับซื้อคาร์บอนเครดิตจะสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การทำโซลาร์ รูฟ ฯลฯ แต่มองว่าเป็นการเสียเงินออกไปในส่วนของภาคอุตสาหกรรมมากกว่า แต่โครงการดังกล่าวเป็นการซื้อผ่านภาคของป่าไม้ชุมชน ผลประโยชน์จึงเกิดโดยตรงต่อตัวเกษตรกรรายย่อยในโครงการของ ธ.ก.ส. เอง
ด้าน นายกรีธา สุขศิริ ประธานเครือข่ายธนาคารต้นไม้บ้านประสานมิตร จังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า หลังจากปี 2550 เมื่อได้เข้าโครงการธนาคารต้นไม้ ตอนแรกสมาชิกก็เกิดความไม่ไว้วางใจ ว่าปลูกแล้วจะได้ประโยชน์อะไร แต่ในฐานะประธานก็พยายามบอกว่าปลูกก็เป็นประโยชน์กับเรา เพิ่มพื้นที่สีเขียว และลดภาวะโลกร้อน
ต่อมาเป็นโอกาสดีที่ชุมชนมีสถาบันการเงินชุมชน ซึ่ง ธ.ก.ส.ก็เข้าไปสนับสนุน และทำให้สามารถนำต้นไม้ที่ปลูกและผ่านการประเมิน ใช้เป็นหลักค้ำประกันในการกู้ยืมเงินได้ พอตอนนี้มีการขายคาร์บอน ก็ยิ่งทำให้สมาชิกรู้สึกว่าสามารถ 'เปลี่ยนอากาศเป็นเงินได้' ได้ค่าตอบแทนเพิ่ม โดยในชุมชนมีต้นไม้ราว 20,000 ต้น ซึ่งคิดว่าหากมีการประชาสัมพันธ์เรื่องการขายคาร์บอน ก็คิดว่ามีโอกาสเพิ่มต้นไม้ขึ้นในชุมชน
“จริงๆ เราไม่เคยคิดถึงโครงการคาร์บอนเครดิตมาก่อน แต่พอ ธ.ก.ส.เข้ามาเป็นผู้ประสานงานให้ ก็เป็นโอกาสดีให้กับสมาชิก ซึ่งถ้าไม่มีตัวกลางที่มาให้ความรู้หรือบอกวิธีการ หรือถึงขั้นขายคาร์บอนคงไม่ง่าย ตั้งกลุ่มเราทำได้ แต่ถึงขั้นขายคาร์บอนคงไม่ง่าย”
- ความร่วมมือระหว่าง ธ.ก.ส. กับเครือข่ายชุมชนธนาคารต้นไม้
สำหรับการช่วยเหลือชุมชนต้นไม้ที่ต้องการเข้าโครงการ ทาง ธ.ก.ส.จะส่งทีมเข้าไปเพื่อให้องค์ความรู้ในเรื่องการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต รวมถึงสายพันธุ์ของต้นไม้ที่จะปลูก เพราะแต่ละสายพันธุ์ผลิตได้ไม่เท่ากัน
โครงการ BAAC Carbon Credit จะสนับสนุนให้เกษตรกรในชุมชนหันมาปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวและขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER ด้วยการตรวจนับจำนวนต้นไม้ บันทึกข้อมูลและคำนวณการกักเก็บคาร์บอนและผ่านการตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตจากผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body: VVB) และเมื่อได้รับการรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิต จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ธนาคารต้นไม้จะสามารถนำปริมาณการกักเก็บดังกล่าวไปจำหน่ายให้กับภาคธุรกิจต่อไป
โดยมีการวางแนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจคาร์บอนเครดิตให้ชุมชนด้วยหลักการ Care Share and Fair โดยคิดคำนวณรายได้ : ค่าใช้จ่าย ในอัตรา 70 : 30 โดย ธ.ก.ส. จะออกค่าดำเนินงานให้กับชุมชนไปก่อน เช่น ค่าตรวจสอบความใช้ได้ของโครงการ และค่าทวนสอบปริมาณคาร์บอนเครดิตโดยผู้ประเมินภายนอก
และเมื่อหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ร้อยละ 30 ของมูลค่าการขาย เกษตรกรจะได้รับผลตอบแทนที่ร้อยละ 70 ของราคาขาย หรือประมาณ 2,000 บาทต่อไร่ต่อปี หรือกรณีปลูกต้นไม้แบบหัวไร่ปลายนา จะสามารถปลูกได้เฉลี่ย 40 ต้น/ไร่ คิดเป็น 380 กิโลกรัมคาร์บอนต่อไร่ต่อปี จะทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการขายหลังหักค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 800 บาทต่อไร่ต่อปี
โดยแหล่งข่าวใน ธ.ก.ส. ผู้ดูแลโครงการเปิดเผยว่า ระบบในการขึ้นทะเบียนและประเมินต่างๆ สำหรับตลาดคาร์บอนเครดิตนั้น ธ.ก.ส. จะเป็นผู้ช่วยดูแลทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนเพราะอาจจะมีความยุ่งยากและซับซ้อน นอกจากนี้การที่ชุมชนเข้าร่วมยังทำให้ชาวบ้านต้องดูแลต้นไม้อย่างดี เนื่องจากหากมีต้นไม้ที่เสียหายเกินกว่า 15% ก็จะทำให้โครงการดังกล่าวถูกล้มเลิกไปตามหลักการ ฉะนั้นนอกจากจะเป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่งให้แก่ชาวบ้านแล้ว ยังเป็นการดูแลต้นไม้ให้แก่ชุมชนทางอ้อมที่ดีอีกด้วย
ท้ายสุด นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้กล่าวถึงประเด็นที่มีการรับซื้อที่ราคา 3,000 บาทซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าในท้องตลาดว่า ธ.ก.ส. เรารับซื้อที่ 3,000 บาท ผมมองว่าเป็นกึ่ง CSR เพราะเราก็มีงบประมาณในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่างๆ แต่เราคิดว่าเอางบประมาณมาลงที่เกษตรกรโดยตรงน่าจะได้ประโยชน์กว่า
"ผมว่าราคาในตลาดตอนนี้ต่ำมาก ผมคิดว่า ธ.ก.ส.เป็นธนาคารที่มีกำลังพอที่จะรับซื้อในราคานี้ได้"
" สำหรับบริษัทรายใหญ่เราอยากให้ซื้อในราคา 3,000 บาท ถ้ายิ่งเป็นภาคเกษตรที่ประโยชน์ตกกับเกษตรกรรายย่อย ผมว่าอย่าไปใช้กลไกราคาตลาดเลย เพราะเป็นการซ้ำเติมเขา การขายที่ตันละ 3,000 บาท หรือตันละ 300 บาท ถ้าคุณเป็นบริษัทใหญ่จริง กินข้าวมื้อเดียวก็หมดแล้ว แต่เวลาเป็นเรื่องเกษตรกรแล้วมากดราคา ผมว่าอันนี้ก็ไม่สมเหตุสมผล”