ชัชชาติ เปิดแนวทางแก้ปัญหา PM 2.5 พุ่งสูง ชี้เหตุหลักเพราะอากาศหมุนเวียนแย่
ผู้ว่าฯ กทม. เผยสาเหตุค่าฝุ่น PM 2.5 สูงติดอันดับโลก มาจากอากาศหมุนเวียนไม่ดีและจุดความร้อนเพื่อนบ้านเพิ่ม พร้อมเปิดทางแก้ปัญหาเร่งประสานกรมฝนหลวงแก้ปัญหาโดยด่วน!
ค่าฝุ่น PM 2.5 คือปัญหาที่คนไทยและชาว กทม.ต้องเจอ และ ตั้งคำถามทุกปีว่า เกิดอะไรขึ้น เหตุใดค่าฝุ่นจิ๋วที่มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและการหายใจ ต้องมาทำร้ายร่างกายตัวเรา ลูกหลานและกลุ่มเปราะบางทุกปี
ขณะที่กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร รายงานคุณภาพอากาศ พบเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่อยู่ในระดับสีส้ม หรือเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน
ด้านเว็บไซต์ IQAir ซึ่งมีการสำรวจคุณภาพอากาศตามเมืองใหญ่ต่างๆ ทั่วโลก รายงานข้อมูลคุณภาพอากาศช่วงเช้าวันนี้ 9 ม.ค. 68 กรุงเทพมหานคร ติดอันดับเมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากที่สุดเป็นอันดับที่ 8 ของโลก ด้วยค่าดัชนีคุณภาพอากาศ 166 AQI อยู่ในระดับสีแดง หรือส่งผลกระทบต่อประชาชน
ไขคำตอบเรื่องนี้กับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ออกมาแถลงเป็นวาระเร่งด่วน และเปิดแนวทางการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แบบด่วนๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจง สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นว่า สาเหตุมาจากสภาพการหมุนเวียนของอากาศในช่วงนี้ยังปิด ประกอบกับช่วงหลังปีใหม่ในพื้นที่โดยรอบของกรุงเทพมหานคร และประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มมีจุดความร้อนเพิ่มขึ้นจากการเผาในที่โล่ง จึงทำให้ปริมาณฝุ่นเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าวันที่ 13 มกราคมนี้ ทิศทางอากาศจะเริ่มเปิดขึ้น และจะทำให้ปริมาณฝุ่นมีแนวโน้มเบาบางลง
ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกว่า กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติภารกิจพิชิตฝุ่น PM 2.5 ไปแล้ว โดยเทคนิคของกรมฝนหลวงไม่ใช่การก่อฝนอย่างที่ประชาชนจำนวนมากเข้าใจ แต่เป็นเทคนิคการเจาะรูชั้นบรรยากาศเพื่อระบายฝุ่นที่ถูกกักเก็บบนผิวดิน รวมทั้งยังคงคุมเข้มมาตรการลดฝุ่นในสถานประกอบการและแพลนท์ปูน สถานที่ก่อสร้าง พร้อมจับตาสถานการณ์จุดความร้อน เช่น การเผาไหม้ที่ทำให้เกิดฝุ่น
ส่วนสถานการณ์ฝุ่นทั่วประเทศ เมื่อวานนี้ (8 ม.ค.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ซึ่งรายงานค่าฝุ่น PM 2.5 ด้วยข้อมูลจากดาวเทียมแบบรายชั่วโมง ผ่านแอปพลิเคชั่น “เช็คฝุ่น” พบว่า หลายพื้นที่ของประเทศยังคงมีค่าฝุ่น PM2.5 ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจ ในระดับสีแดง โดยเฉพาะภาคกลาง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ พบค่าคุณภาพอากาศที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพ หรือระดับสีส้ม ยังคงกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังเดินหน้าโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น โดยมีห้องต้นแบบแล้ว โดยปีนี้ได้รับงบประมาณเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำนักการศึกษากำลังเร่งทำทั้ง 1,743 ห้องโดยเร็วที่สุด การจัดหน่วยบริการตรวจสภาพรถยนต์เคลื่อนที่เพื่อลดมลพิษ PM2.5 ให้บริการตรวจวัดปริมาณควันดำ การตั้งจุดตรวจสอบตรวจจับและห้ามใช้รถยนต์ควันดำแบบบูรณาการร่วม 4 หน่วยงาน (กทม. กรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ กองบังคับการตำรวจจราจร) การจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรวจสอบในการปฏิบัติงาน ป้องกันไม่ให้เกิดฝุ่นละอองในอากาศ ดำเนินงานให้เป็นไปตามที่มาตรฐานกำหนด ล้างทำความสะอาดถนนทางเท้าและฉีดพ่นละอองน้ำ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นความพยายามที่จะช่วยลดฝุ่นให้กับชาวกรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือประชาชนช่วยสอดส่องเป็นหูเป็นตาไม่เผาในที่สาธารณะ หมั่นตรวจเช็คสภาพรถยนต์ เนื่องจากตอนนี้มีรถยนต์เข้าระบบ Green list เปลี่ยนน้ำมันเครื่องเพียง 160,000 คัน จากเป้าหมาย 500,000 คัน ส่วนรถบรรทุกเข้าร่วม Green list เพิ่มมากขึ้น ทำให้สภาพโดยรวมของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคขนส่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ก็ยังคงต้องเข้มงวดเรื่องการตรวจเช็คสภาพรถยนต์ให้อยู่ในเกณฑ์ทุกคัน ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถบรรทุก และรถในระบบขนส่งมวลชน นอกจากนี้ การลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว มาใช้ระบบขนส่งมวลชน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดฝุ่นได้