Climate Change ตัวทำลายเศรษฐกิจในทศวรรษหน้า ไม่ว่าจะมีหรือไม่มี "ทรัมป์"!
“ดร.พิรุณ” ชี้ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีทรัมป์ สิ่งที่ระบบเศรษฐกิจโลกต้องเจอแน่ๆ คือ Climate Change แบบสุดขั้วที่จะทวีความรุนแรงขึ้น และต่อให้สหรัฐฯ จะมีขีดความสามารถทางการทหาร หรือ Military Defense Capability แค่ไหนก็รับมือกับภัยพิบัติจากภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นไม่ได้
ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวบรรยายในหัวข้อ “จาก COP 29 สู่การดำเนินงาน: ก้าวต่อไปของ SMEs ไทย” ในงานครบรอบวัน อรุณ สรเทศน์ รำลึก ประจำปี 2568 ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีสาระสำคัญที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลกระทบของการประชุม COP29 และนโยบายประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกาในสมัยที่ 2 ที่มีนัยสำคัญในเรื่องของนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศโลกและบทบาทของสหรัฐหลังการถอนตัวออกจาก Paris Agreement เป็นครั้งที่ 2 ของทรัมป์หลังเข้ารับตำแหน่ง โดย ดร.พิรุณระบุว่า
“ในยุคนี้ถ้าใครไม่พูดถึง Sustainable Economic Growth (การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน) ธุรกิจนั้นไปต่อไม่ได้ ไม่ว่าจะมีทรัมป์หรือไม่มีทรัมป์ก็ตาม แต่ Driver นั้นมีหลายตัวไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมาย นโยบายภาครัฐ เรื่องของข้อตกลงระหว่างประเทศ อย่างเช่น Paris Agreement และดีมานด์การบริโภค Green Products อินเวสเตอร์ในตลาดการลงทุนที่อยากเห็นการลงทุนในเรื่องนี้มากขึ้น หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีที่มีต้นทุน Unit Cost ลดลงอย่างรวดเร็วเช่น Solar Energy เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้จะมาผลักดันการเติบโตที่ยั่งยืน ยังไม่รวมถึงการที่บริษัททุนต่างๆ เล็งเห็นความสำคัญของ ESG หรือ CSR เพื่อสร้างความยั่งยืน หรือเรื่องของภาคการเงินที่เปลี่ยนเป็นการเงินสีเขียวมากขึ้น
สิ่งสำคัญเรื่องเดียวในเวลานี้ที่เป็นหัวใจในทศวรรษข้างหน้าก็คือเรื่องของ Climate Change
เกิดคำถามว่าทรัมป์มาจะเป็นอย่างไร แต่แน่นอนว่า Climate Change เป็นตัวทำลายเศรษฐกิจ ต่อให้สหรัฐฯ จะมีขีดความสามารถ Military Defense Capability แค่ไหนท่านก็รับมือกับภัยพิบัติจากภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นไม่ได้ และเมื่อเกิดความไม่แน่นอนในเรื่องนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงไปแค่ไหน โดยได้สรุปไว้ดังนี้
1.ถ้าทำได้ดีที่สุด ตามเป้าหมายของผู้นำประเทศที่เคยกล่าวไว้โดยที่ยังไม่มี commitment ใดกับ UN ก็น่าจะอยู่ที่ 2.3 องศาเซลเซียส นั่นคือโอกาสที่จะเกิดขึ้น 90%
2.ถ้าไม่สนใจสิ่งที่ผู้นำพูดแต่เน้นเฉพาะ commitment ที่จะทำไว้กับ UN แต่ไม่ได้เงินช่วยเหลือจากต่างประเทศอุณหภูมิจะสูงขึ้น 3.0 องศา
3.แต่ถ้าไม่ได้รับเงินสนับสนุนใดๆ เลย กรณีหากทรัมป์ถอนเงินช่วยเหลือทั้งหมดอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.4 องศาเซลเซียส
และไม่ว่าอเมริกาจะขับเคลื่อนในเรื่องนี้หรือไม่ขับเคลื่อนเลยซึ่งตนไม่เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น เพียงแต่อาจจะขับเคลื่อนช้า
กติกาโลกที่ผ่านมา เช่น การประชุมที่ดาวอส 3 ปีที่ผ่านมา เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างสุดขั้วกติกาโลกจึงเปลี่ยนไป และเชื่อว่าในทศวรรษหน้า กติกาโลกก็จะยังเปลี่ยนไปจากสภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
ทุกวันนี้ทุกคนต่างพูดถึง Sustainable Business เพราะธุรกิจที่ไม่ยั่งยืนจะไม่ใช่ธุรกิจที่เป็นเป้าหมายของนักลงทุนอีกต่อไป
เรื่องของ Carbon Pricing หรือกลไกราคาคาร์บอนเพื่อให้เกิดการบังคับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จะมีให้เห็นมากขึ้น หรือแม้แต่ Carbon Tax ที่จะมีผลในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค
และ Energy Transition การลงทุนทุกอย่างที่เข้ามาถ้าเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีบริษัทแม่มีนโยบายเรื่อง Net Zero หรือ Carbon Neutrality ชัดเจนสิ่งแรกที่จะเกิดการตั้งคำถามคือ ประเทศต้นทางสามารถซัพพลายไฟหรือพลังงานสะอาดให้ได้หรือไม่ และหากทำได้ก็จะขอหลักฐานยืนยัน เพื่อให้นักลงทุนเชื่อ
และวันนี้มันก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว เราไม่รู้ว่าเรื่องนี้สหรัฐอเมริกาจะใช้พาวเวอร์แค่ไหนในการผลักดันยุโรปให้เลื่อนการบังคับใช้ CBAM ออกไป เพราะว่าเป้าหมายคือ 1 มกราคม 2569 CBAM จะเริ่มเก็บเงินค่าธรรมเนียมของสินค้าที่จะส่งออกไป EU ในสินค้า 6 ประเภท น่าจับตาดูว่าอำนาจของอเมริกาจะทำให้ EU ถอยหลังในเรื่องนี้ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะว่า กฎหมายของ EU เมื่อบังคับใช้แล้วไม่สามารถยกเว้นให้กับประเทศใดประเทศหนึ่งได้ ต้องบังคับใช้กับทุกประเทศทั่วโลกเหมือนกัน
สองที่เป็นกลไกทางการค้าที่เป็น Non-Tariff Barrier ก็คือ EUDR หรือ EU Deforestation Regulation คือกฎหมายของ EU ถ้าจะซื้อสินค้าจากต่างประเทศจะต้องมีการยืนยันว่าต้องไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า กระบวนการผลิตต้องถูกกฎหมาย พื้นดินที่ปลูกต้องมีเอกสารรับรองสิทธิและยืนยันโดยหน่วยงานของ่ภาครัฐที่มีอำนาจ เช่น ยางพารา ปาล์ม ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ เนื้อวัว เป็นต้น ซึ่งต่อไปต้องแสดงพิกัดทางภูมิศาสตร์ให้ชัดเจน วันที่ ช่วงเวลาการผลิต ซัพพลายเชน เป็นอย่างไร มีการตัดไม้ทำลายป่าหรือไม่ นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นยังไม่บังคับใช้ปีนี้แต่น่าจะบังคับใช้ปีหน้า มีการเจรจากับ EU ค่อนข้างมากในเรื่องนี้โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพราะไม่ใช่เรื่องง่ายที่ประเทศไทยจะปฏิบัติตามได้
ถ้าใครคาดหวังว่าทรัมป์จะพลิกฟ้าทลายแผ่นดินได้ในทุก 197 ประเทศทั่วโลก ก็เป็นความเชื่อหนึ่งแต่มันจะเกิดขึ้นหรือไม่ ประเทศไทย ก็ต้องตัดสินใจให้ดี
ผลกระทบของทรัมป์ 2.0
การถอนตัวออกจาก Paris Agreement ของสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งที่สองในสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ไม่มีอะไรน่าแปลกใจอีกต่อไป และในการประชุม COP 29 ที่ผ่านมาที่บากู อาเซอร์ไบจาน เรารู้อยู่แล้วว่าสหรัฐฯจะถอนตัวจาก Paris Agreement การถอนตัวมีผลกระทบทันทีรวมถึงประเทศไทยและอีกกว่า 140 ประเทศ เพราะเงินที่สหรัฐตกลงไว้ว่าจะใส่เข้าไปในกลไกการเงินหลักของอนุสัญญา UN Cilmate Change ประมาณกว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในยอดทั้งหมดที่จะมีกว่า 13,000 ล้านจะถูกระงับทันที
ชัดเจนในสมัยที่สองของทรัมป์ว่าจะระงับการสนับสนุนทางการเงินทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น 30% ที่เป็น Contribution ส่วนของสหรัฐอเมริกาในกองทุน Green Climate Fund ซึ่งประเทศไทยก็ได้เงินจากกองทุนนี้อยู่ประมาณ 60 ล้านเหรียญสหรัฐแบบให้เปล่าและเรายังต้องการมากขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นกระทบแน่นอน และยังกระทบกับกลไกทางการเงินอื่นๆ จากสหรัฐอเมริกาด้วย อาจไม่ได้ระงับทั้งหมดเพียงแต่อาจช้าลง
สหรัฐออกจากข้อตกลงปารีสเพราะรู้สึกว่า ตนเองเสียเปรียบ หรือไม่เป็นธรรมที่ต้องจ่ายเงินช่วยประเทศอื่นในขณะที่จีนซึ่งปล่อยคาร์บอนสูงมากเช่นกัน (แม้จะไม่เท่าสหรัฐฯที่ปล่อยสะสมมากที่สุด) และมีจีดีพีสูงกลับไม่ต้องจ่ายมากเท่าสหรัฐ
ผลกระทบระดับโลกก็คือการลดอุณหภูมิเฉลี่ยลง 1.5 องศาเซลเซียสน่าจะยากขึ้นแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นในโลกนี้ไม่ได้มีแต่อเมริกา ยังมี EU ยังมีสแดนดิเนเวีย ในอนาคตเราจะเห็นการ Shift ของ Climate Leader หรือการเปลี่ยนแปลงสถานะของผู้นำโลกด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น ในช่วงการประชุม COP29 UK ชิงประกาศเป้าหมายในการลดกก๊าซเรือนกระจกลงที่ 81% ในปี 2065 เมื่อเทียบกับ 2019 เพราะ UK มีเป้าหมายสำคัญคืออยากครองตำแหน่ง Hub ของ Climate Finance และ Climate Tech ของโลกด้วย แต่ก็มีคู่แข่งคือ สแกนดิเนเวียที่มีเป้าหมายในเรื่องนี้เช่นเดียวกันเพราะสแกนดิเนียเวียก็เป็น Hub ของเทคโนโลยี CCS หรือการดักจับคาร์บอนอยู่ในเวลานี้
ข้อสังเกตุจากรัฐบาลทรัมป์ 1
ในช่วงปี 2017-2021 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐอเมริกา (แม้ทรัมป์จะถอนตัวจาก Paris Agreement) ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างก้าวกระโดดหรือพุ่งขึ้นสูงแต่อย่างใด ในขณะที่การลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของสหรัฐอเมริกายังสูงสุดกว่าทุกรัฐบาลและได้รับการพิสูจน์แล้วว่า สูงสุดเป็นประวัติการณ์
นั่นคือสิ่งที่บ่งบอกว่า อเมริกาจะให้ความสำคัญกับ Push Position หรือการยกสถานะหรือบทบาทด้าน Climate Chang แบบเดี่ยวๆ น้อยลงไปมากจนแทบไม่มีเลย ยกเว้นว่ามันจะไปส่งเสริมขีดความสามารถที่เข้มแข็งของสหรัฐอเมริกาในเทคโนโลยีนั้นๆ และทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาเติบโต