posttoday

จับสาระ วิวาทะสำคัญ COP29 “ความพยายามดับไฟป่าด้วยน้ำเพียงไม่กี่แก้ว”

14 พฤศจิกายน 2567

สรุปสั้นๆ COP29 ครั้งนี้มีความตั้งใจให้เวทีบากู เป็นเวทีตรวจสอบความตกลงปารีส (Paris Agreement) คำมั่นพันธะจาก COP28 โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ “การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกันใหม่” เรียกสั้นๆ ว่า NCQG แต่จะทำได้แค่ไหน นั่นคือคำถามเดิมๆ ของชาวโลก!

KEY

POINTS

  • เป้าหมายทางการเงินใหม่ หรือ “NCQG” คือสาระสำคัญของการประชุม COP29 ที่บากูในครั้งนี้
  • ประเทศกำลังพัฒนาต้องใช้ทรัพยากรของตนเองเพิ่มขึ้นอีก 500,000 ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มากกว่าอย่างน้อย 5 เท่าจากเงินงบประมาณที่ให้เพียง 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี
  • การศึกษาบ่งชี้ว่าจำเป็นต้องมีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (ไม่รวมจีน) เป็นเม็ดเงินกว่า 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2030
  • UN ระบุกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องการเม็ดเงิน 187,000 - 359,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อการปรับตัวเข้ากับโลกใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ในปี 2022 กลุ่มประเทศเหล่านี้ได้รับเงินสนับสนุนส่วนนี้เพียง 28,000 ล้านดอลลาร์

"เงินสนับสนุนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันนั้นยังอยู่ห่างไกลจากที่ควรจะเป็น เมื่อพิจารณาว่าขนาดของความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญอยู่นั้นใหญ่แค่ไหน"

 

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) ครั้งที่ 29 หรือ การประชุม  ‘COP29’ ณ เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 11 – 22 พฤศจิกายน 2567

 

การประชุมครั้งนี้ มีรัฐบาลและผู้แทนกว่า 200 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม ยกเว้นผู้นำของประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดในโลกหลายประเทศไม่มาร่วมการประชุม เช่นนาย โจ ไบเดน นายเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส และนายนเรนทรา โมดี ของอินเดีย

 

บากูโฟกัสประเด็นหารือเกี่ยวกับการจัดทำ “เป้าหมายทางการเงินใหม่” (New Collective Quantified Goal on Climate Finance) หรือ “NCQG” ที่มุ่งจัดสรรงบใหม่ให้กับการจัดการปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศให้กับประเทศกำลังพัฒนา คำถามที่ทุกคนคิดถึงคือ ฝันไปหรือเปล่า หรือ จริงใจแค่ไหน?

 

จับสาระ วิวาทะสำคัญ COP29 “ความพยายามดับไฟป่าด้วยน้ำเพียงไม่กี่แก้ว”

 

ย้อนกลับไปในการประชุม COP ที่กรุงโคเปนเฮเกน เมื่อ 15 ปีที่แล้ว

มีการตกลงกันว่านับจากปี 2020 กลุ่มประเทศร่ำรวยจะมอบเงิน 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีในฐานะการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เงินจำนวนนี้จะถูกนำไปใช้สำหรับการเปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาดและการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน แต่ที่ผ่านมาการจัดสรรงบดังกล่าวกลับไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

 

และปีนี้การให้ประเทศที่มีรายได้จากส่งออกน้ำมันเป็นหลักอย่างอาเซอร์ไบจานเป็นประธานในการประชุม COP29 ก็น่าสนใจสำหรับชาวโลก

 

เพราะเมื่อเริ่มเปิดการประชุมก็คึกคักกันแล้วกับวาทะของนายอิลฮัม อาลิเยฟ ประธานาธิบดีอาเซอร์ไบจาน เจ้าภาพประชุม COP29 กล่าวกลางที่ประชุมชัดเจนว่า ก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน คือของขวัญจากพระเจ้า และประเทศต่างๆ ไม่ควรถูกกล่าวโทษที่มีมัน ก่อนกล่าวโทษสื่อข่าวปลอม องค์กรการกุศล และนักการเมืองของชาติตะวันตก ว่าพยายามแข่งกันแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับอาเซอร์ไบจาน และยืนยันว่า ส่วนแบ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอาเซอร์ไบจานอยู่ที่ 0.1% เท่านั้น

 

“น้ำมัน ก๊าซ ลม ดวงอาทิตย์ ทองคำ เงิน หรือ ทองแดง ทั้งหมดล้วนเป็นทรัพยากรธรรมชาติ และประเทศใดๆ ไม่ควรถูกกล่าวโทษที่มีมัน และไม่ควรถูกกล่าวโทษที่นำมันเข้าสู่ตลาด เพราะตลาดต้องการทรัพยากรเหล่านี้”

 

แต่อย่าลืมว่า ก่อนนี้อาเซอร์ไบจานมีชื่อเสียงในการแสดงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศักยภาพพลังงานหมุนเวียนซึ่งเป็นส่วนสำคัญของนโยบายประเทศ ด้วยการวางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2593 ตั้งใจจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2573 กระจายระบบพลังงานที่มีอยู่ไป และเป็นผู้นำด้านพลังงานสีเขียว!

 

ด้านนายอันโตนีโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ก็บอกกับที่ประชุมชัดๆ ว่า การยืนยันไม่ยอมรับเรื่องปัญหาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล และจำเป็นต้องมีการตั้งเป้าหมายทางการเงินใหม่ โดยที่ประเทศที่ร่ำรวยที่สุด จะต้องจ่ายเงินชดเชยมากที่สุด

 

จับสาระ วิวาทะสำคัญ COP29 “ความพยายามดับไฟป่าด้วยน้ำเพียงไม่กี่แก้ว”

 

นายจอห์น โปเดสตา ทูตของสหรัฐอเมริกา ยืนยันว่า ทีมของสหรัฐฯ จะสานต่อข้อตกลงที่ผ่านในการประชุม COP28 เมื่อปี 2566 เพื่อเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 3 เท่า ภายในปี 2573

 

วิสัยทัศน์หรือสารของประธานคนใหม่ COP29 นายมุกห์ตาร์ บาบาเยฟ (Mukhtar Babayev) มุ่งแสดงสาระสำคัญภายใต้ธีม ‘In Solidarity for a Green World’ หรือ ‘ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อโลกสีเขียว’ มุ่งเน้นย้ำ วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ และผลลัพธ์ของข้อตกลง การเริ่มต้นที่นำไปสู่จุดสิ้นสุดของการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลฉบับแรก (Global Stocktake: GST) การมีส่วนร่วมระดับโลก ระดับภูมิภาค ระดับชาติ และระดับภายในประเทศ

 

สาระสำคัญ

  • ยกระดับความทะเยอทะยาน ด้วยการกำหนดแผนการที่ชัดเจนเพื่อรักษาเป้าหมายอุณหภูมิให้คงที่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ผ่านการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (nationally determined contributions: NDCs) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญเพื่อบรรลุความตกลงปารีส แผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (National Adaptation Plans: NAPs) และรายงานความโปร่งใสรายสองปี (Biennial Transparency Reports: BTRs)

 

  • เร่งรัดให้เกิดการลงมือทำ ผ่านวิธีการดำเนินการและการสนับสนุน รวมทั้งข้อตกลง NCQG ที่เป็นธรรมและมีความทะเยอทะยาน ในด้านการเงินเพื่อการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการสรุปการปฏิบัติการของมาตรา 6 (การดำเนินการร่วมกัน)

 

เป้าหมายทางการเงินใหม่คืออะไร?

การจัดทำเป้าหมายทางการเงินใหม่ที่ว่านี้ จะถูกนำมาปรับแทนที่เป้าหมายที่เคยตั้งไว้ในปี 2552 ที่เคยตกลงกันว่าประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มทุนข้ามชาติต้องรับผิดชอบจ่ายหนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการจัดสรรงบประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2563 (2020) เพื่อชดเชยความสูญเสีย เสียหาย และการปรับตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับประเทศกำลังพัฒนา แต่ที่ผ่านมาการจัดสรรงบไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

 

สรุปคือ ตัวเลขนี้ยังน้อยเกินไปสำหรับความต้องการทางการเงินของประเทศกำลังพัฒนาและสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน

 

เพราะประเทศกำลังพัฒนาต้องใช้ทรัพยากรของตนเองเพิ่มขึ้นอีก 500,000 ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมากกว่าอย่างน้อย 5 เท่าจากเงินงบประมาณที่ให้เพียง 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี!

 

จับสาระ วิวาทะสำคัญ COP29 “ความพยายามดับไฟป่าด้วยน้ำเพียงไม่กี่แก้ว”

 

สรุปประเด็นสำคัญที่ต้องหารือในการประชุม COP29 ครั้งนี้

  • เป้าหมายทางการเงินใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  การหาคือยังได้ครอบคลุมถึงการเพิ่มทุนของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น จากธนาคารเพื่อการพัฒนา หรือระดมทุนจากภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเอกชนเพียงไม่กี่แห่งเข้ามาร่วมระดมทุน
  • ตรวจสอบความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ประเทศต่างๆ เคยให้คำมั่นสัญญาแห่งชาติว่าจะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ หรือ  ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด’ (Nationally Determined Contributions : NDCs) กำหนดปรับแผนปฏิบัติในทุก ๆ 5 ปี และการประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสให้แต่ละประเทศนำเสนอแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกกันอีกครั้ง
  • มุ่งสำแดงความคืบหน้าของการดำเนินการในแผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ และความร่วมมือ ทั้งด้านเมือง พลังงาน อาหาร และป่าไม้ จากผลลัพธ์ของการประชุม COP28 ที่เคยแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นพลังงานหมุนเวียนถึง 3 เท่า เพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน 2 เท่า การประชุม COP29 มุ่งหวังให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมรับผิดชอบต่อความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้
  • ความชัดเจนในการจัดตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage Fund) โดยกองทุนนี้ได้ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ประเทศที่เปราะบางสามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกินกว่าที่ประชาชนจะปรับตัวได้ เช่น การสูญเสียชีวิตและบ้านเรือนจากอุทกภัยครั้งใหญ่ ธนาคารโลกรับบทบาทหลักในการจัดการกองทุนนี้ 

 

 

ความสำคัญของ "การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ"  หรือ "Climate Finance"

 

"เงินสนับสนุนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันนั้นยังอยู่ห่างไกลจากที่ควรจะเป็น เมื่อพิจารณาว่าขนาดของความท้าทายที่โลกกำลังเผชิญอยู่นั้นใหญ่แค่ไหน" นายทอม มิตเชลล์ กรรมการบริหารของสถาบันนานาชาติเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (International Institute for Environment and Development - IIED) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในกรุงลอนดอน

 

งานศึกษาชิ้นหนึ่งโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระระดับสูงในประเด็นการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Independent High-Level Expert Group on Climate Finance) ซึ่งเป็นกลุ่มอิสระที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้กระบวนการเจรจาด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ระบุว่า

 

จำเป็นต้องมีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (ไม่รวมจีน) เป็นเม็ดเงินกว่า 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2030 โดยการลงทุนดังกล่าวประกอบด้วยการลงทุนด้านสภาพภูมิอากาศทั้งในประเทศและในระดับนานาชาติ และยังครอบคลุมถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติ รวมไปถึงการเปลี่ยนไปสู่พลังงานหมุนเวียน และการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

กลุ่มดังกล่าวระบุว่า นี่จะถือเป็นการเพิ่มเม็ดเงินขึ้นถึง 4 เท่าจากระดับในปัจจุบัน

 

รายงานล่าสุดของสหประชาชาติระบุว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาต้องการเม็ดเงินระหว่าง 187,000 ถึง 359,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อการปรับตัวเข้ากับโลกใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ในปี 2022 กลุ่มประเทศเหล่านี้ได้รับเงินสนับสนุนส่วนนี้เพียง 28,000 ล้านดอลลาร์


"มันไม่ต่างจากการพยายามดับไฟป่าด้วยน้ำเพียงไม่กี่แก้ว" นายมิตเชลล์กล่าว

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก sdgmove.com