posttoday

ข้อได้เปรียบไทย-ประเทศคู่แข่ง เมื่อรัฐอยากดึงเงินลงทุนจากเศรษฐกิจใหม่

11 ตุลาคม 2567

คุยกับ ESR บริษัทด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ระดับโลก ในวันที่ตัดสินใจลงทุนในไทยกับสินทรัพย์ใน 4 โครงการใหญ่ๆ ซึ่งตั้งอยู่ในจุดโลจิสติกส์สำคัญ บริษัทระดับโลกมองเห็นศักยภาพอะไรของไทย พร้อมชี้ค่าไฟ เสถียรภาพรัฐบาล และค่าแรง เป็นอุปสรรคสำคัญ!

แต่ละก้าวของรัฐบาลชุดใหม่ ประชาชนคนไทยคงได้สังเกตเห็นถึงความพยายามที่จะดึงดูดการลงทุนจากธุรกิจที่ถือว่าเป็น New Economy ได้แก่ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งคำนึงถึงความยั่งยืนทั้งทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นที่ตั้ง  โดยหวังจะทำให้เกิดการตั้งฐานการผลิต หรือแม้แต่ Data Center ในไทย เพื่อเสริมแกร่งด้านเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนคนไทย รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของแรงงานไทยให้มีความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้น

 

การที่ธุรกิจระดับโลกจะเข้ามาตั้งฐานการผลิตที่ไทยได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย

 

จะหาพื้นที่ตรงไหน โรงงานแบบใด ที่จะเหมาะสมกับความต้องการของธุรกิจเหล่านี้ ล้วนมีรายละเอียดและดีเทลที่แตกต่างกันออกไป  โพสต์ทูเดย์ พูดคุยกับ คุณสยาม ทองกระบิล ผู้บริหารสูงสุดประเทศไทย ของ อีเอสอาร์ กรุ๊ป ในฐานะบริษัทด้านการพัฒนาและบริหารอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ระดับโลก และใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิกในแง่ทรัพย์ในการบริหารจัดการกว่า 154,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ในฮ่องกง ที่คุ้นเคยกับการบริหารอสังหาริมทรัพย์ที่ตอบโจทย์ธุรกิจ New Economy มายาวนาน ในวันที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย  อีเอสอาร์มองศักยภาพของประเทศไทยอย่างไร?

 

สยาม ทองกระบิล ผู้บริหารสูงสุดประเทศไทย ของ อีเอสอาร์ กรุ๊ป

 

 

  • ไทยยังคงเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คุณสยาม ทองกระบิล กล่าวว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถ้าไทยต้องแข่งกับใครก็จะมองไปที่ประเทศอินโดนิเซียและเวียดนาม สำหรับประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบของตัวเองคือในแง่ที่ตั้ง ที่ยังคงเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่อโลจิสติกส์ได้ดีกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค อันดับต่อมาคือในประเด็นของแรงงานในขั้นฝีมือก็ยังมีมาก หรือในธุรกิจ New Economy ที่ต้องการแรงงานระดับวิศวกรก็ยังมีอยู่ค่อนข้างเยอะ

 

ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคอย่างบริษัทอินเทลซึ่งตัดสินใจย้ายโรงงานออกจากประเทศเวียดนามหลังอยู่มาได้กว่า 10 ปี ก็เนื่องมาจากไม่สามารถหาแรงงานที่เป็นวิศวกรขั้น Mid-Leve Engineer ได้ จะต้องมีการลงทุนสร้างสถาบันทางการศึกษาเพื่อไปสอนซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง!

 

“อาจจะมีข้อกังวลในเรื่องของสกิลแรงงาน แต่ผมมองว่ารัฐบาลหรือแม้กระทั่งมหาวิทยาลัยเองในทุกวันนี้มีการปรับให้เข้ากับเทรนด์ในปัจจุบัน คอร์สสอนทุกวันนี้ก็ไม่เหมือนกับที่เราเรียนมา ผมว่ามันจะค่อยๆ ปรับตัวครับ”

 

อย่างไรก็ตามคุณสยามมองว่าเวียดนามจะมีข้อได้เปรียบกว่าไทยคือค่าแรงถูก และการตัดสินใจรวมไปถึงการขออนุญาตต่างๆ มีขั้นตอนที่ซับซ้อนน้อยกว่า และมีความรวดเร็ว

 

ส่วนในประเทศอินโดนิเซีย ข้อดีของอินโดนิเซียคือเป็นเบอร์หนึ่งในแง่ของขนาดเศรษฐกิจ  ที่มีจีดีพีทางเศรษฐกิจโตที่สุด มีแรงงานเยอะที่สุด และประชากรที่ยังอยู่ในวัยแรงงานยังใหญ่ที่สุด ในขณะที่ประเทศไทย ประชากรที่เยอะที่สุดกลับเป็นประชากรในวัย 45-60 ปี ซึ่งมีอยู่ราว 14 ล้านคน อีก 5-10 ปีก็อาจไม่สามารถทำงานได้แล้ว

 

“ นอกจากนี้ต้องยอมรับว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนิเซียมีความมุ่งมั่นมากที่จะดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ มีความกระตือรือร้นที่จะพูดคุยหารืออยู่ตลอดเวลา ใครอยากทำอะไรที่อินโดหากสำคัญจริง ขออะไรได้หมด”

 

สำหรับการสนับสนุนของรัฐบาลในต่างประเทศเพื่อที่จะดึงดูดนักลงทุนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ คุณสยามเล่าว่ารัฐบาลญี่ปุ่นต้องการจะให้อินเทลมาลงทุนในประเทศ จึงเสนอที่จะสมทบ 1 ดอลลาร์ ทุกการลงทุน 1 ดอลลาร์ของอินเทล หมายความว่า หากโรงงานอินเทลมีมูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์ รัฐบาลจะจ่ายให้ 2,500 ล้านดอลลาร์ให้กับอินเทล!

 

อย่างไรก็ตาม คุณสยามกล่าวว่าทางรัฐบาลไทยเองก็มีโครงการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างใน BOI  (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) หรือ EEC ซึ่งเป็นมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่สำคัญของไทย

 

“ แต่ต้องเรียนว่าบางครั้งลูกค้าไม่รู้จัก สมมติจะไปนั่งศึกษาก็ไม่ทำ ซึ่งเราก็จะทำหน้าที่เป็นเชียร์ลีดเดอร์ชั้นดีให้แก่เมืองไทย ซึ่งต้องบอกว่านโยบายส่งเสริมการลงทุนของเรานั้นแข่งกับที่อื่นได้”

 

ข้อได้เปรียบไทย-ประเทศคู่แข่ง เมื่อรัฐอยากดึงเงินลงทุนจากเศรษฐกิจใหม่

 

  • จุดอ่อนของไทย หากขึ้นแรงงาน และค่าไฟ

“ จุดอ่อนตอนนี้ที่น่าจะเริ่มมีปัญหาคือค่าแรงที่อาจจะไม่ได้ถูกแล้ว สองคือ เราเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย มันอาจจะมีความไม่ชัดเจนเรื่องนโยบายอยู่ระดับหนึ่ง”

 

ส่วนในธุรกิจ New Economy คุณสยามให้ความเห็นว่า หากตามข่าวจะพบว่ารัฐบาลไทยได้พูดถึงตรงนี้เยอะและมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะดึงดูดกลุ่มธุรกิจ New Economy เพียงแต่ว่ายังมีหลายอย่างที่ต้องทำ

 

“ อย่างค่าไฟบ้านเรา จะตั้ง Data Center ใช่มั้ยค่าไฟบ้านเราก็แพง ยกตัวอย่างสิงคโปร์ ที่เป็นตลาด Data Center เยอะที่สุด แต่วันนี้คนย้ายออกจากสิงคโปร์เพราะค่าไฟแพงมาก

การเข้ามาของ อีเอสอาร์ ก็เพราะ อีเอสอาร์เห็นทิศทางที่ประเทศไทยพยายามจะดึงดูดการลงทุนจาก New Economy เช่นกัน เราจึงมาจ่อรออยู่ ถ้าวันหนึ่งมีใครเดินเข้ามาและต้องการโรงงานที่เป็นดาร์กแวร์เฮาส์ เรามีประสบการณ์ในหลายประเทศในด้านเทคโนโลยีโรโบติก หรือ ออโตเมชัน ซึ่งเรามีความเชี่ยวชาญด้านนี้ เราก็หวังว่าประเทศไทยจะเดินไปในทิศทาง New Economy ดังกล่าว”

 

และถ้าหากถามว่าการรอนั้นนานหรือไม่ คุณสยามกล่าวว่าจากที่คาดการณ์ในวงการและเห็นวิวัฒนาการคิดว่าภายในระยะเวลา 4-5 ปีข้างหน้าจะเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด!

 

  • มั่นใจ เปิด 4 โครงการใหญ่รองรับการลงทุนในไทย

เมื่อเล็งเห็นทิศทางที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย อีเอสอาร์ จึงเข้ามาขยายธุรกิจในประเทศไทยอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2022

สำหรับอีเอสอาร์ เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง โดยก่อนหน้านี้อีเอสอาร์ ได้ขยายการลงทุนครอบคลุมพื้นที่เฉพาะในเอเชียแปซิฟิกไปกว่า 50 ล้านตารางเมตรในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง ออสเตรเลีย อินเดีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนิเซีย และประเทศไทย

 

โครงการที่ประเทศญี่ปุ่น

 

โดยตั้งเป้าจะขยายพื้นที่ที่จะเป็นโซลูชันด้านโครงสร้างพื้นฐานให้แก่อุตสาหกรรมใหญ่ๆ โดยเฉพาะอุตสหากรรมด้าน New Economy ที่สอดรับกับเทคโนโลยีการผลิต (Smart Manufacturing)  และมีพันธกิจด้านความยั่งยืน และ ESG  โดยประเทศไทยตั้งเป้าไว้ที่ 2 ล้านตารางเมตร ปัจจุบันประกอบด้วย 4 โครงการสำคัญ ได้แก่

 

โครงการที่แหลมฉบัง

 

  1. อีเอสอาร์ เอเซีย สุวรรณภูมิ  โครงการโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่บนพื้นที่กว่า 363,403 ตารางเมตร พร้อมรองรับการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว ด้วยทำเลที่ตั้ง ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ทางหลวงสายหลัก และ EEC
  2. อีเอสอาร์ เอเซีย แหลมฉบัง ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง ภายในพื้นที่ EEC เชื่อมต่อคมนาคมสะดวกสู่มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 และท่าเรือแหลมฉบัง อีเอสอาร์ได้ลงทุน เพื่อพัฒนาโครงการบนพื้นที่กว่า 345,468 ตารางเมตร แบ่งเป็น 2 เฟส
  3. อีเอสอาร์ เอเซีย บ่อวิน  อีเอสอาร์ ลงทุนพัฒนาโครงการ "อีเอสอาร์ เอเซีย บ่อวิน" บนพื้นที่ 87,012 ตารางเมตร ในสวนอุตสหกรรมโรจนะบ่อวิน เชื่อมต่อคมนาคมสะดวกสู่ทางหลวงหมายเลข 331, มอเตอร์เวย์หมายเลข 7 และท่าเรือหลักของประเทศไทยทั้งแหลมฉบังและมาบตาพุด ด้วยทำเลที่ตั้งที่รายล้อมด้วยนิคมอุตสาหกรรม
  4. อีเอสอาร์ เอเซีย วังน้อย อีเอสอาร์ ลงทุนพัฒนาโครงการ "อีเอสอาร์ เอเซีย วังน้อย" บนพื้นที่ 355,570 ตารางเมตร ด้วยทำเลที่ตั้งบนทางหลวงหมายเลข 1 เชื่อมต่อกับภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ห่างจากกรุงเทพฯ  60 กิโลเมตร โดยอีเอสอาร์วางแผนที่จะพัฒนาโครงการนี้ให้เป็นศูนย์โลจิสติกส์และศูนย์กระจายสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) และอีคอมเมิร์ซ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะเล็งเห็นว่าจะช่วยให้ธุรกิจของลูกค้าสามารถลดต้นทุนในการขนส่ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

โครงการที่แหลมฉบัง

 

“ ขณะนี้ อีเอสอาร์ เอเชีย แหลมฉบัง ได้รับความไว้วางใจจากผู้เช่าที่เป็นองค์กรธุรกิจระดับโลก ได้แก่ แอดวานซ์ เอ็นเนอร์จี บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แนสแดค ผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยีพลังงาน ร่วมลงทุนกับอีเอสอาร์ก่อสร้างโรงงานผลิตอันทันสมัยขนาด 47,000 ตารางเมตร โรงงานแห่งนี้จะผลิตโซลูชันการควบคุมพลังงานที่มีความแม่นยำสูง และคาดว่าจะสร้างงานให้กับชุมชนกว่า 2,500 ตำแหน่ง เมื่อเปิดดำเนินการเต็มรูปแบบ

และ ฮาร์แมน อินเตอร์เนชันแนล ผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องเสียงชั้นนำของโลก โดยใช้โรงงานแบบ built-to-suit ขนาดประมาณ 47,000 ตารางเมตร ที่ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการในการผลิตสินค้าเฉพาะของ ฮาร์แมนฯ โดยตรง ประกอบไปด้วยสายการผลิตอันทันสมัย สำนักงาน และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน โดยมีกำหนดการแล้วเสร็จในปี 2568 และคาดว่าจะเกิดการจ้างงานประมาณ 1,200 ตำแหน่ง ผู้บริหารสูงสุดประเทศไทย ของ อีเอสอาร์ กรุ๊ป เผย

 

 

  • ESG ไม่ใช่ Option แต่คือสิ่งที่ต้องทำ!

การเตรียมพร้อมที่จะเป็นพื้นที่ให้แก่นักลงทุนธุรกิจ New Economy ไม่ได้มีเพียงแต่ความล้ำหน้าในด้านเทคโนโลยีที่จะต้องรองรับได้ในทุกความต้องการเท่านั้น คุณสยามมองว่าการดำเนินการด้าน ESG ยังเป็นจุดสำคัญที่หากไม่ทำก็คงตกขบวนและควรเป็นพื้นฐานทุกธุรกิจในประเทศไทย

 

“ เมื่อก่อนเราอาจจะทำ ESG เป็น Option แต่ปัจจุบัน ESG ไม่ใช่ Option แล้วเพราะในอนาคตในปี 2030 ถ้าของไม่ได้มาตรฐาน Sustainability ก็จะส่งไปขายที่ยุโรปไม่ได้ และมันก็จะเป็นมาตรฐานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ”

 

คุณสยามเล่าให้ฟังถึงโครงการหนึ่งของอีเอสอาร์ที่กำลังก่อสร้างในประเทศไทยว่าเมื่อต้องสร้างโรงงานให้กับประเทศเยอรมัน ที่มีความต้องการด้าน Sustainability เยอะมากและต้องส่งของกลับไปขายที่เยอรมัน จึงต้อง Certified ตึกนี้เป็น LEED (Leadership in Energy and Environmental Design)  ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นราว 25-30% แต่บริษัทก็ต้องทำ

หรือโครงการอื่นๆ ของอีเอสอาร์ในประเทศอื่นๆ ก็มีการนำนโยบาย ESG ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมทั้งเรื่องสังคม และการกำกับดูแลกิจการ อย่างบริษัทหนึ่งในญี่ปุ่นที่ต้องการจะให้อีเอสอาร์สร้างเดย์แคร์ไว้ในศูนย์  การทำโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งสามารถให้ไฟที่สามารถใช้งานได้เกือบทั้งจังหวัด หรือแม้แต่การทำกรีนโลน ฯลฯ เพื่อที่จะสร้างวงจรของ ESG ให้แก่บริษัทที่ต้องดำเนินนโยบายดังกล่าวให้มากที่สุด

 

คุณสมชายยังเปิดเผยอีกว่า ในอนาคตอันใกล้ อีเอสอาร์ มีเป้าหมายขยายพื้นที่พัฒนาให้ถึงสองล้านตารางเมตรภายในห้าปี คิดเป็นเม็ดเงินการลงทุน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทำให้อีเอสอาร์มีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศไทยประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการเข้ามาของอีเอสอาร์อยากให้มองว่าเป็นการสร้างให้ตลาดตลาดมีทางเลือก เกิดการแข่งขันและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โลจิสติกส์และอุตสาหกรรมในประเทศไทย เพื่อรองรับการเติบโตของประเทศในอนาคตอันใกล้.