สู่ยุคที่ KBS ถ่ายแฟนแคมนักร้องเกาหลีโดยใช้ช่างภาพ AI
ไม่น่าเชื่อว่า แฟนแคมนับร้อยนับพันคลิปภายในสื่อโซเชียลต่างๆ ที่ถ่ายในรายการของช่อง KBS สถานีโทรทัศน์ฟรีของเกาหลีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศถูกถ่ายและตัดต่อด้วย AI ทั้งหมด! หรือนี่คือกลิ่นของจุดเปลี่ยนของแรงงานภาคการผลิตสื่อ!
VVERTIGO คือระบบปฏิบัติการที่รวมเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมเข้ากับเทคโนโลยีการตรวจจับคน นำมาสร้างไว้ในรูปแบบของระบบติดตามอัตโนมัติที่มีความคมชัดระดับ 8K โดย KBS ได้พัฒนา VVERTIGO ขึ้นในปี 2018 และใช้ในงานบรอดคาสต์ของเกาหลีตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา ในขณะเดียวกันก็พัฒนาระบบและถูกนำมาใช้ในสหรัฐอเมริกาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
การทำงานของ VVERTIGO
การทำงานของ VVERTIGO จะเป็นการตั้งกล้องตัวเดียวที่มีความคมชัดถึง 8K ที่เชื่อมต่อกับระบบการตรวจจับ ในการถ่ายทำคอนเสิร์ตหรือรายการเกาหลี ที่ปัจจุบันมักจะมีวิดิโอที่เน้นแค่ใครคนใดคนหนึ่ง เพื่อเอาใจแฟนคลับให้สามารถเห็นทุกอิริยาบทได้นั้น โดยช่อง KBS พบว่าวิดิโอที่เน้นบุคคล แต่ละคนในบางครั้งได้ยอดวิวมากกว่าวิดิโอการแสดงในภาพรวมด้วยซ้ำ
ซึ่งการถ่ายภาพดังกล่าวพัฒนามาจากวิดิโอที่เรียกว่า Fancam ที่ทางแฟนคลับถ่ายทำกันเอง เมื่อโพสต์ลงโซเชียล ทาง KBS ก็พบว่ามียอดการเข้าชมที่ดีมาก จึงทำเองเสียเลย!
สำหรับประโยชน์ของ VVERTIGO คือ งานการตัดแฟนแคมแบบนี้เป็นงานที่ซ้ำซ้อนและอาจทำให้พนักงานเบื่อหน่ายได้ เพราะเป็นงานที่ไม่ได้ใช้ความสามารถหรือความครีเอทีฟเท่าไหร่นัก แถมยังเป็นงานที่ต้องใช้ปริมาณเข้าว่า เพราะหากถ่ายกรุ๊ปนักร้องเกาหลีทีนึง 7 คน ก็ต้องมีวิดิโอ 7 ตัวแยกสำหรับนักร้องแต่ละคน จึงเป็นการลดภาระงานที่ซ้ำซ้อนออกไป และลดระยะเวลาการทำงานเพื่อนำไปใช้ในงานที่จำเป็นมากกว่า มากกว่านั้นคือเจ้าโปรแกรมดังกล่าวยังมีคุณสมบัติในการเรนเดอร์งานที่รวดเร็ว แถมยังเกรดสี ตัดต่อได้ ครบทั้งกระบวนการผลิต
ในแง่ของการลงทุนจะพบว่า ไม่จำเป็นต้องจ้างช่างภาพ 7 คนเพื่อจับการเคลื่อนไหวของแต่ละคนอีกต่อไป นอกจากนี้ในรายการพูดคุย (Talkshow) หรืองานอีเว้นท์ก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยวิธีการนี้จะสามารถลดจำนวนกล้องที่ใช้มากขึ้นถึงร้อยละ 70 ซึ่งหมายถึงการลดภาระค่าใช้จ่ายอีกทางหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ เทรนด์ของประเทศเกาหลีต่อการสร้างสรรค์งานสื่อในปัจจุบัน คือการหาวิธีที่ะสร้างโฆษณาและสารคดีขนาดสั้นด้วย AI ที่กำลังเติบโตขึ้นและลดการแทรกแซงของมนุษย์ลงไป
5 ตัวอย่างเพิ่มเติมให้เห็นว่าเทรนด์โลก AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในวงการสื่ออย่างไร?
ไม่ใช่แค่ VVERTIGO เท่านั้น ยังมีการพัฒนาในมุมอื่นๆ โดยเฉพาะฝั่งฮอลลีวูดที่ใช้เครื่องมือเทคโนโลยีเข้ามาผลิตเพื่อลดการจ้างงานและลดราคาการผลิตในอีกหลายมิติ ยกตัวอย่างเช่น
- Warner Bros ใช้ AI เพื่อวัดค่าความสำเร็จของโครงการที่จะลงมือทำ
โดยในปี 2020 ทาง Warner Bros. ค่ายสร้างภาพยนตร์ขนาดใหญ่ได้ลงนามข้อตกลงกับบริษัทสตาร์ทอัพ เพื่อที่จะใช้ตัดสินใจว่าเรื่องไหนควรจะประชาสัมพันธ์มากน้อยอย่างไร โดยการป้อนตัวแปรต่างๆ ลงไปในระบบ หรือการที่ป้อนข้อมูลว่าหากเลือกใช้ดาราคนไหนจะได้รับเงินจากการสร้างมากกว่ากัน!
2. Netflix ปรับแต่งภาพให้เหมาะกับความสนใจของผู้ชม
หากใครสมัครรับชมภาพยนตร์ทาง Netflix จะพบว่าในหน้าหลัก จะขึ้นภาพโปสเตอร์ หรือภาพของภาพยนตร์เพื่อนำเสนอว่ามีภาพยนตร์อะไรบ้าง ทาง Netflix จึงใช้ AI เพื่อที่จะคัดเลือกว่าหนังเรื่องไหนที่จะได้รับการคลิกเข้าไปดูมากขึ้น โดยสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความชอบของบุคคล หากใครมีประวัติชมภาพยนตร์ LGBTQIA+ บ่อยๆ ก็จะได้เห็นหนังประเภทนี้บ่อยขึ้นนั่นเอง
3. IBM สร้างภาพยนตร์เรื่องแรกจาก AI
20th Century Fox ร่วมมือกับ IBM Research ลองสร้างภาพยนนตร์ด้วย AI ที่ชื่อว่า Morgan จากการให้ AI ฝึกฝนกับตัวอย่างภาพยนตร์สยองขวัญ 100 เรื่อง จากนั้นเมื่อจะทำตัวอย่างหนัง AI จะสามารถคัดเลือก 10 ช็อตที่ดีที่สุดของหนังที่ควรจะนำมาใส่ในเทรลเลอร์ ซึ่งโดยปกติจะใช้เวลา 10-30 วันในการผลิต แต่สำหรับ AI ใช้เวลาเพียง 1 วันเท่านั้น
4. พากย์เสียงด้วยระบบ AI และเสียงสังเคราะห์
Cinedigm ร่วมมือกับ Papercup แปลซีรีส์เรื่อง 'The Joy of Painting' เป็นภาษาสเปนโดยใช้ AI ซึ่งจะทำให้มีการเข้าถึงผู้ชมทั่วโลกได้ง่ายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
5. Disney สร้างสกายวอล์คเกอร์รุ่นเยาว์
ตอนจบของ The Mandalorian ซีซั่น 2 ของดิสนีย์ แฟนๆ ต้องตกใจเพราะได้เห็นสกายวอล์คเกอร์วัยเยาว์ ทั้งๆ ที่คนแสดงอายุ 70 ปีแล้วก็ตาม ซึ่งเอฟเฟกต์ดังกล่าวมาจากการผสมร่างของคนแสดงกับร่างที่อายุน้อยกว่า 2 เท่าโดยใช้ VFX นอกจากนี้เสียงก็ยังถูกพัฒนาโดยซอฟต์แวร์ AI อย่าง Respeecher อีกด้วย
จะเห็นได้ว่า วงการอุตสาหกรรมสื่อเปิดพื้นที่ให้มีการใช้ AI เข้ามาช่วยพัฒนาการถ่ายทำเป็นอย่างมาก นอกเหนือไปจากการลดภาระงาน ลดระยะเวลา และลดค่าใช้จ่ายลงแล้ว ยังเปิดพื้นที่ทางจินตนาการให้เกิดขึ้นจริงได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามก็น่าเป็นห่วงแทนคนทำสื่อไม่น้อย เพราะแน่นอนว่าแรงงานที่เกี่ยวข้องย่อมหมดบทบาทลงจากการเข้ามาแทนที่ของ AI
ที่มา
https://n.news.naver.com/article/030/0003164562?sid=105
https://www.vvertigo.com