posttoday

สั่งกรมฝนหลวงใช้เทคนิคดัดแปรสภาพอากาศ ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 กทม.-ภาคเหนือ

03 ธันวาคม 2567

รมช.อิทธิ สั่งกรมฝนหลวงฯ บรรเทาฝุ่น PM2.5 พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และภาคเหนือ หลังปฏิบัติการพบค่าดัชนีคุณภาพอากาศดีขึ้น

นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้สั่งการให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ภาคเหนือ และพื้นที่อื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบจาก PM 2.5 ซึ่งเริ่มปฏิบัติการวันแรกไปแล้ว เมื่อวานนี้ (2 ธันวาคม 2567)  

โดยในช่วงบ่ายหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อ.หัวหิน และหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.กาญจนบุรี เริ่มการปฏิบัติภารกิจบรรเทาหมอกควันและสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พื้นที่เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้วยเทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผันด้วยการโปรยน้ำระบายฝุ่นละออง เพื่อทำให้เกิดช่องระบายฝุ่นละอองขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้านบน ใช้เครื่องบินคาซ่า จำนวน 2 ลำ ใช้น้ำปรับลดอุณหภูมิหรือน้ำเย็น จำนวน 1,600 ลิตร บินปฏิบัติการโปรยช่วงเวลา 14.00 - 14.17 น. และเวลา 14.47 - 15.02 น. โปรยเป็นวงกลมก้นหอยรัศมี 5 - 7 ไมล์ บริเวณพื้นที่ จ.เพชรบุรี และ จ.สมุทรสาคร

หลังปฏิบัติการ (เวลา 16.45 น. ) พบว่า ภาพรวมพื้นที่กรุงเทพฯ มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Aqi) ดีขึ้นจากในช่วงเช้า (เวลา 05.00 น. ) จาก 154 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ) ลดลงเหลือ 66 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (ระดับปานกลาง)

สั่งกรมฝนหลวงใช้เทคนิคดัดแปรสภาพอากาศ ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 กทม.-ภาคเหนือ

สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ มีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ ขึ้นบินปฏิบัติการด้วยเช่นเดียวกัน มีพื้นที่เป้าหมายบริเวณ จ. ซึ่งหลังปฏิบัติการ (เวลา 17.00 น. ) พบว่า พื้นที่ จ.เชียงใหม่ มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Aqi) ดีขึ้น (เวลา 15.00 น. ) จาก 84 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงเหลือ 83 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

 

นายราเชน ศิลปะรายะ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านปฏิบัติการ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในฐานะหน่วยงานที่ปฏิบัติภารกิจด้านการดัดแปรสภาพอากาศ ซึ่งนอกเหนือจากการปฏิบัติการฝนหลวงช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนแล้ว ยังมีภารกิจสำคัญ คือการบรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ผ่านการก่อเมฆ เพื่อดูดซับฝุ่นละอองและการสเปรย์น้ำเย็นในอากาศ เพื่อลดปริมาณฝุ่นละออง และการปฏิบัติการฝนหลวงโดยใช้เทคนิค การดัดแปรสภาพอากาศ 3 เทคนิค ได้แก่

สั่งกรมฝนหลวงใช้เทคนิคดัดแปรสภาพอากาศ ลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 กทม.-ภาคเหนือ

                 1. การปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนการก่อกวน โดยใช้สารฝนหลวงสูตร 1 (โซเดียมคลอไรด์) ปฏิบัติการบริเวณต้นลม และโดยรอบมวลของฝุ่นบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อก่อเมฆและเพิ่มปริมาณเมฆในพื้นที่เป้าหมาย

 

                 2. การปฏิบัติการฝนหลวงในขั้นตอนการเลี้ยงให้อ้วน โดยใช้สารฝนหลวงสูตร 8 แคลเซียมออกไซด์ หรือสูตร 6 แคลเซียมคลอไรด์ ปฏิบัติการบริเวณต้นลม และโดยรอบมวลของฝุ่นบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมากที่สุด เพื่อเลี้ยงเมฆให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีแรงดูดซับฝุ่นละออง

 

                3. การปฏิบัติการเทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผัน โดยการโปรยน้ำแข็งแห้งหรือการสเปรย์น้ำ เพื่อระบายฝุ่นละอองบริเวณระดับ inversion (ชั้นอุณหภูมิผกผัน) หรือสูงกว่าระดับ inversion (ชั้นอุณหภูมิผกผัน) เพื่อทำให้เกิดช่องระบายฝุ่นละอองขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศด้านบน

 

โดยการปฏิบัติการในครั้งนี้ ถือเป็นการบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุกที่มีบทบาทสำคัญในการบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ของประเทศไทย พร้อมด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ