TPIPP หนุนไทยคัดแยกขยะ ช่วยขยายเมืองอัจฉริยะ
TPIPP หนุนไทยคัดแยกขยะ ช่วยขยาย Smart City มากขึ้น ชี้กำจัดขยะไม่ได้ช่วยแค่เรื่อง Smart Energy เป็นพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น แต่ยังช่วยเรื่อง Smart Environment
นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จํากัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยในงานสัมมนา “THAILAND SMART CITY 2025” ภายใต้หัวข้อ “Alternative Fuel: The Next Generation for Sustainability” ซึ่งจัดโดยสำนักข่าวโพสต์ทูเดย์ สปริงนิวส์ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ว่า ในปี 2009 บริษัทมีโรงไฟฟ้า กำลังผลิตรวม 60 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งทั้งหมด
จากนั้นในปี 2022 เพิ่มกำลังผลิตรวมเป็น 440 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง 40 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 220 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 180 เมกะวัตต์
ส่วนในปี 2024 เพิ่มกำลังผลิตรวมเป็น 477 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง 40 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน 150 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 250 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้า Solar Farm 37 เมกะวัตต์
ขณะที่ในปี 2026 เพิ่มกำลังผลิตรวมเป็น 540 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง 40 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน เหลือ 0 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 420 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้า Solar Farm 79 เมกะวัตต์
โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้า Solar Farm 61.80 เมกะวัตต์ ทยอย COD ตั้งแต่เดือน ก.ค.2024 จนถึงเดือน พ.ค.2025 และโรงไฟฟ้า Solar Roof Top 5.10 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ บริษัทมีการเปลี่ยนโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นโรงไฟฟ้าขยะ แบ่งเป็น 6 เฟส โดยเฟส 1-3 เสร็จแล้ว 40% ตั้งแต่เดือน ก.พ.2023 เฟส 4 พ.ย.2024 อีก 20% เฟส 5 ม.ค.2025 อีก 20% และเฟส 6 เม.ย.2025 อีก 20% หลังจากเสร็จ 6 เฟส จะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานขยะทั้งหมด จากในปี 2020 มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 220 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 50% ปี 2024 จะเหลือโรงไฟฟ้าถ่านหิน 150 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 30% และปี 2026 จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 0 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 0%
สำหรับเส้นทางสู่ Net Zero บริษัทตั้งเป้าหมายในปี 2026 ใช้ขยะผลิตเป็นพลังงาน 17,000 ตัน/วัน หรือ 5.2 ล้านตัน/ปี สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 12 ล้านตัน CO2e จากปี 2020 ใช้ขยะผลิตเป็นพลังงาน 8,500 ตัน/วัน หรือ 2.5 ล้านตัน/ปี สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 5.8 ล้านตัน CO2e
“การกำจัดขยะไม่ใช่แค่ช่วยเรื่องของ Smart Energy เป็นพลังงานหมุนเวียนเท่านั้น แต่ยังช่วยเรื่อง Smart Environment ทำให้ประเทศชาติ และ Smart City สะอาดขึ้นด้วย” นายภัคพล กล่าว
นายภัคพล กล่าวทิ้งท้ายว่า ขยะในไทย มีค่าพลังงานต่ำร้อนอยู่ที่ 900 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม ต่ำกว่าขยะในญี่ปุ่น ที่มีการคัดแยกขยะทุกประเภท มีค่าพลังงานต่ำร้อนอยู่ที่ 4,000 กิโลแคลอรี/กิโลกรัม ดังนั้นหากประเทศไทยช่วยกันคัดแยกขยะ จะช่วยทำให้สามารถสร้าง Smart City ได้มากขึ้น