ส่องความพิเศษ-เหตุสำคัญ ขบวนรถไฟสายเรโทร คิฮะ จากญี่ปุ่นสู่ไทย

26 มีนาคม 2568

โพสต์ทูเดย์ชวนค้นหาความพิเศษของขบวนรถไฟดีเซลราง คิฮะ (KIHA) รถไฟสุดเรโทรที่ได้รับมอบจากญี่ปุ่นมาสู่ไทย แม้จะมีอายุอานามเกือบครึ่งร้อยแต่ก็ยังคงความคลาสสิก!

ประเทศไทยได้รับมอบรถไฟดีเซลรางรุ่น KIHA 40 และ KIHA 48 จากบริษัท JR EAST ประเทศญี่ปุ่นในปี 2567 (2024) ผ่านโครงการความร่วมมือระหว่างสองประเทศเพื่อช่วยเสริมระบบขนส่งมวลชนในประเทศไทย โดยได้รับรวมทั้งหมด 20 คัน แบ่งเป็น KIHA 40 จำนวน 9 คัน และ KIHA 48 จำนวน 11 คัน

 

แต่ก่อนหน้านี้ไทยก็ได้รับบรถไฟมือสองบริจาคจากญี่ปุ่นมาโดยรวมๆ แล้วเป็นจำนวนหลายสิบคัน หากนับรวมคร่าวๆ ตั้งแต่ปี 2561 (รถโดยสารชนิดนั่งปรับอากาศฮามานะสุ (Hamanasu) จำนวน 10 คัน) 2564 (KIHA 183 จำนวน 17 คัน) มาจนถึงปี 2567 (KIHA 40 และ KIHA 48) อีก 20 คันรวมๆ แล้วก็เกือบ 50 คัน

 

และที่ผ่านมาข้อมูลจาก รฟท. ระบุว่า ประเทศญี่ปุ่นได้มอบขบวนรถโดยสารให้กับประเทศไทยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา รวมแล้วทั้งสิ้น จำนวน 5 ครั้ง จากทั้งบริษัท JR West และ JR Hokkaido โดยล่าสุดในปี 2567 นับเป็นครั้งที่ 6 และเป็นครั้งแรกที่การรถไฟฯ ได้รับขบวนรถโดยสารจากบริษัท JR EAST เพื่อนำมาปรับปรุงและใช้ในกิจการรถไฟเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน

 

วันนี้โพสต์ทูเดย์ชวนมาหาความพิเศษและเหตุผลในการเลือกใช้งานรถไฟรุ่นนี้กัน

 

คิฮะ 40 สีย้อนยุค ภาพจาก wikipedia.org คิฮะ 40 สีย้อนยุค ภาพจาก wikipedia.org

 

รถไฟรุ่น KIHA เป็นขบวนรถไฟที่เป็นที่รู้จักมาอย่างยาวนาน แม้จะผันผ่านกาลเวลามาหลายสิบปีนับตั้งแต่มันถือกำเนิดขึ้นมา หากเทียบเป็นอายุก็เข้าสู่วัยกลางคน ด้วยการออกแบบที่ช่วยให้สามารถใช้งานในเส้นทางที่ไม่มีการเชื่อมต่อกับไฟฟ้า ซึ่งทำให้เป็นตัวเลือกสำคัญในการขนส่งในพื้นที่ชนบทที่ไม่สามารถใช้ระบบไฟฟ้าได้ หรือในพื้นที่ห่างไกลจากเมืองใหญ่ ชานเมือง รวมถึงในเส้นทางที่ทุรกันดารด้วย

 

คิฮะ 40 สาย Himi กำลังผ่านชายฝั่งอะมะฮะระชิ (Amaharashi Coast) ในจังหวัดโทยามะ (Toyama) ประเทศญี่ปุ่น คิฮะ 40 สาย Himi กำลังผ่านชายฝั่งอะมะฮะระชิ (Amaharashi Coast) ในจังหวัดโทยามะ (Toyama) ประเทศญี่ปุ่น

 

มากกว่านั้นคือเรื่องของเสน่ห์และความคลาสสิกในการเดินทาง ดีไซน์ของ KIHA ทั้ง 40 และ 48 ให้ความรู้สึกถึงความคลาสสิกและน่าประทับใจของการเดินทาง นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่กลับชื่นชอบความ "เรโทร" ของรถไฟรุ่นนี้ และในบางขบวนที่ถูกปรับแต่งให้เป็น "รถไฟท่องเที่ยว" เพิ่มมูลค่าให้กับการเดินทาง เช่น ขบวนรถ “SRT Royal Blossom” ที่ รฟท. ปรับปรุงขบวนรถโดยสารชนิดนั่งปรับอากาศฮามานะสุ (Hamanasu) ที่ได้รับมอบมาจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR Hokkaido) ประเทศญี่ปุ่น ในราวปี 2561

 

ความเป็นมาของ KIHA จากญี่ปุ่นสู่ไทย

KIHA 40 เป็นรถไฟดีเซลราง (Diesel Multiple Unit - DMU) รุ่นหนึ่งที่ผลิตโดย Japan National Railways (JNR) ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 เปิดตัวในปี 1978 เพื่อใช้งานบนเส้นทางชนบทของญี่ปุ่น ซึ่งไม่มีระบบไฟฟ้าให้บริการ รถไฟรุ่นนี้มีความทนทาน อึดถึกและได้รับความนิยมมากจนหลายบริษัทเดินรถยังคงใช้งานต่อเนื่องแม้จะผ่านไปหลายสิบปี

 

ส่วน KIHA 48 (เปิดตัวในปี 1979) เป็นรุ่นพี่น้องของ KIHA 40 ที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน มีการปรับปรุงความสะดวกสบายและประสิทธิภาพในการให้บริการ โดยมีการเพิ่มประตูสองฝั่งและปรับระบบทำความร้อนให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศที่หนาวเย็น

 

การบริจาครถไฟเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างสองประเทศในด้านการพัฒนาการขนส่งและการช่วยเสริมสร้างความสามารถในการให้บริการขนส่งมวลชนในประเทศไทย ซึ่งยังคงมีความต้องการในการเพิ่มประสิทธิภาพและการให้บริการในเขตชานเมืองและพื้นที่ห่างไกล เช่น เส้นทางชานเมืองและขบวนรถไฟท่องเที่ยวพิเศษ เพื่อรองรับความต้องการในการขนส่งที่เพิ่มขึ้นและช่วยเสริมสร้างการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่างๆ

ขบวนรถคิฮะ ที่ รฟท.ได้รับบริจาคมาจากญี่ปุ่น ขบวนรถคิฮะ ที่ รฟท.ได้รับบริจาคมาจากญี่ปุ่น

 

รถไฟดีเซลรางรุ่น KIHA 40 และ KIHA 48 ที่ได้รับบริจาคจากประเทศญี่ปุ่น ได้ถูกนำมาใช้งานโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อเสริมการให้บริการในเส้นทางต่างๆ โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการปรับปรุงและดัดแปลงโดยการปรับเปลี่ยนความกว้างของฐานล้อจาก 1,067 มม. (มาตรฐานญี่ปุ่น) เป็น 1,000 มม. (มาตรฐานไทย) และมีการปรับปรุงระบบภายในและภายนอกเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทย ​

 

รฟท. มีแผนที่จะปรับปรุงรถไฟเหล่านี้ให้พร้อมใช้งานได้ภายในปี พ.ศ. 2568 ​ และคาดว่าจะนำมาให้บริการในเส้นทางสายชานเมืองและสายท่องเที่ยว เพื่อรองรับการเดินทางของผู้โดยสารในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล​

 

ทำไมต้อง KIHA 40 และ KIHA 48

ส่วนเหตุผลว่า ทำไมต้องเป็นรถไฟรุ่นนี้ มีเหตุผลทั้งด้านเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพ และความเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทย ที่สำคัญคือ ต้นทุนต่ำและความคุ้มค่า ที่แน่ๆ ก็คือรถไฟรุ่นนี้ได้รับบริจาคจากญี่ปุ่น ซึ่งช่วยลดต้นทุนการจัดหารถไฟใหม่ได้มากและแม้จะเป็นรถมือสอง แต่โครงสร้างและเครื่องยนต์ยังมีประสิทธิภาพดีเมื่อได้รับการบำรุงรักษาการปรับปรุงใหม่ยัง ถูกกว่าการซื้อรถไฟรุ่นใหม่ หลายเท่าตัว ส่วนในรายละเอียดด้านอื่นคือ

 

ความทนทานและความสามารถในการทำงานในสภาพพื้นที่ต่าง

ทั้ง KIHA 40 และ KIHA 48 เป็นรถไฟที่ออกแบบมาเพื่อใช้งานในพื้นที่ที่ไม่มีการเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าและสามารถทำงานในสภาพภูมิประเทศที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทหรือเส้นทางที่ไม่สามารถใช้ไฟฟ้าได้ และยังเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นของไทยด้วย

 

ประสิทธิภาพและการบำรุงรักษาง่าย

ทั้งสองรุ่นได้รับการออกแบบมาให้มีความทนทานและใช้งานได้ยาวนาน มีการบำรุงรักษาง่าย ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนการบำรุงรักษาได้เป็นอย่างดี ยิ่งกว่านั้นระบบเครื่องยนต์และโครงสร้างของ KIHA 40 ถูกออกแบบมาให้ดูแลง่าย อะไหล่หลายชิ้นยังสามารถหาได้ในตลาด ที่สำคัญคือช่างเทคนิคของไทยมีความเชี่ยวชาญในการดูแลรถไฟดีเซลอยู่แล้ว

 

ส่องความพิเศษ-เหตุสำคัญ ขบวนรถไฟสายเรโทร คิฮะ จากญี่ปุ่นสู่ไทย

 

การสนับสนุนแนวทางการขนส่งที่ยั่งยืน

การเลือกใช้รถไฟดีเซลรางที่มีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและบำรุงรักษาง่าย ช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งที่ยั่งยืน ทั้งในแง่ของการประหยัดพลังงานและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

KIHA 40 เป็นรถไฟดีเซลราง (DMU) ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลเป็นหลัก ซึ่งแน่นอนว่ามีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) จากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง แต่การปล่อย CO₂ ก็จะขึ้นอยู่กับ ขนาดของเครื่องยนต์ว่า เป็นแบบ 6 สูบ หรือขนาด 250-300 แรงม้า เพราะ KIHA มีอัตราการใช้น้ำมันอยู่ที่ประมาณ 4-6 ลิตรต่อกิโลเมตร การปล่อย CO₂ ต่อการเผาน้ำมันดีเซล ประมาณ 2.68 กิโลกรัม CO₂ ต่อลิตร

 

ดังนั้น หากคำนวณคร่าว ๆ 1 กิโลเมตร จะปล่อย CO₂ ประมาณ 10-16 กิโลกรัม 1 ชั่วโมงการเดินทาง (ประมาณ 60 กม.) จะปล่อย 600-960 กิโลกรัม CO₂ หากวิ่งเต็มวัน (เช่น 8 ชั่วโมง) จะปล่อยได้สูงถึง 4.8-7.6 ตัน CO₂

 

สรุปคือ KIHA 40 ยังประหยัดกว่ารถยนต์ส่วนตัวหรือเครื่องบินถ้าดูจากการปล่อย CO₂ ต่อผู้โดยสารต่อกิโลเมตร แต่ยังสู้รถไฟฟ้าไม่ได้ในแง่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ส่องความพิเศษ-เหตุสำคัญ ขบวนรถไฟสายเรโทร คิฮะ จากญี่ปุ่นสู่ไทย

 

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยได้รับบริจาครถไฟมือสองจากประเทศญี่ปุ่นหลายครั้ง เช่น

 

ปี 2561 (2018) รฟท. ได้รับมอบตู้โดยสารจำนวน 10 คันจากญี่ปุ่น เป็นรถโดยสารชนิดนั่งปรับอากาศฮามานะสุ (Hamanasu)  ได้รับการดัดแปลง ปรับปรุงใหม่เพื่อใช้เป็นขบวนรถท่องเที่ยว ​ในชื่อขบวน “SRT Royal Blossom”

 

ปี 2564 (2021) รฟท.ได้รับมอบรถดีเซลรางรุ่น KIHA 183 จากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) จำนวน 17 คัน ซึ่งประกอบด้วยรุ่น KIHA 183 (มีห้องขับ) และ KIHA 182 (ไม่มีห้องขับ) โดยรถเหล่านี้เคยให้บริการทางตอนเหนือของญี่ปุ่นมาก่อน

 

Thailand Web Stat