posttoday

ชะล่าใจ! ศูนย์บัญชาการก่อนเกิดน้ำท่วม เหตุเชียงรายอ่วม อีสานพร้อม?

13 กันยายน 2567

สัมภาษณ์ นพดล มากทอง โฆษกมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ชี้ความสำคัญของศูนย์บัญชาการก่อนเกิดภัย รูโหว่ใหญ่เชียงรายอ่วมหนักจากยางิ! ย้ำไทยเคยมี 'ปลาบึก' ส่งผลกระทบหลายจังหวัดและรุนแรงกว่า แต่ผลกระทบต่อชีวิตน้อยกว่า เพราะระบบจัดการดีถึงขั้นสื่อต่างชาติชม!

หลายคนโทษปริมาณน้ำฝนที่ตกหนัก คือสาเหตุของความเดือดร้อนของคนเชียงรายในตอนนี้ แต่อีกมุมหนึ่งที่ประเทศไทยควรพิจารณาจากอดีตที่ผ่านมา คือ ประเทศไทยเคยผ่านพายุมาลูกแล้วลูกเล่า ไม่มีบทเรียนไหนเลยหรือที่จะสามารถเข้ามาช่วย ‘รับมือ’ กับสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นได้?

โพสต์ทูเดย์ ได้มีโอกาส สัมภาษณ์พิเศษ นพดล มากทอง โฆษกมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่ได้แสดงแนวคิดถึงแนวทางการเตือนภัยในระดับชาติและท้องถิ่น รวมไปถึงบทเรียนจากในอดีตอย่างน่าสนใจ!

 

  • เปรียบเทียบพายุดีเปรสชั่นยางิในเชียงราย กับ พายุโซนร้อนปาบึกที่นครศรีธรรมราช

นพดล มากทอง โฆษกมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นในประเด็นของการเตือนภัยพายุดีเปรสชั่นยางิในไทยว่า

“ เรามีข้อมูลล่วงหน้าว่าจะมีพายุยางิเข้ามาสลายตัวในพื้นที่ตอนบนของประเทศเวียดนาม  ซึ่งในเชิงข้อมูลจะเห็นว่าตัวพายุยางิช่วงที่อยู่ในทะเลจีนใต้มีการพัฒนาตัวเอง และทวีกําลังค่อนข้างเร็วมาก จากเดิมที่มีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลาง 92 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายในระยะเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงก็พัฒนาขึ้นมาเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น

และเป็นพายุลูกแรกที่เคลื่อนตัวไปยังประเทศเวียดนามในความรุนแรงระดับพายุไต้ฝุ่น อ่อนกําลังลงเป็นโซนร้อน เข้ามามีผลกระทบกับพื้นที่ในประเทศเวียดนามก็ยังเป็นพายุดีเปรสชั่น ซึ่งในเชิงข้อมูล ถ้าพายุที่มีความรุนแรงในระดับนี้แล้วมีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ในแง่ของการเตรียมการ การแจ้งเตือน เราจะต้องมีความพร้อมแล้วก็ประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งในเคสของพายุยางิถ้าจะมีข้อเปรียบเทียบจะเห็นว่าในช่วงปลายปี 2562 เราเคยมีพายุอยู่ลูกหนึ่งคือ 'พายุปาบึก' ตอนนั้นจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่ภาคใต้ ซึ่งกรณีของพายุปาบึก เราจะเห็นความแตกต่างในเรื่องของการบริหารจัดการเตรียมความพร้อมและก็การแจ้งเตือน”

 

ภาพ พายุโซนร้องปาบึกในปี 2562

 

 

โพสต์ทูเดย์ ค้นข้อมูลพายุปาบึก พบพายุปาบึกจัดเป็นพายุโซนร้อน มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลาง 95 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งผลทำให้มีปริมาณน้ำฝนสูงสุด 271.0 มิลลิเมตร  ซึ่งพายุปาบึกก่อตัวในทะเลจีนใต้ ก่อนเข้าปะทะภาคใต้ของประเทศไทยที่นครศรีธรรมราชเป็นที่แรก! และขยายวงกว้างส่งผลกระทบในพื้นที่ 23 จังหวัด รวม 97 อำเภอ  และนอกจากปริมาณน้ำฝนแล้วยังมีในเรื่องของกระแสลมแรงซึ่งทำให้คลื่นในทะเลสูงถึง 5 เมตรเลยทีเดียว

 

พื้นที่ปากพนัง ที่ได้รับผลกระทบจากพายุปาบึก



ส่วนพายุยางิ แม้ถูกจัดเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่น แต่เมื่อเคลื่อนตัวผ่านหลายประเทศมายังไทยก็ทำให้อ่อนกำลังลง และกลายเป็นพายุดีเปรสชั่น ส่งผลให้เกิดฝนตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือของไทย

 

“ กรณีพายุยางิเนี่ย เมื่อเข้ามาสลายตัวที่ สปป.ลาว หลายคนก็คาดการณ์ว่ามันไม่น่าจะมีผลกระทบรุนแรงในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยครับ แต่ในเชิงข้อมูลด้วยภาวะอุณหภูมิโลกที่มันสูงขึ้น มันมีความชื้นจากอ่าวเบงกอลไหลเข้าไปหล่อเลี้ยงหย่อมความกดอากาศต่ำที่เกิดจากจากการสลายตัวของยางิ ทําให้มีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในเชิงข้อมูลก็มีอยู่แล้วครับ

 

การเข้ามาของความชื้นจากอ่าวเบงกอล ทำให้ปริมาณฝนที่ตกลงมาจากพายุดีเปรสชั่นยางิมีปริมาณ 236 มิลลิเมตร

“ปริมาณฝนที่ตกที่แม่สาย 236 มิลลิเมตร ส่วนที่แม่อายก็ 200 กว่าเหมือนกัน ส่วนปริมาณฝนในกรณีที่มีการพูดถึงที่เมียนมานั้น ถ้าจะพูดแล้วปริมาณฝนที่ส่งผลกระทบจริงๆ ในพื้นที่น่าจะมาจากบ้านเรามากกว่า

 

น้ำท่วมจากพายุยางิที่แม่สาย

 

  • การจัดการก่อนเกิดภัยที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง!

นพดล มากทอง เปิดเผยว่า “สำหรับเหตุการณ์พายุปาบึก เรามีการตั้งวอร์รูมก่อนที่พายุจะขึ้นฝั่งในจังหวัดนครศรีธรรมราชล่วงหน้า 3 ถึง 4 วัน แล้วก็มีการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ติดตามข้อมูล

เมื่อพายุใกล้จะขึ้นฝั่งที่นครศรีธรรมราช ก็มีหน่วยงานกํานันผู้ใหญ่บ้านเข้าถึงชาวบ้านที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเพื่อออกไปแจ้งเตือนให้อพยพ เพราะถ้าไม่อพยพคนจะได้รับความเดือดร้อนจะได้รับความเสียหายหรืออาจจะเกิดอันตราย

ซึ่ง ณ ขณะนั้น ก็จะมีชาวบ้านส่วนหนึ่งที่มีความห่วงใยทรัพย์สิน ห่วงใยบ้านของเขา ก็ไม่ยอมอพยพออกมา แต่หลังจากนั้นก่อนที่พายุจะขึ้นฝั่งล่วงหน้าหลายชั่วโมง มีหน่วยทหาร หน่วยราชการต่างๆ เข้าไปในพื้นที่สุ่มเสี่ยงแล้วก็ใช้ระเบียบข้อคําสั่งของทางราชการบอกว่าให้อพยพออกนอกพื้นที่ทั้งหมด มาอยู่ในศูนย์พักพิงที่ได้มีการเตรียมการไว้อย่างเป็นระบบ มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ มีนักจิตวิทยาไปดูแลอย่างเป็นระบบ ส่วนสื่อมวลชนก็มีการไปเกาะติดสถานการณ์อย่างเป็นเอกภาพ

 

“เสริชข้อมูลจะพบว่าการจัดการเรื่องพายุปาบึกของไทยในปีนั้น สื่อต่างประเทศชื่นชม”

 

นอกจากสื่อต่างชาติที่ชื่นชมแล้ว องค์การสากลอย่าง UNDRR หรือ United Nation Office for Disaster Risk Reduction ของ UN ยังลงบทความชื่นชมการจัดการของไทย โดยกล่าวว่า การเตือนภัยล่วงหน้าและการดำเนินการในเชิงรุกช่วยให้พายุโซนร้อนปาบึกซึ่งพัดถล่มภาคใต้ของประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 3 ถึง 5 มกราคมผ่านไปโดยมีการสูญเสียชีวิตในระดับจำกัด และถึงแม้พายุครั้งนี้จะมีความรุนแรงและเปรียบได้กับพายุโซนร้อนแฮเรียต แต่ด้วยระบบพยากรณ์อากาศที่ดี รวมถึงการเตือนภัยและการอพยพล่วงหน้า ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพียงไม่กี่คน ( คลิก : Thailand limits death toll from Pabuk )

 

ซึ่งการอพยพผู้คนในพื้นที่ภาคใต้จากเหตุการณ์พายุปาบึก ได้รวมถึงการอพยพนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งในช่วงนั้นเกิดข่าวว่านักท่องเที่ยวบางรายหนีออกจากศูนย์อพยพ ก็ได้มีการตามกลับมาให้เข้ามาอยู่ในศูนย์อพยพอีกด้วย!

 

“แต่ในกรณีของเชียงรายเนี่ยมันต่างกันโดยสิ้นเชิงนะครับ เราไม่มีระบบประเมินสถานการณ์เราไม่มีระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้า” โฆษกมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติระบุ

 

“ ที่เห็นได้ชัดคือเหตุน้ำท่วมในเมืองเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน จะต้องมีการแจ้งเตือนว่าในพื้นที่อําเภอเมืองจังหวัดเชียงรายมีระดับน้ํากกที่มันจะเพิ่มระดับสูงขึ้น ให้จัดเตรียมแผนอพยพ ชาร์จมือถือไว้ให้เต็ม อุปกรณ์ส่องสว่างต้องพร้อม

ซึ่งจะเห็นได้ว่าเกิดน้ำท่วมที่แม่สายแล้ว แต่ในตัวเมืองเชียงราย ผลกระทบก็ไม่ได้ต่างจากที่อําเภอแม่สาย นี่คือกระบวนการการบริหารจัดการการแจ้งเตือนล่วงหน้า การบูรณาการต่างๆ ที่มันเป็นจุดอ่อนในเรื่องของการเตือนภัยในภาวะวิกฤติในประเทศไทยครับ"

 

  • การสื่อสารในพื้นที่เกิดปัญหา

ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ได้มีการแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา แต่ปรากฎว่าข้อมูลเหล่านั้นเข้าไม่ถึงประชาชนในพื้นที่

“ ข้อมูลจากส่วนกลางเมื่อเข้าไปยังในพื้นที่ พื้นที่จะไปต่อยอดให้เข้าถึงพี่น้องประชาชนยังไง ได้มีการดําเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและเข้มข้นจริงหรือไม่  เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นภาพเหตุการณ์ความโกลาหลวุ่นวายที่มันเกิดขึ้น”

 

เมื่อเกิดการติดค้างในพื้นที่ การขอความช่วยเหลือจึงถูกส่งออกมาในรูปแบบโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก นพดลเล่าว่า เพจส่วนตัวเปิดมากว่า 20 ปี ไม่เคยปรากฎว่าจะมีคนมาทักขอความช่วยเหลือ จนกระทั่งครั้งนี้

 

“ในระดับส่วนกลางไม่ได้มีการเตรียมวางแผนที่จะรับสถานการณ์อย่างเป็นรูปธรรม เมื่อข้อมูลส่วนกลางไม่มีความชัดเจน ในเชิงพื้นที่ก็คงไม่ต้องพูดถึง

จะเห็นว่าข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีการประกาศแจ้งเตือนพื้นที่อำเภอแม่สายก่อนเกิดเหตุ แต่ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้เข้าไปในพื้นที่เฉพาะจุดเลย อาจจะมีคนรับรู้ แต่คนที่รับรู้บ้างก็คิดว่ารู้แล้วยังไงต่อ จะต้องอพยพหรือไม่ เขาจะต้องยอมจัดการความเสี่ยงทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ เพราะบางคนก็ห่วงทรัพย์สิน ห่วงบ้าน ซึ่งจะทำให้เกิดกลุ่มคนกลุ่มใหญ่เลยที่ไม่เคลื่อนย้ายตนเองออกนอกพื้นที่ กับอีกกลุ่มคือไม่รู้ข่าวสารข้อมูลเลย

เพราะฉะนั้นเมื่อเอาสองกลุ่มนี้มารวมกัน ก็คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเราเห็นปรากฎการณ์นี้ชัดเจนในแม่สาย เชียงราย และแม่อาย จ.เชียงใหม่ครับ”

 

ชะล่าใจ! ศูนย์บัญชาการก่อนเกิดน้ำท่วม เหตุเชียงรายอ่วม อีสานพร้อม?

 

  • ห่วงอีสาน! กระทบแน่สัปดาห์นี้!

มวลน้ำจากเชียงรายจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง และเพิ่มระดับน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งสูงอยู่แล้วจากการปล่อยน้ำของจีนและลาว

“ หลายคนเริ่มกังวลว่าน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองเชียงรายจะไปอย่างไรต่อ จะลงไปที่แพร่ น่านหรือไม่ จริงๆ มวลน้ำจะไหลลงไปยังแม่น้ำโขง ซึ่งขณะนี้ต้องแจ้งเตือนพี่น้องประชาชนริมน้ำโขงแล้วว่าสูงขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้สูงอยู่แล้ว ถ้าหากมีมวลน้ำจากเชียงรายเติมอีก ก็จะส่งผลให้พื่นที่ลุ่มน้ำโขงแน่ๆ ในสัปดาห์นี้ต่อเนื่องสัปดาห์หน้า

ตอนนี้ ก็ต้องให้เครดิตว่า สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ก็ให้ข้อมูลอยู่ว่าจะสูงเท่าไหร่มีการเตือน แต่ในขณะเดียวกันพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จริงๆ รู้ว่าจะเกิดแบบนี้ซ้ำๆ ก็ต้องติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง"

 

  • ระบบสั่งการราชการยังช้า

โฆษกมูลนิธิเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยังให้ความเห็นถึงระบบสั่งการหลังเกิดเหตุน้ำท่วมว่า ยังมีความล่าช้าอยู่มาก จะต้องไปดูว่าจะมีการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ อย่างไร รวมไปถึงปัจจุบันการเข้าพื้นที่ส่วนใหญ่จะเห็นเป็นกลุ่มของภาคประชาชนมากกว่า

 

“ แน่นอนว่ากระบวนการเข้าพื้นที่ ก็จะต้องมีระบบการจัดการ ต้องไปประสานงานกับศูนย์บัญชาการอยู่ แต่ว่ากลุ่มก้อนที่ขอเข้าไปเป็นภาคประชาชนมากกว่า เพราะฉะนั้นหน่วยงานราชการที่ต้องเป็นไปตามขั้นตอนสั่งการ ก็เป็นจุดอ่อนที่ส่งผลให้กระบวนการหลังเกิดภัย ล่าช้า หรือขณะเกิดภัย ก่อนเกิดภัย กระบวนการราชการจะทำยังไงให้สามารถแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้หน่วยงานต่างๆ ไม่อึดอัดในการเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งก็เป็นเรื่องใหญ่พอสมควร”

 

“ เราอยากเห็นศูนย์บัญชาการก่อนเกิดภัย มากกว่าศูนย์บัญชาการขณะเกิดภัย ถ้าวันนี้เชียงรายทำได้เหมือนกรณีปาบึกที่ภาคใต้ จะเห็นความชัดเจน

เราเคยทำได้ แต่ทำไมถึงเกิดกรณีชะล่าใจ เพิกเฉย หรือประมาท หรือคาดไม่ถึง จนเกิดความรุนแรงลักษณะแบบนี้”

 

นพดลยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยข้อมูลที่มีผลกระทบของยางิ ควรจะต้องมีการตั้งศูนย์บัญชาการก่อนเกิดภัย และระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาบริหารจัดการ ซึ่งจะทำให้มีเวลาที่จะเข้าถึงพี่น้องประชาชน

 

“ผมเชื่อว่าจะไม่เกิดการสูญเสียมากมายขนาดนี้ เป็นเรื่องกระบวนการจัดการล้วนๆ”

 

“ ถามว่าข้อมูลล่วงหน้าวันนี้เรามีพร้อมไหม เรามีศักยภาพพอ เรามีผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ เรามีพร้อมหมดข้อมูลล่วงหน้ามีหมด แต่เรามีประเด็นในเรื่องของการจัดการในเชิงพื้นที่นะครับซึ่งมันเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้”

 

มวลน้ำเริ่มกระทบพื้นที่ริมโขงในภาคอีสาน

 

  • ภัยพิบัติในอนาคต รุนแรงขึ้นแม้ปริมาณฝนเท่าเดิม!

ท้ายสุด นพดล มากทอง โฆษกมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้เตือนถึงภัยพิบัติจากธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นว่า ภัยธรรมชาติต่อจากนี้แม้ว่าจะไม่รุนแรง หรือรุนแรงมากกว่าเดิม แต่สิ่งที่เราจะได้เห็นคือผลกระทบและความเสียหายที่มีมากกว่าเดิม

 

“ฝนอาจจะไม่ต้องตกเท่ากับปริมาณที่ตกในพื้นที่ภาคเหนือ แต่ผลกระทบในอนาคตจะมีมากกว่าแน่ ถ้ากระบวนการบริหารจัดการยังไม่มีการพัฒนาหรือวางระบบให้มีความเข้มข้นจริงจังหลังจากนี้”

 

ชะล่าใจ! ศูนย์บัญชาการก่อนเกิดน้ำท่วม เหตุเชียงรายอ่วม อีสานพร้อม?