posttoday

สทร.ปั้นเด็กไทยพลิกโฉมรถไฟอนาคต ดันไทยเป็น"ฮับ"อุตสาหกรรมระบบรางอาเซียน

25 ตุลาคม 2567

สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) จัดประกวดไอเดีย “รถไฟในฝัน” ระดับเยาวชน ชูเทคโนโลยีระบบราง สร้างอุตสาหกรรมใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พร้อมเร่งจัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบราง

สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ภายใต้กระทรวงคมนาคม แถลงเปิดตัวโครงการ “คิดใหญ่ไปให้สุดราง” (Think Beyond Track) เป็นการประกวดความคิดสร้างสรรค์ระดับเยาวชนในหัวข้อ “รถไฟในฝัน” พร้อมเปิดวิสัยทัศน์และพันธกิจของ สทร. ในการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ
 

โดยภารกิจหลักของ สทร. คือการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การสร้างมาตรฐานระบบรางและระบบการทดสอบด้านระบบราง การร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศในการรับ แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบราง รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง และการจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบราง 

“ภารกิจหลักของ สทร. คือ การพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เพื่อสร้างอุตสาหกรรมระบบรางของไทย เราคาดหวังว่าอุตสาหกรรมนี้จะเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ และสามารถยกระดับขีดความสามารถของไทยให้เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมระบบรางในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อป้อนสู่อุตสาหกรรมระบบราง จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องรีบดำเนินการ โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักในกลุ่มเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังหลักของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต เราจึงริเริ่มจัดโครงการประกวดความคิดสร้างสรรค์การพัฒนาระบบราง และหวังว่ากิจกรรมนำร่องครั้งนี้จะสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบราง และมองเห็นโอกาสด้านอาชีพในอุตสาหกรรมใหม่นี้” ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการ สทร.กล่าว

ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการ สทร.

ก่อนหน้านี้ สทร. สร้างความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำระดับโลกเพื่อพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบราง ควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรผ่านการฝึกอบรม และการส่งเสริมหลักสูตรด้านการศึกษาเกี่ยวกับระบบราง เพื่อสร้างอุตสาหกรรมระบบรางซึ่งใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาโดยคนไทยและใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ 
 

นอกจากนี้ยังมีการประเมินศักยภาพของผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยในเบื้องต้นว่า จะสามารถเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมระบบรางตามมาตรฐานระดับโลกได้หรือไม่

ดร.จุลเทพ ยังกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับบทบาทของ สทร.ว่า  สทร. เป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กระทรวงคมนาคม ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) พ.ศ.2564 เพื่อบูรณาการความเชี่ยวชาญและทรัพยากรจากทุกภาคส่วน ในการยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและสร้างอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ โดยมีภารกิจหลักที่สำคัญคือ การสร้างยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบราง เพื่อสนับสนุนนโยบายและยุทธศาสตร์ระดับชาติและระดับกระทรวง  

สทร.ปั้นเด็กไทยพลิกโฉมรถไฟอนาคต ดันไทยเป็น\"ฮับ\"อุตสาหกรรมระบบรางอาเซียน

นายสิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สทร.ต้องการให้คนรุ่นใหม่มาขับเคลื่อนการเดินทางผ่านระบบรางซึ่งการตัดสิน จะให้คะแนนใน 3 ส่วนคือ 1.ความคิดสร้างสรรค์เปิดโลกทัศน์ 2.ผลงานเอาไปใช้ได้แค่ไหน และ 3.ความสามารถในการสื่อสาร ทั้งนี้หากมีเยาวชนที่สนใจเข้าร่วมมากกว่า 200 คนก็จะถือว่าประสบผลสำเร็จ

สำหรับการบูรณาการทิศทางและความร่วมมือของ 3 ภาคส่วน ประกอบด้วย 

- ผู้กำหนดนโยบาย  

- ผู้เดินรถและอุตสาหกรรม 

- นักวิจัย/นักวิชาการ 

ครอบคลุมทั้งบริบทด้านเทคโนโลยีระบบราง บริบทด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดลำดับความสำคัญอย่างชัดเจนและเป็นระบบ  พร้อมกำหนด Roadmap ตัวชี้วัด มาตรการ กลไก และผู้เล่นสำคัญในระบบนิเวศการสร้างอุตสาหกรรมระบบราง