ผ่านมา 1 เดือน 'สงครามโคลน' เชียงรายยังจัดการไม่ได้ โคลนในท่อปัญหาหนักสุด!
ผ่านมาแล้ว 1 เดือน วิกฤตน้ำป่าไหลหลากในอ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งพัดเอาดินโคลนถล่มพื้นที่ยังไม่คลี่คลาย โดยปริมาณโคลนยังเหลือเกือบ 2 ใน 3 ของปริมาณโคลนทั้งหมด โดยเฉพาะโคลนในท่อยังไม่มีวิธีจัดการ ส่วนโคลนที่กลายเป็นฝุ่นกระทบต่อสุขภาพประชาชนแล้ว
วิกฤติน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมสูง ดินโคลนถล่มในพื้นที่จังหวัดเชียงรายแม้จะเบาบางลงแล้ว มีหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น อาสาสมัคร องค์กรมูลนิธิต่างๆ ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์เทศบาลบาลตำบลแม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย คาดการณ์ว่าจะสามารถเคลียร์พื้นที่ให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติประมาณ 6 เดือน จากการประชุมหารือเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มูลนิธิกระจกเงา ศาสตราจารย์สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ สมาคม Start Up
สมบัติ บุญงามอนงค์ มูลนิธิกระจกเงา กล่าวถึงปัญหาของโคลน ที่ยังเป็นเรื่องใหญ่และเร่งด่วนต่อการดำเนินชีวิตของพี่น้องประชาชน ปริมาณโคลนจากการคำนวณของผู้เชี่ยวชาญมีประมาณ 190,000 คิว เอาออกได้แล้ว 70,000 คิว ยังเหลืออีก 120,000 คิว ที่เหนือกว่ากำลังแรงงานของคนในการเคลียร์ออก
โคลน มี 4 ประเภท
- โคลนบนดิน ชำระล้างได้แต่ปัญหาคือซอยเล็กซอยน้อย รถใหญ่ เครื่องจักรเข้าไม่ถึง เป็นปัญหาหนักระดับที่แรงงานของคนทำไม่ไหว
- โคลนในบ้าน ต้องระดมกำลังจิตอาสาเข้ามาช่วยทำความสะอาด และต้องคิดถึงการชำระล้างว่าโคลนไปไหน ลงสู่แหล่งน้ำ ท่อระบายน้ำหรือ หากปริมาณมากเป็นก้อนขนาดใหญ่ต้องใช้เครื่องจัก รถอะไรขนย้าย เพื่อให้ประชาชนเข้าบ้านได้เร็วที่สุด ใช้ชีวิต ปกติ ทำกินได้
- โคลนในอากาศ ที่แปลงสภาพกลายเป็นฝุ่น ยังไม่มีเจ้าภาพจัดการ เรื่องนี้สำคัญต่อคุณภาพชีวิต และสุขภาพของประชาชน
- โคลนในท่อ ตอนนี้ยังไม่มีวิธีการจัดการ ยังจัดการไม่ได้ มีข้อเสนอถึงขั้น ให้ทุบท่อทิ้งแล้วสร้างใหม่ เนื่องจากโคลนที่อยู่ในท่อเป็นดินเหนียวและเครื่องมือเข้าไม่ถึง
ปัญหาโดยสรุปคือ โคลนในท่อเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องหานวัตกรรมเข้ามาจัดการก่อน เนื่องจากกระทบต่อสาธารณูปโภคต่างๆ หากจะใช้น้ำแรงดันสูงดันออก น้ำก็จะไม่มีที่ไปท่วมบ้านเรือประชาชนอีกเกิดปัญหาซ้ำซ้อนในมิติอื่น
ด้าน ศาสตราจารย์สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ วิศวกรอาชีพ นักธรณีวิทยาอาชีพ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณวิศวกรรมศาสตร์ ได้นำเสนอแนวทางการจัด 2 แนวทาง
แนวทางที่ 1 คือ การใช้ถุงอุตสาหกรรม กรองโคลนแยกน้ำและกากก่อน รอให้โคลนแห้งกลายเป็นดินแล้วค่อยเคลื่อนย้ายไปทั้งถุงเพื่อลดปัญหาเรื่องฝุ่น แนวทางนี้สามารถใช้ได้เลยกับโคลนทั้ง 4 ประเภท เพื่อลดผลกระทบด้านอื่นๆ
แนวทางที่ 2 คือ การมุ่งเป้าไปที่โคลนในท่อ ที่ต้องอาศัยสว่านที่เดินเองได้ คล้ายวิธีการทำสายไฟฟ้าใต้ดิน โดยมีสายน้ำฉีดตามให้คลายความแข็งและเอาออกมา วิธีนี้ยังไม่แน่นอนว่าจะได้ผล เครื่องมือจะพร้อมในสัปดาห์และทดลองกันในหน้างาน
เตชิต ชาวบางพรหม ผู้แทน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เสนอว่าต้องทดลองทั้ง 2 แนวทางดังกล่าว ถ้าทำได้ ก็ต้องรีบดำเนินการจัดทำข้อเสนอต่อท้องถิ่น จังหวัด รัฐบาล ส่วนงานอาสาสมัครอื่นๆ ต่อไปถ้าทำไม่ได้ต้องจัดกระบวนการค้นหาวิธีการต่อไป โดยเรื่อง ฝุ่นโคลน ทาง สช. มีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงราย จะช่วยประสานและนำเรื่องนี้หารือเพื่อออกแบบแนวทางการทำงาน และสร้างการมีส่วนร่วมต่อไป เนื่องจากเรื่องนี้สำคัญและเป็นปัญหากระทบต่อสุขภาพของประชาชน
โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ประสานสมาคม Start Up ประเทศไทย เพื่อระดมความคิดและออกแบบนวัตกรรมในการช่วยพื้นที่ประสบภัย มีข้อเสนอเรื่องการดักหน้าภัยพิบัติ อย่ารอให้เกิด แล้วตามช่วยเหลือ แต่ควรเตือนก่อนเกิดภัยพิบัติ เสนอให้มีการพัฒนาหน่วยดักหน้าทุกกรณีภัยพิบัติเพื่อออกแบบการทำงานต่อไป
ทั้งนี้ ดินโคลนที่มากับน้ำท่วม ปัจจัยหนึ่งจากการปลูกข้าวโพดตามแนวเขาทั้งฝั่งไทยและพม่า ทำให้ไม่มีต้นไม้ใหญ่มาคลุมหน้าดิน เมื่อเกิดฝนตกหนักหรือน้ำป่าไหลหลากดินที่ค้างอยู่ตามแนวช่องเขาก็ไหลติดมาด้วย ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต โดยกระแสข่าวเบื้องต้นคาดว่าจะมีการสร้างเขื่อนหรือพนังกั้นให้โคลนไหลไปทางทิศอื่น เบี่ยงทิศทางของโคลนไม่ให้ทะลักเข้ามาในเมือง รวมไปถึงการพูดคุยกับทางการเมียนมาในเขตพื้นที่ชายแดน เกี่ยวกับการลอกท่อ และวางแผนหารือรับมือกับเหตุการณ์น้ำท่วมในอนาคต