posttoday

‘มะเร็งปากมดลูก‘ โรคหลงยุคที่ยังหลงเหลือในไทย

10 มกราคม 2567

เพราะมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่ป้องกันได้ ในต่างประเทศโดยเฉพาะในโซนอเมริกาและยุโรป จึงแทบจะพบเห็นโรคนี้ได้น้อยมากในปัจจุบัน แต่ไทยยังมีผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้ถึงวันละ 13 ราย!

เปิดสาเหตุและวิธีการที่จะทำให้ มะเร็งปากมดลูก หายไปจากเมืองไทย

เป็นระยะเวลานานที่วงการแพทย์ค้นพบว่า มะเร็งปากมดลูก เกิดจากไวรัส HPV  เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก ซึ่งจะตรวจพบได้ในเซลล์ทุกระยะของการดำเนินโรค ไวรัสเอชพีวี มีกว่าร้อยสายพันธุ์ แต่มีเพียง 14 สายพันธุ์ ที่มีความเสี่ยงสูงในการก่อมะเร็งปากมดลูกโดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูกถึง 70% 

การค้นพบดังกล่าวนำไปสู่ความหวังทางการรักษา เช่นเดียวกับการติดเชื้อไวรัสโควิด ที่หากมีการป้องกันและตรวจพบเชื้อได้ทันท่วงทีก็จะสามารถรักษาให้หายขาดได้

ปัจจุบันจึงมีนวัตกรรมทางการแพทย์เกิดขึ้นเพื่อป้องกัน มะเร็งปากมดลูก อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบไปด้วย

1. การฉีดวัคซีนป้องกัน ซึ่งสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีเป็นต้นไป ทั้งชายและหญิง

2. การตรวจคัดกรอง ซึ่งการคัดกรองที่มีประสิทธิภาพที่สุดและได้รับการยอมรับในปัจจุบัน คือการตรวจ HPV DNA Test โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้การตรวจหา HPV DNA เป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้นมากกว่า VIA หรือ cytology สามารถตรวจได้ทั้งที่โรงพยาบาลและสามารถตรวจด้วยตัวเองได้ด้วย โดยมีความแม่นยำถึงร้อยละ 92

โดย รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าหลายคนอาจไม่มั่นใจที่จะใช้ชุดตรวจด้วยตัวเอง แต่จากผลวิจัยที่จุฬาพบว่า ผู้ที่ใช้ HPV DNA Self-sampling ร้อยละ 85 พบว่าทำง่าย และผลตรวจที่ได้ไม่ต่างจากการไปพบแพทย์ เหมาะสำหรับผู้หญิงไทยที่ยังรู้สึกอาย ไม่กล้าตรวจและยังมีความคิดว่ากลัวเจ็บ

รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การตรวจคัดกรองด้วยวิธี HPV Self Sampling Test

1. เมื่อเลือกวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Self-sampling สามารถเก็บตัวอย่างด้วยตนเองในสถานพยาบาลโดยการเก็บตัวอย่างจากช่องคลอด ด้วยไม้สวอบ ซึ่งต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์

2. หลังจากเก็บตัวอย่างด้วยไม้สวอบแล้ว ตัวอย่างจะถูกแกว่งในสารละลาย ซึ่งบรรจุอยู่ในกระปุก หลังจากนั้นปิดฝากระปุกให้สนิท

3. ตัวอย่างจะถูกส่งไปที่ห้องแล็ปเพื่อเข้าเครื่องตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติ เพื่อตรวจหาเชื้อเอชพีวี

4. ผลตรวจจะถูกส่งไปที่สถานพยาบาลภายในระยะเวลาไม่เกิน 14วัน

‘มะเร็งปากมดลูก‘ โรคหลงยุคที่ยังหลงเหลือในไทย

หลังจากที่ได้รับผลตรวจหากไม่พบเชื้อ จะสามารถอุ่นใจได้อีก 5 ปี หากพบเชื้อแต่เป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรง แพทย์จะแนะนำให้ติดตามผลทุกหนึ่งปี แต่หากพบเชื้อสายพันธุ์ 16,18 ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกเป็นอย่างมาก แพทย์จะตรวจและวินิจฉันต่อไป ซึ่งการพบเชื้อในขั้นตอนนี้ถือว่ารวดเร็วและสามารถรักษาให้หายได้ และถือว่าเป็นช่วงก่อนการพัฒนาเป็นมะเร็ง ทำให้ลดอัตราการเสียชีวิต เจ็บป่วย และลดค่าใช้จ่ายในการรักษา

“ข้อปฎิบัติในการตรวจคัดกรองมะเร็งแบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง ต้องให้ช่องคลอดอยู่ในสภาพปกติ โดยภายใน 48 ชั่วโมง ต้องงดเพศสัมพันธ์ ห้ามสวนล้างช่องคลอด และไม่ควรตรวจในช่วงที่มีประจำเดือนฉะนั้น อย่ากลัวตรวจแล้วเจอโรค และอย่าชะล้าใจในการตรวจคัดกรองโรค เพราะยิ่งเจอเชื้อไว ยิ่งรักษาได้หายขาด และหากตรวจคัดกรองพบในระยะแรกสามารถหวังผลหายได้ 90% ระยะที่สอง หวังผลหายได้ 75% ระยะที่สามหวังผลหายได้ 50% และระยะที่สี่ หวังผลหายได้ 20%”รศ.นพ.วิชัย กล่าว

‘มะเร็งปากมดลูก‘ โรคหลงยุคที่ยังหลงเหลือในไทย
 

รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ ได้เปิดเผยว่าเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก ต้องการที่จะรณรงค์ให้จำนวนผู้ป่วยจากมะเร็งปากมดลูกลดลง โดยตั้งเป้าให้เกิดการคัดกรองในผู้หญิงร้อยละ 70 ในขณะที่ตั้งเป้าให้ผู้ป่วยมะเร็งได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีที่ร้อยละ 90

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยพบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกจากการคาดการณ์จำนวน 5,422 ราย ในปี 2017  และลดลงเล็กน้อยต่อเนื่อง 5,320 ราย ในปี 2020 

ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันจากเป้าหมายของ WHO กับผู้หญิงอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ร้อยละ 90 เราฉีดได้เพียงร้อยละ 12 ในขณะที่มีการคัดกรองหาเชื้อ HPV อยู่ที่ร้อยละ 36 จากเป้าหมายร้อยละ 70 จึงทำให้ทุกภาคสังคมยังต้องตระหนักถึงการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยไว เพราะอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยนั้นสูงถึงร้อยละ 50 เนื่องจากมะเร็งปากมดลูกจะไปปรากฎอาการในช่วงที่เข้าสู่ขั้นรุนแรงจนยากแก่การรักษา และไทยยังคงมีอัตราผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกถึงวันละ 13 คนในปัจจุบัน