สกมช. ผนึก Gogolook ดันคนไทยใช้แอปฯ Whoscall ต้านมิจฉาชีพ
สกมช. เผย ปี 66 ภัยไซเบอร์ผุดกว่า 1,800 เหตุการณ์ ผนึก Gogolook ดันคนไทยใช้แอปฯ Whoscall ยกระดับความปลอดภัยไซเบอร์ ต้านมิจฉาชีพออนไลน์
พลอากาศตรี อมร ชมเชย กล่าวถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ในประเทศไทยปี 2566 ว่า ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ThaiCERT) ได้เฝ้าระวังและแจ้งเตือนเหตุการณ์ทางไซเบอร์ให้กับหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และพบว่าในปี 2566 มีการโจมตีทางไซเบอร์เกิดขึ้นกว่า 1,800 เหตุการณ์ โดยกว่าครึ่งเป็นการโจมตีแฮกเว็บไซต์และเว็บไซต์ปลอม
สำหรับภัยคุกคามทางไซเบอร์ 3 อันดับแรก ได้แก่
1.แฮกเว็บไซต์ 1056 เหตุการณ์
2.เว็บไซต์ปลอม 310 เหตุการณ์
3.กลโกงทางการเงิน 111 เหตุการณ์
นอกจากนี้ ยังมีภัยคุกคามจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ล่อลวงประชาชน ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อหน่วยงานและประชาชนเป็นอย่างมาก
การลงนาม MOU ในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือที่สำคัญระหว่างภาครัฐและเอกชนในการร่วมกันป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ และสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนทุกระดับ โดยความร่วมมือมีรายละเอียดดังนี้
- สกมช. จะสนับสนุน ส่งเสริม การใช้งานแอปพลิเคชัน Whoscall ที่พัฒนาขึ้นโดยGogolook ให้กับประชาชน เพื่อใช้ในการตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรเข้ามาว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ที่น่าเชื่อถือหรือไม่
- Gogolook จะเพิ่มประสิทธิภาพของ Whoscall ในการตรวจจับการโทร และ SMS ไปสู่การคัดกรอง URL เพื่อป้องกันการหลอกลวงผ่านเว็บไซต์ปลอม
- ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันพัฒนาโครงการฝึกอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้กับประชาชน
ทั้งนี้ ผู้ใช้งานสามารถกำหนดขอบเขตการอนุญาตเข้าถึงข้อมูลให้เหมาะสมได้ เพื่อลดข้อกังวลต่อการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งนี้ Gogolook พร้อมรับกับกฎหมาย PDPA ของไทย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ
Jeff Kuo ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทGogolook เผยว่า ปี 2566 อาชญากรรมไซเบอร์ในประเทศไทยสร้างความเสียหายมูลค่าหลายพันล้านบาท และสร้างความหวาดกลัวต่อสังคมเป็นอย่างมาก Gogolookในฐานะผู้ให้บริการเทคโนโลยีเพื่อความเชื่อมั่น (TrustTech) จะใช้ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) พัฒนาแนวทางแก้ปัญหาให้ทันต่อกลลวง