เชฟรอนชี้ ก๊าซยังคงเป็นพลังงานหลัก มั่นใจใช้นวัตกรรมปล่อยคาร์บอนต่ำได้
เชฟรอนมั่นใจ ก๊าซยังคงมีความต้องการใช้งานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างพลังงานของประเทศไทย โจทย์สำคัญต่อไปคือการใช้นวัตกรรมปล่อยคาร์บอนให้ต่ำอย่างไร โดยตั้งเป้าที่ปี 2028 ลดได้ 40%
เมื่อวานนี้ (12 พฤศจิกายน 2567) นายปัณวรรฑน์ นิลกิจศรานนท์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายวิศวกรรมโครงสร้าง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวในงาน Thailand Smart City 2025 ในหัวข้อ Decarbonization How Do We Make It Happen? จัดขึ้นโดย โพสต์ทูเดย์ ถึงประเด็นที่หลายคนสงสัยว่า บริษัทพลังงานที่ถือว่าเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนอันดับต้น จะสามารถลดการใช้คาร์บอนลงได้อย่างไร และทิศทางของบริษัทพลังงานจะเป็นอย่างไรในอนาคตในวันที่ทุกคนรณรงค์การใช้พลังงานสะอาด
- ก๊าซยังเป็นพลังงานหลักและมีแนวโน้มการใช้งานมากขึ้น
นายปัณวรรฑน์ นิลกิจศรานนท์ กล่าวว่า ‘เชฟรอน’ อยู่มา 60 ปี เป็นบริษัทผู้บุกเบิกในการผลิตก๊าซของประเทศไทย ปัจจุบันมี 3 แหล่งผลิตใหญ่ในอ่าวไทย มีแท่นการผลิต 107 แท่น กำลังการผลิต 500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งก๊าซที่ผลิตจะส่งไปยังโรงงานเพื่อผลิตไฟฟ้าเป็นสำคัญ ถือเป็นผลิตภัณฑ์ต้นน้ำในการผลิตพลังงานของประเทศไทย
สำหรับการผลิตเชื้อเพลิง มี 3 มิติ ที่ต้องพิจารณา ได้แก่
- ความมั่นคงทางพลังงาน คือ ปริมาณการผลิตที่ต้องตอบโจทย์ความต้องการด้านพลังงานของประเทศ
- ราคาที่เหมาะสมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้
- ความสะอาด หรือการลดการปล่อยคาร์บอน
"สามอย่างนี้ต้องสมดุลกันและมาพร้อมกัน หากเราโฟกัสเรื่องใดเรื่องหนึ่งเช่น โฟกัสที่ความมั่นคงทางพลังงาน ผลิตมากขึ้น หรือการโฟกัสที่ความสะอาด ราคาก็จะสูง แต่ถ้าดูราคาอย่างเดียวก็จะใช้ถ่านหินซึ่งถูกแต่ปล่อย คาร์บอนจำนวนมหาศาล
ทั้งสามอย่างไม่สามารถมาพร้อมกันได้ สิ่งที่ต้องทำคือใช้เทคโนโลยีทำให้ 3 กลุ่มเข้าใกล้กันมากขึ้น" นายปัณวรรฑน์กล่าว
นอกจากนี้ เมื่อประเทศไทยกำลังพาตนเองไปสู่เป้าหมาย NetZero มองว่า ‘ก๊าซ’ เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ เนื่องจากเมื่อเทียบกันต่อ 1 หน่วยพลังงาน ก๊าซจะปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับถ่านหิน และปล่อยเพียง 30% ถ้าเทียบกับน้ำมัน ก๊าซจึงกลายเป็นคำตอบที่ดี
โดยทุกวันนี้โครงสร้างพลังงานของประเทศไทยมากกว่า 60% เป็นก๊าซ เนื่องจากปล่อยคาร์บอนต่ำ มีราคาที่เหมาะสมและมีกำลังการผลิตที่เพียงพอ
ทั้งนี้ มีการวิจัยที่ระบุว่าในปี 2040 ความต้องการของเชื้อเพลิงจากฟิสซิลจะมากกว่าปัจจุบัน
- ตั้งเป้าเป็นบริษัทพลังงานที่ปล่อย Co2 ให้ต่ำที่สุด เริ่มตั้งแต่นโยบาย-พนักงาน-เทคโนโลยี
นายปัณวรรฑน์กล่าวว่า เมื่อต้องใช้ก๊าซอยู่ โจทย์คือการทำอย่างไรให้มีการปล่อยคาร์บอนได้อย่างเหมาะสม โดยเชฟรอนมีการศึกษาวิจัยในประเด็นดังกล่าว เพื่อที่จะปล่อยคาร์บอนให้ต่ำที่สุดและตั้งเป้าว่าในปี 2028 จะลดการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 40% จากทุกวันนี้ที่ทำได้อยู่ที่ 15%
นอกจากนี้ยังมีการสร้างบริษัทใหม่ ซึ่งเป็นส่วนงานที่โฟกัสกลุ่มพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนระดับต่ำโดยเฉพาะ ซึ่งกำลังจะมีโครงการที่กำลังพัฒนาหลายโครงการที่พร้อมจะลงทุนในปีหน้า โดยเฉพาะในหมวดของพลังงานหมุนเวียน
สำหรับ เชฟรอนประเทศไทย ยังมองว่าการผลิตพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนในระดับต่ำนั้น ต้องครอบคลุมทั้งวงจร ตั้งแต่การดีไซน์ การก่อสร้าง การปฏิบัติงาน และการบำรุงรักษา ซึ่งหัวใจอยู่ที่ 2 ส่วนได้แก่ การพัฒนาคน และการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ
“สำหรับเรื่องคน เราต้องเปลี่ยนทัศนคติของพนักงานให้เน้นการผลิตพลังงานที่คาร์บอนต่ำที่สุด เราเปลี่ยนทัศนคติของพนักงานที่เคยคิดว่าการผลิตพลังงานคาร์บอนต่ำเป็นเรื่องของการคิดค้นโครงการขนาดใหญ่ เป็นเรื่องอนาคต หรือเป็นเรื่องของคนอื่น กลายมาเป็นเรื่องของทุกคนและเรื่องปัจจุบัน ซึ่งทำให้เชฟรอนได้ไอเดียต่างๆ ที่จะลดการใช้คาร์บอนมากมาย”
ส่วนเทคโนโลยี เชฟรอนใช้เวลาก่อนหน้านี้หลายปีในการทำ ‘คาร์บอนฟุตพริ้นท์’ เพื่อหาต้นตอของการปล่อย คาร์บอนว่าอยู่ในส่วนไหน จึงทำให้เกิดโครงการต่อมาเพื่อลดคาร์บอนในส่วนต่างๆ เช่น เรือติดเครื่องวัดและกำหนดเส้นทางให้ลดการใช้เชื้อเพลิงให้ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
“ เราใช้แท่นแบบนำมาใช้ซ้ำ ซึ่งปกติจะต้องมีการติดตั้งใหม่กลางทะเลทุกปี แต่ทุกวันนี้เรามีการใช้ซ้ำสิ่งเหล่านี้ ทำให้ลดคาร์บอนและลดต้นทุนการติดตั้งได้มากกว่า 30% และลดค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน
อีกโครงการหนึ่งซึ่งเป็นที่แรกๆ ของโลกซึ่งดำเนินงานแล้วในประเทศไทย คือ Integrated Operation Monitor ซึ่งสามารถติดต่อหรือควบคุมการทำงานของแท่นจากกรุงเทพฯ ได้ ลดการเดินทาง เสริมประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันกับออฟฟิศที่กรุงเทพฯ และมีการเก็บรวบรวมข้อมูลได้ง่าย“
นายปัณวรรฑน์กล่าวปิดท้ายว่า “เรามั่นใจว่าสามารถสร้างบริษัทพลังงานในอนาคตที่ปล่อยพลังงานในระดับต่ำได้อย่างแน่นอน“