posttoday

"ทวิดา กมลเวชช" นักวิชาการผู้พลิกโฉมการจัดการภัยพิบัติ กทม.

01 เมษายน 2568

"ทวิดา กมลเวชช" คือใคร ? เธอคือผู้นำด้านการจัดการภัยพิบัติ ในทุกวิกฤต ตั้งแต่น้ำท่วม ฝุ่นพิษ แผ่นดินไหว จากนักวิชาการสู่รองผู้ว่าฯ กทม. เจ้าของฉายา "เจ้าแม่ภัยพิบัติ"

“ตอนนี้ทุกวินาทีมีค่ามากจริง ๆ เมื่อเราตรวจจับสัญญาณเราต้องการความเงียบ เพราะสัญญาณที่เราตรวจจับได้อ่อนจะไม่ได้ยิน ทำให้เราเห็นโลเคชันลำบาก ช่วยได้ช้า สิ่งที่เราต้องทำตอนนี้คือขอความร่วมมือทุกคนให้ความร่วมมือเพื่อให้การค้นหาจุดสัญญาณชีพเป็นไปโดยเร็วที่สุด” นี่คือคำพูดของ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่า กทม. ที่กล่าวระหว่างแถลงความคืบหน้ากู้ซากตึก สตง.ที่ถล่มร่วมกับ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

ขณะตอนนี้ครบเวลา 72 ชม. หลังเกิดเหตุการณ์อาคารถล่ม ซึ่งหลักการทางการแพทย์เป็น 72 ชม. แรกที่ผู้ที่ติดอยู่ในซากตึกมีโอกาสรอดชีวิต

จึงต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพื่อรักษาชีวิตผู้ที่ติดอยู่ในซากตึก 

และหากเลย 72 ชม. ผู้ติดอยู่ในซากตึกจะอ่อนแอลง จึงต้องเร่งการทำงานขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามแผนการให้การช่วยเหลือ โดยเจ้าหน้าที่ของ สตง. ได้นำแบบแปลนมาใช้ประกอบการวิเคราะห์โครงสร้างอาคารโดยละเอียด เช่น การตั้งข้อสังเกตในการเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่และประเมินว่าจะมีกลุ่มคนอยู่บริเวณไหนมากที่สุดเพื่อทำการช่วยเหลือ

จากคำพูดดังกล่าว ทำให้เธอกลายเป็นตัวตึง ตัวจริง เรื่องการจัดการภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ส่งภาพการทำงานของ กรุงเทพมหานคร ให้โดดเด่น จนชื่อของ รองทวิดา ถูกพูดถึงอย่างมากและในกูเกิ้ล เสิร์ชเวลานี้ ชื่อของ รองทวิดา ก็ติดเทรนด์ยอดนิยมไปแล้ว
 

รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่า กทม.

รู้จัก "เจ้าแม่ภัยพิบัติ" ทวิดา กมลเวชช: นักวิชาการสู่รองผู้ว่า กทม.

ในทุกวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ไฟไหม้ ฝุ่นพิษ PM2.5 หรือแผ่นดินไหว ชื่อของ "รศ.ทวิดา กมลเวชช" มักปรากฏอยู่แนวหน้าเสมอ ในฐานะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ และปัจจุบันคือ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ได้รับฉายา "เจ้าแม่ภัยพิบัติ" หรือ "Lady Disaster"

เส้นทางสู่นักบริหารเมือง
รศ.ทวิดา เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่มีความผูกพันกับงานราชการ บิดาของเธอคือนายทวีศักดิ์ กมลเวชช อดีตผู้อำนวยการเขตพญาไท ทำให้เธอมีความเข้าใจโครงสร้างการบริหารเมืองตั้งแต่วัยเยาว์

ในด้านการศึกษา เธอจบการศึกษาระดับปริญญาตรีและโทจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านการบริหารสาธารณะและนโยบายจาก University of Pittsburgh สหรัฐอเมริกา ความรู้และประสบการณ์ของเธอครอบคลุมตั้งแต่การบริหารจัดการความเสี่ยง นโยบายสาธารณะ ไปจนถึงการวิเคราะห์ภาวะวิกฤติ

\"ทวิดา กมลเวชช\" นักวิชาการผู้พลิกโฉมการจัดการภัยพิบัติ กทม.

ก่อนเป็นรองผู้ว่าฯ เธอทำอะไรมาก่อน?

ก่อนเข้ารับตำแหน่งรองผู้ว่าฯ กทม. รศ.ทวิดา เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ได้แก่

- คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ที่ปรึกษากรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
- สมาชิกคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ
- อาจารย์และนักวิชาการที่ผลักดันเรื่องการจัดการภัยพิบัติในประเทศไทย
 

\"ทวิดา กมลเวชช\" นักวิชาการผู้พลิกโฉมการจัดการภัยพิบัติ กทม.

จุดเริ่มต้นของฉายา "เจ้าแม่ภัยพิบัติ"

ฉายานี้ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เกิดจากประสบการณ์จริงที่สั่งสมมาตลอดหลายปี เส้นทางของเธอในฐานะ "นักจัดการภัยพิบัติ" เริ่มต้นหลังเหตุการณ์สึนามิปี 2547 ซึ่งเธอทำงานร่วมกับทีมช่วยเหลือระหว่างประเทศ จากนั้นเธอได้มีบทบาทสำคัญในวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เหตุการณ์แผ่นดินไหว 2557 และล่าสุดกับวิกฤตโควิด-19

เธอไม่เพียงแค่ให้คำแนะนำเชิงนโยบาย แต่ยังลงพื้นที่จริง ติดตามสถานการณ์และประสานงานกับทุกภาคส่วน ซึ่งสะท้อนถึงแนวคิดที่ว่า “การจัดการภัยพิบัติที่ดีต้องอาศัยทั้งวิชาการและการปฏิบัติ”

 บทบาทในฐานะรองผู้ว่าฯ กทม.

หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ตอกย้ำบทบาทของเธอคือ "เหตุการณ์แผ่นดินไหวและอาคารถล่ม" เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เธอเป็นบุคคลแรก ๆ ที่ลงพื้นที่ พร้อมให้ข้อมูลเชิงลึก วิเคราะห์สถานการณ์ และวางแผนกู้ภัยอย่างมีประสิทธิภาพ จุดแข็งของเธอคือความสามารถในการบริหารสถานการณ์อย่างมีระบบ และสื่อสารข้อมูลให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย ลดความตื่นตระหนก

\"ทวิดา กมลเวชช\" นักวิชาการผู้พลิกโฉมการจัดการภัยพิบัติ กทม.

 ทำไมต้องจับตา "ทวิดา กมลเวชช"?

- เธอเป็นทั้งนักวิชาการและนักปฏิบัติที่ลงมือทำจริง
- มีความสามารถในการบริหารเชิงกลยุทธ์และการจัดการภัยพิบัติ
- สื่อสารชัดเจน ช่วยลดความสับสนในภาวะวิกฤต
- มุ่งเน้นการแก้ปัญหาเชิงระบบ ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ

จากคณบดีคณะรัฐศาสตร์ สู่รองผู้ว่าฯ กทม. นี่คือก้าวสำคัญของ รศ.ทวิดา กมลเวชช ในการทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ปลอดภัยและน่าอยู่สำหรับทุกคน

\"ทวิดา กมลเวชช\" นักวิชาการผู้พลิกโฉมการจัดการภัยพิบัติ กทม.