"ตลาดนัดเคลื่อนที่ โบกี้เพื่อชุมชน" รถไฟในฝัน พัฒนาระบบขนส่งไทย
"Food Truck Food Train ตลาดนัดเคลื่อนที่ โบกี้เพื่อชุมชน" ผลงานจากนักศึกษามศว.คว้ารางวัลการประกวด “รถไฟในฝัน” พัฒนาระบบขนส่งไทย เชื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดันเศรษฐกิจโต
สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. จัดงานประกาศผลการประกวดความคิดสร้างสรรค์ระดับเยาวชนหัวข้อ “รถไฟในฝัน” เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม โดยไม่จำกัดขอบเขตของไอเดีย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเชิงพื้นที่ การพัฒนาระบบขนส่ง หรือแม้แต่การแก้ไขปัญหาในชุมชนของตนเอง ผู้เข้าแข่งขันสามารถนำเสนอแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมต่อ (connectivity) และการเข้าถึง (accessibility) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ
การประกวดครั้งนี้จึงเป็นมากกว่าการแข่งขัน แต่เป็นเวทีที่เปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า และตอบโจทย์ความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
นับตั้งแต่เปิดตัวโครงการเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีนักเรียนนักศึกษาส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจากทั่วประเทศเป็นจำนวนมากถึง 433 ทีม แบ่งเป็นรุ่นอายุ 16-18 ปี 270 ทีม และรุ่น 18-22 ปี จำนวน 163 ทีม
"การที่มีนักเรียนนักศึกษาสนใจส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเป็นจำนวนมากในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจและความกระตือรือร้นของเยาวชนไทยที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบรางของประเทศ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพเพื่อรองรับอุตสาหกรรมรางในอนาคตอันใกล้ " - ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการสทร.
ทีมตกหลุมรางจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ผู้ส่งผลงาน Food Truck Food Train ตลาดนัดเคลื่อนที่ โบกี้เพื่อชุมชน เป็นทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รุ่นอายุ 18-22 ปี
ขณะที่ทีม Ben2 จาก โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 ส่งผลงาน IN-TRAIN ROBOT เทคโนโลยีหุ่นยนต์ดูแลรถไฟ สร้างความปลอดภัยให้ระบบรางอย่างยั่งยืน ได้รับรางวัลชนะเลิศ รุ่นอายุ 16-18 ปี
“เราต้องการให้คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์และความรู้ความสามารถทางด้านต่างๆ มาช่วยกันคิดค้นโซลูชั่นใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และสร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่าให้กับประเทศชาติ” - รศ. ดร.สิงห์ อินทรชูโต กรรมการตัดสินโครงการประกวดความคิดสร้างสรรค์หัวข้อ "รถไฟในฝัน"
"จุดประกายฝัน สร้างอนาคตไทยด้วยรางเหล็ก"
ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) ยังได้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการบ่มเพาะบุคลากรด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีรถไฟตั้งแต่เยาวชน เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกรถไฟสู่ตลาดโลก
"เราต้องการเห็นน้อง ๆ เยาวชนเข้ามาร่วมโครงการของเรามากขึ้น เพราะบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบรถไฟของประเทศ และการจะก้าวสู่การเป็นผู้ส่งออกรถไฟสู่ตลาดโลกนั้น เราต้องการบุคลากรที่มีความสามารถต่อเนื่องในระยะยาว"
ท่านอธิบายเพิ่มเติมว่า การสร้างความตระหนักรู้ให้แก่น้อง ๆ ตั้งแต่ยังเยาว์ เป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่า เพราะจะช่วยให้พวกเขามีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานในอุตสาหกรรมรถไฟ และที่สำคัญคือจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาอยากเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ
"ถ้าเราไม่เริ่มต้นปลูกฝังความสนใจในวิศวกรรมรถไฟตั้งแต่วันนี้ เราก็จะต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในอนาคต และอาจจะต้องเสียโอกาสทางธุรกิจไปอย่างน่าเสียดาย" ดร.จุลเทพ กล่าวทิ้งท้าย
การประกวดออกแบบ “รถไฟในฝัน” ไม่ได้มองหาเพียงแค่รูปลักษณ์ภายนอกที่สวยงามเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับความคิดสร้างสรรค์ที่นำไปสู่การใช้งานจริงได้อีกด้วย โดยมีเกณฑ์การตัดสินหลักๆ 3 ประการ คือ
- ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity): เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด โดยเฉพาะในรอบแรก เนื่องจากต้องการเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้แสดงออกถึงจินตนาการและมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ การออกแบบสถาปัตยกรรม การออกแบบแฟชั่น หรือแม้แต่การออกแบบบริการ (Service Design) ที่จะทำให้ผู้โดยสารจากทั่วโลกประทับใจเมื่อเดินทางด้วยรถไฟไทย
- ความเป็นไปได้ในการนำไปใช้งานจริง (Practicality): นอกจากความคิดสร้างสรรค์แล้ว ไอเดียที่นำเสนอต้องมีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้งานจริงในอนาคตด้วย โดยคำนึงถึงเทคโนโลยีที่มีอยู่และศักยภาพในการพัฒนาต่อไปในอนาคต
- การสื่อสาร (Communication): ผู้เข้าแข่งขันต้องสามารถสื่อสารไอเดียของตนให้ผู้อื่นเข้าใจได้อย่างชัดเจน
ความสำคัญของความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลาย
คณะกรรมการเปิดโอกาสให้น้องๆ จากหลากหลายคณะเข้าร่วม ไม่จำกัดเพียงแค่คณะสถาปัตยกรรมหรือออกแบบเท่านั้น เพราะการออกแบบรถไฟนั้นเกี่ยวข้องกับหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) เช่น การออกแบบตัวรถไฟ การออกแบบสถาปัตยกรรม (Architecture Design) เช่น การออกแบบสถานีรถไฟ การออกแบบแฟชั่น (Fashion Design) เช่น การออกแบบชุดสำหรับพนักงานรถไฟ หรือแม้แต่การออกแบบบริการ (Service Design) เช่น การออกแบบขั้นตอนการให้บริการผู้โดยสาร ซึ่งล้วนแต่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รถไฟแห่งอนาคตมีความสมบูรณ์แบบ
“ผมว่ากรรมการก็อยากจะเห็นไอเดียใหม่ ๆ แต่ถ้าเราใส่กรอบตั้งแต่แรก เราก็ไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ หน้าที่ของรถไฟจริงๆ แล้ว มันคือการดึงการลากเราอยากเห็นการเอาไอเดียออกจากรถไฟมาดึงมาลากเศรษฐกิจไทยให้โต ซึ่งมันเกิดขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก เราอยากเห็นไอเดียที่จะส่งเสริมให้เราโตขึ้นเชิงเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขัน” - รศ. ดร.สิงห์ อินทรชูโต กรรมการตัดสินโครงการประกวดความคิดสร้างสรรค์หัวข้อ "รถไฟในฝัน"
รถไฟไม่ใช่แค่พาหนะ แต่คืออนาคตของประเทศ
คณะกรรมการมองว่ารถไฟไม่ใช่เพียงแค่พาหนะสำหรับการเดินทาง แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับที่รถไฟเคยมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศต่างๆ ทั่วโลก การพัฒนาระบบรถไฟที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก
เปิดรับทุกไอเดีย ไม่ว่าจะล้ำแค่ไหน
แม้ว่าคณะกรรมการจะให้ความสำคัญกับความเป็นไปได้ในการนำไปใช้งานจริง แต่ก็เปิดใจรับฟังทุกไอเดียที่สร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นไอเดียที่ดูล้ำสมัยแค่ไหน เช่น การใช้เซ็นเซอร์วัดคุณภาพอากาศบนรถไฟเพื่อเก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมทั่วประเทศ หรือแม้แต่ไอเดียที่ดูเป็นไปไม่ได้ในปัจจุบัน เช่น รถไฟตีลังกา เพราะการมีไอเดียที่กล้าคิด กล้าทำ จะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต