ไม่ใช่แค่ไมโครพลาสติก การค้นพบสารกันแดดในหิมะขั้วโลก
ที่ผ่านมาเราค้นพบการปนเปื้อนจากวัสดุอนินทรีย์หรือสารเคมีนานาชนิด ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือไมโครพลาสติกที่มีการแพร่กระจายไปทั่วโลก แต่ล่าสุดไมโครพลาสติกอาจไม่ใช่สารชนิดเดียวอีกต่อไป เมื่อมีการค้นพบการสะสมของสารกันแดดในพื้นที่แถบขั้วโลกเหนือ
ปัญหาที่เกิดจากพิษภัยของไมโครพลาสติกเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับการพูดถึงมากขึ้นในสังคม จากปัญหาขยะพลาสติกสะสมซึ่งสร้างปัญหาแก่สังคมและโลกมายาวนาน นำไปสู่ปัญหาการสลายตัวจนทำให้เกิดไมโครพลาสติกที่มีอัตราปนเปื้อนและแพร่กระจายอย่างกว้างขวาง
ปัจจุบันปัญหาการปนเปื้อนไมโครพลาสติกยังคงเป็นเรื่องที่เราแก้ไม่ตก ด้วยการปนเปื้อนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในระดับสัตว์เซลล์เดียว, พืช, สัตว์ รวมถึงคนเรา อีกทั้งยังแพร่กระจายอย่างกว้างขวางทั้งภายในเมือง, ชนบท, ใต้มหาสมุทร, ยอดเขาสูงเสียดฟ้า หรือแม้แต่ดินแดนขั้วโลกที่ไม่มีมนุษย์เข้าไปใช้ชีวิตก็ล้วนมีการตรวจพบไมโครพลาสติกแทบทั้งสิ้น
ล่าสุดเหตุการณ์นี้อาจกำลังจะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อมีการตรวจพบสารกันแดดในพื้นที่ขั้วโลกเหนือ
การปนเปื้อนของสารกันแดดในขั้วโลกเหนือ
การค้นพบนี้มาจากทีมวิจัยนานาชาติจากการเก็บรวบรวมข้อมูลบนธารน้ำแข็งในคาบสมุทร Brøggerhalvøya ก่อนค้นพบว่าในแถบบริเวณพื้นที่หมู่เกาะ Svalbard ของขั้วโลกเหนือ มีการตรวจพบร่องรอยการปนเปื้อนและสะสมของสารกันแดดภายในพื้นที่
อันที่จริงพื้นที่แถบขั้วโลกเหนือมีการค้นพบสารเคมีปนเปื้อนมาเป็นเวลานาน เช่น การสะสมของสาร PCBs จากการอพยพย้ายถิ่นของนกซึ่งมีการปนเปื้อนสารเคมี เมื่อเกิดการขับถ่ายจึงมีการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม หรือการสะสมของสารปรอทปริมาณมหาศาลซึ่งถูกแช่แข็งมายาวนาน แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มีหลักฐานการตรวจพบสารกันแดด
จากการตรวจสอบล่าสุดพบว่ามีการค้นพบสารปนเปื้อนชนิดใหม่ภายในพื้นที่ขั้วโลกเหนือ เช่น Benzophenone-3, Octocrylene, Ethylhexyl Methoxycinnamate และ Ethylhexyl Salicylate ทั้งหมดถือเป็นสารเคมีในกลุ่มสารกันแดดและมีระดับการปนเปื้อนต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่
สารกันแดดที่ตรวจพบมักสะสมรวมกันอยู่ในบริเวณที่มีความสูงต่ำเป็นหลัก มีเพียง Benzophenone-3 และ Octocrylene เท่านั้นที่มักกระจุกรวมกันอยู่ตรงส่วนยอดธารน้ำแข็ง อย่างไรก็ตามนี่ย่อมนำมาสู่การตั้งคำถามว่า ในพื้นที่ปลอดคนและมีแสงแดดอ่อนเช่นนี้เหตุใดจึงมีการปนเปื้อนสารกันแดดปริมาณมาก
จากการคาดเดานอกจากไหลมาตามกระแสน้ำในมหาสมุทรแล้ว ความเป็นไปได้อีกอย่างคือ สารกันแดดอาจมีการปนเปื้อนไปกับไอน้ำและมวลอากาศจากพื้นที่อื่น เมื่อสิ้นสุดฤดูหนาวจนมวลอากาศจากต่างพื้นที่เคลื่อนตัวเข้าไป ส่วนนี้เองที่อาจมีการปนเปื้อนจากภายนอกจนทำให้หิมะเกิดการปนเปื้อน
และนี่อาจเป็นที่มาของการสะสมสารกันแดดบริเวณยอดธารน้ำแข็งไปในที่สุด
การสะสมของสารกันแดด ปัญหาใหม่ที่ไม่ใหม่
หลายท่านที่ติดตามข่าวอาจเริ่มเคยชินกับเรื่องนี้ ด้วยนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีสารเคมีสะสมปริมาณมากในแถบขั้วโลก นอกจากที่กล่าวไปข้างต้นยังมีการตรวจพบการปนเปื้อนของสารชนิดอื่นอยู่หลายครั้ง เช่น ฝุ่นจากการเผาไหม้ รวมถึงไมโครพลาสติกที่มีการปนเปื้อนในทั่วทุกพื้นที่
ปัจจุบันปัญหาจากการสะสมของสารกันแดดอาจยังไม่ส่งผลกระทบต่อเราโดยตรง แต่นี่เป็นปัญหาที่เราจำเป็นต้องแก้ไขแต่เนิ่นๆ ไม่ควรปล่อยทิ้งให้เกิดการสะสมในปริมาณมาก หากปล่อยไว้โดยไม่ทำการแก้ไขอาจซ้ำรอยกรณีภาวะโลกร้อนในที่สุด
ผลกระทบเมื่อเกิดการสะสมในปริมาณมากอาจนำไปสู่ผลกระทบทางสุขภาพ สารกันแดดบางชนิดอย่าง Octocrylene อาจก่อให้เกิดอาการแพ้, คัน, ระคายเคือง ไปจนการอักเสบของผิวหนัง หากเกิดการสะสมปริมาณมากยังอาจเข้าไปรบกวนการทำงานของฮอร์โมนจนส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว
ที่ร้ายแรงยิ่งกว่าคือผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม สารเคมีกันแดดหลายชนิดส่งผลกระทบต่อสาหร่ายที่เป็นอาหารแก่ปะการัง โดยเฉพาะ Benzophenone-3 ที่ส่งผลต่อตัวอ่อนและระบบสืบพันธุ์ของปะการังโดยตรง จนอาจนำไปสู่การฟอกขาวและตายของปะการังเป็นจำนวนมาก แบบที่เกิดในแนวปะการังทั่วโลกแม้แต่ในประเทศไทยก็เคยเกิดขึ้นกับปะการังในหมู่เกาะสุรินทร์ช่วงปี 2010
ปัจจุบันเริ่มมีประเทศที่มองเห็นความสำคัญของเรื่อนี้มากขึ้น เริ่มจากประเทศ ปาเลา ที่ออกกฎหมายแบนสารกันแดดอันตราย 10 ชนิดออกมาเป็นชาติแรกในปี 2020 นำร่องไปสู่ประเทศอื่น เช่น รัฐฮาวายและหมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐฯ หรือ หมู่เกาะแคบิบเบียนของเนเธอร์แลนด์
สำหรับประเทศไทยในวันที่ 3 สิงหาคม 2021 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่ทีส่วนประกอบของสารเคมีต้องห้าม 4 ชนิด ได้แก่ ได้แก่ Benzophenone-3,Ethylhexyl methoxycinnamate, 4-Methylbenzylid Camphor และ Butylparaben ที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท
ถือเป็นก้าวแรกแห่งการเปลี่ยนแปลงที่อาจช่วยลดผลกระทบที่เกิดจากสารกันแดดลงได้บ้าง
แน่นอนว่าไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถใช้ครีมกันแดดได้เลยเสียทีเดียว แต่ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ลดผลกระทบ่อสิ่งแวดล้อม โดยเลือกใช้ครีมกันแดดที่มีสัญลักษณ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, ครีมกันแดดแบบกันน้ำ, ครีมกันแดดที่ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ไปจนผลิตภัณฑ์ทดแทนครีมกันแดดต่างๆ ก็จะช่วยลดผลกระทบลงมาก
ที่มา
https://www.nationtv.tv/blogs/lifestyle/378831865
https://oneandallthailand.com/reef-safe-sunscreen/
https://mgronline.com/science/detail/9480000096257