posttoday

ไขข้อสงสัย ปุ๋ยจากเศษแก้ว ทำไมพืชโตวัยกว่าเดิม!

18 กันยายน 2567

วันนี้เราจะพาไปชมแนวทางจัดการขยะเศษแก้วรูปแบบใหม่ เปลี่ยนจากการฝังกลบ หลอม หรือใช้ซ้ำ มาผสมลงดินสำหรับเพาะปลูกจนทำให้พืชเจริญเติบโตเร็วกว่าเดิมเท่าตัว

เมื่อพูดถึงวัสดุที่รีไซเคิลและนำไปจัดการได้ยากเชื่อว่าแก้วคงเป็นหนึ่งในนั้น แม้มีแนวทางในการทำความสะอาดแล้วนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือบดแล้วหลอมเพื่อนำมาใช้ใหม่ แต่ก็มีข้อจำกัดในหลายด้านทำให้การรีไซเคิลแก้วทำได้ยากและไม่ได้รับความนิยม จนสุดท้ายมักจบที่การนำไปฝังกลบโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์

 

         แต่ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปกับแนวคิดในการนำเศษแก้วมาช่วยสนับสนุนการเพาะปลูก

 

ไขข้อสงสัย ปุ๋ยจากเศษแก้ว ทำไมพืชโตวัยกว่าเดิม!

 

เมื่อเศษแก้วทำให้พืชผลเจริญงอกงาม

 

         ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก The University of Texas Rio Grande Valley กับแนวคิดในการใช้ประโยชน์จากเศษแก้วมาใช้ในการเพาะปลูก ไม่เพียงช่วยลดจำนวนขยะที่ต้องฝังกลบ แต่ยังช่วยให้ผลผลิตในภาคการเกษตรเจริญเติบโตได้ดีขึ้นกว่าเดิมถึงเท่าตัว

 

         แก้วที่ถูกนำมาใช้ในขั้นตอนนี้เป็นเศษแก้วที่ผ่านการรีไซเคิล ทั้งการฆ่าเชื้อทำความสะอาดและบดให้เรียบเท่าเม็ดทราบเพื่อป้องกันอันตรายต่อผู้ใช้งาน หลังนำไปตรวจสอบพบว่า เศษแก้วมีลักษณะคล้ายกับทรายหยาบที่มีคุณสมบัติในการกักเก็บน้ำสูงแต่ปล่อยให้ออกซิเจนไหลผ่านง่าย เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับนำไปใช้งานในการเพาะปลูก

 

         เมื่อทีมวิจัยทดสอบนำเศษแก้วเหล่านี้มาผสมกับดินแล้วนำไปทดสอบปลูกพืช โดยทำการปลูกพืชผักสวนครัวอย่างผักชี พริกหยวก และพริกฆาลาเปญโญ พบว่าพืชที่ปลูกด้วยดินผสมเศษแก้วในอัตราส่วน 50% มีการเจริญเติบโตที่ดีและรวดเร็วกว่าดินทั่วไปถึง 100%

 

         สาเหตุเนื่องมาจากกระถางดินทั่วไปมีการก่อตัวและแพร่กระจายของเชื้อราเป็นจำนวนมาก สิ่งนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโต รบกวนการดูดซับน้ำและสารอาหารของพืชจนทำให้ผลผลิตเติบโตช้าลง ในขณะที่ดินซึ่งมีเศษแก้วผสมอยู่ไม่มีการเจริญเติบโตของเชื้อรา จึงสามารถเจริญเติบโตและงอกงามได้ดีกว่ามาก

 

         ในทางหนึ่งเศษแก้วจึงอาจไม่ได้เป็นเพียงขยะอันตรายแต่อาจเป็นแนวทางใหม่สำหรับสนับสนุนการเพาะปลูก

 

ไขข้อสงสัย ปุ๋ยจากเศษแก้ว ทำไมพืชโตวัยกว่าเดิม!

 

สู่การเพิ่มผลผลิตและแก้ปัญหาขยะไปพร้อมกัน

 

         ถึงตรงนี้หลายท่านอาจสงสัยเหตุใดเศษแก้วจึงมีผลดีต่อการเจริญเติบโตของพืช สาเหตุเนื่องจากวัสดุที่ใช้ในการผลิตแก้วคือ ทรายซิลิกา อีกหนึ่งสารประกอบที่ช่วยเสริมความแข็งแรงโครงสร้างเซลล์พืช ทำให้รากและลำต้นมีความทนทานต่อแดดฝนและโรคภัย รวมถึงช่วยป้องกันการเกิดเชื้อราและการติดเชื้อภายในพืช

 

         ตลอดขั้นตอนการศึกษาทีมวิจัยไม่ได้พึ่งพาปุ๋ยหรือสารเคมีจากภานอก หมายความว่าทรายซิลิกาจากเศษแก้วมีคุณสมบัติต้านเชื้อราตามธรรมชาติโดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในกระบวนการเพาะปลูก ทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการปราบศัตรูพืชรวมถึงผลกระทบทางสุขภาพจากสารเคมี เป็นประโยชน์ต่อทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค

 

         การใช้เศษแก้วผสมลงดินยังช่วยเพิ่มอัตราการกักเก็บความชื้นสูงกว่าดินทั่วไป ส่งผลให้เกษตรกรใช้น้ำในการเพาะปลูกน้อยลง เป็นผลดีต่อการเพาะปลูกโดยเฉพาะกับพื้นที่แห้งแล้งหรือขาดแคลนน้ำ ซึ่งเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงในหลายพื้นที่จากสภาพอากาศสุดขั้ว

 

         อีกหนึ่งข้อสำคัญของการเพาะปลูกรูปแบบนี้คือ การนำขยะเศษแก้วกลับมาใช้ใหม่ ปัจจุบันวิธีใช้งานเศษแก้วต้องอาศัยการรีไซเคิลผ่านการบดแล้วนำมาหลอมใหม่ หรือนำขวดที่ใช้เดิมทำความสะอาดแล้วนำมาใช้ซ้ำ แต่ขั้นตอนเหล่านี้จะทำได้ต้องอาศัยการจัดการขยะที่ถูกต้อง แก้วที่นำมาใช้ใหม่ก็ต้องมีสภาพสมบูรณ์

 

         ในทางกลับกันการรีไซเคิลหรือจัดการเศษแก้วที่แตกทำได้ยากกว่า ยากต่อการจัดการและเสี่ยงทำให้ได้รับอันตรายจนจำเป็นต้องฝังกลบ แต่หากสามารถนำเศษแก้วที่แตกเหล่านี้มาใช้ในภาคการเกษตรได้สำเร็จ ก็อาจช่วยลดปริมาณขยะเศษแก้วที่จำเป็นต้องฝังกลบได้เช่นกัน

 

         นอกจากนี้เมื่อเปรียบเทียบกับการรีไซเคิลนำกลับไปหลอมใหม่ที่ต้องใช้พลังงานมหาศาล การนำแก้วมาใช้งานในการเกษตรเพียงนำไปผ่านการบดและฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันอันตรายก็เพียงพอ ช่วยลดการใช้พลังงานในการรีไซเคิลและจัดการขยะลงมาก

 

         นี่จึงเป็นแนวทางจัดการขยะและเพิ่มความมั่นคงในการผลิตอาหารของโลกไปพร้อมกัน

 

 

 

         อย่างไรก็ตามการนำเศษแก้วผสมดินใช้ในการเพาะปลูกยังคงมีข้อจำกัด เนื่องจากปริมาณสารอาหารอย่างไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียมที่น้อยกว่าดินทั่วไปจนอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืช อีกทั้งยังต้องตรวจสอบคุณภาพและรสชาติของผลผลิตที่ได้ต่อไป

 

         แต่เมื่อใดที่ประสบความสำเร็จนี่จะถือเป็นแนวทางการเกษตรยั่งยืนรูปแบบใหม่ที่พลิกโฉมโลกเลยทีเดียว

 

 

 

         ที่มา

 

         https://www.acs.org/pressroom/presspacs/2024/august/pilot-study-uses-recycled-glass-to-grow-plants-for-salsa-ingredients.html

 

         https://newatlas.com/science/plant-growth-glass-particles/

 

         https://interestingengineering.com/science/recycled-glass-boosts-salsa-plant-growth