posttoday

“ภาษีคาร์บอน” เพราะการปล่อยมลพิษมี “ราคา” ที่ต้องจ่าย

03 ตุลาคม 2567

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ประโยชน์และความสําคัญของภาษีคาร์บอน คืออะไร ทำไมต้องจ่ายภาษีชนิดนี้โดยเฉพาะภาคธุรกิจ วันนี้โพสต์ทูเดย์มีคำตอบ

ภาษีคาร์บอนถือเป็นเครื่องมือสําคัญเพื่อชวยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกลไกของ Carbon Pricing ตามหลักทางเศรษฐศาสตร์ เพราะทําให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสิ่งที่มีราคาต้องจ่าย ไม่ใช่ของฟรีที่จะปล่อยเท่าไหร่ก็ได้อีกต่อไป และบังคับให้ผู้ประกอบการต้องร่วมรับผิดชอบต่อสังคม จนเกิดผลกระทบเชิงบวกเป็นวงกว้างดังนี้
 

 1. ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี 

ภาษีคาร์บอนทําให้การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมีต้นทุนแพงขึ้น และผลักดันให้ผู้ผลิตไฟฟ้าหันมาเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดที่ยั่งยืน เช่น พลังงาน แสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานนํ้า ตลอดจนเพิมประสิทธิภาพการผลิตด้วยการเร่งพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้สามารถแข่งขันได้ ขณะเดียวกันก็จะจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน หันมาใชพลังงานสะอาดมากขึ้นเช่นกันจากแนวโน้มราคาที่ถูกลง

 

2. ขยายตลาดให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

กลไกด้านภาษีจะช่วยหนุนให้ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น และมีโอกาสขยายตลาดได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากสินค้าที่ไม่ยึดมั่นในกระบวนการผลิตแบบยั่งยืน หรือเลือกใช้วัสดุที่ทําลายสิ่งแวดล้อม สินค้าเหล่านี้จะมีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากอัตราภาษี ทําให้ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าอื่นที่มีราคาเหมาะสมกว่า

 

3. ช่วยลดภาวะโลกร้อน

เป้าหมายสูงสุดของภาษีคาร์บอน คือ ลดปริมาณการปล่อยก๊าชเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อชะลอภาวะโลกร้อน ที่เป็นสาเหตุสําคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกทุกวันนี้

 

“ภาษีคาร์บอน” เพราะการปล่อยมลพิษมี “ราคา” ที่ต้องจ่าย

 

ยุทธศาสตร์ Ease Excise ของกรมสรรพสามิต

ด้วยวิสัยทัศน์ “เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต”  มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

 

กรมสรรพสามิตได้ดำเนินยุทธศาสตร์ Ease Excise ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 โดยเล็งเห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่เกิดจากสภาวะโลกร้อน (Global Warming) และพัฒนาเป็นสู่ภาวะโลกเดือดซึ่งเป็นสาเหตุที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งส่งผลกระทบไม่เพียงต่อสภาพความเป็นอยู่แต่ยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ อีกทั้งภัยพิบัติต่าง ๆ จะยิ่งทวีความรุนแรงหรือมีความถี่ที่สูงขึ้นอีกด้วย

 

ประเทศไทยได้ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่มีความเสี่ยงจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว

สำหรับต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมคือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากเกินไป ดังนั้น ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 30 - 40 ในปี ค.ศ. 2030 เป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065 

 

หลายประเทศตื่นตัวในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวและนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาใช้และผลักดันให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกจากสถานการณ์ปัจจุบัน ภาคพลังงานและขนส่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดหรือประมาณร้อยละ 70 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ

 

กรมสรรพสามิตได้ริเริ่มเชื่อมโยงการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกประเภทหนึ่ง โดยปรับปรุงโครงสร้างภาษีรถยนต์ที่ใช้เกณฑ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในการกำหนดอัตราภาษี กล่าวคือ

 

รถยนต์ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยก็จะมีอัตราภาษีที่ต่ำ และหากพิจารณาทั้งห่วงโซ่มูลค่า (Value Cain) ของภาคพลังงานและขนส่งแล้ว น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันเป็นสินค้าต้นทางที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปัจจุบันกรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันภายใต้วัตถุประสงค์และหลักการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนพลังงานทดแทน เช่น เอทานอลและไบโอดีเซล โดยจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามสัดส่วนของพลังงานทดแทนที่ใช้ผสมเป็นน้ำมันสำเร็จรูปที่จำหน่ายในสถานีบริการน้ำมัน

 

ในการจัดเก็บภาษีคาร์บอนนั้น ปัจจุบันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ระหว่างการร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... ซึ่งจะมีกลไกภาคบังคับและกำหนดนิยามของภาษีคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในขณะที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังไม่ถูกใช้บังคับแต่ประเทศไทยจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศและเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้กรมสรรพสามิตจำเป็นต้องดำเนินการสร้างกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ประเทศไทยยังไม่มีกลไกราคาคาร์บอน เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... ยังไม่มีผลบังคับใช้

         

กรมสรรพสามิตได้ริเริ่มใช้กลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing Mechanism) ที่เป็นการนำปัจจัยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factor) ของผลิตภัณฑ์น้ำมันแต่ละชนิดมาคำนวณกับราคาคาร์บอน ซึ่งเป็นการกำหนดราคาคาร์บอนจากภาครัฐ มาเป็นส่วนหนึ่งในอัตราภาษีสรรพสามิตในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการในการคำนึงต้นทุนที่เกิดจากการก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม (Polluter Pays Principle)

 

การที่ประเทศไทยเริ่มมีกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับ จะทำให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการตระหนักและรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง ตลอดจนการเลือกที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคพลังงานเชื้อเพลิง เลือกใช้พลังงานเชื้อเพลิง หรือเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ รวมถึงยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการการปรับราคาคาร์บอนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ที่กำลังจะเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกด้วย

 

โดยประเทศที่มีมาตรการ CBAM นี้จะกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าจะต้องจ่ายมูลค่าส่วนต่างราคาคาร์บอน (ซึ่งเป็นมูลค่าราคาคาร์บอนในประเทศที่จะนำเข้าเทียบกับมูลค่าราคาคาร์บอนในประเทศต้นทาง) เพื่อให้เกิดการดูแลสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทัดเทียมกัน การมีกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับนี้จึงทำให้รัฐบาลสามารถเจรจาการค้าระหว่างประเทศภายใต้กฎกติกาใหม่ที่ให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากร อย่างมีประสิทธิภาพและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

 

ผู้เสียภาษีมี 2 กลุ่ม

1.กลุ่มผู้เสียภาษีคาร์บอนต้นน้ำ ได้แก่ ผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล (Producer) ผู้จัดจำหน่ายเชื้อเพลิงฟอสซิล (Distributor) และผู้นำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล (Importer) 

2.ผู้เสียภาษีคาร์บอนปลายน้ำ คือ ผู้ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (User) 

*แต่ส่วนใหญ่ภาษีชนิดนี้จะเก็บกับกลุ่มผู้เสียต้นน้ำมากกว่าผู้เสียปลายน้ำ

 

“ภาษีคาร์บอน” เพราะการปล่อยมลพิษมี “ราคา” ที่ต้องจ่าย

 

ขอบคุณข้อมูลจากกรมสรรพสามิต