เปิดข้อมูล 'Sky Doctor' ยกระดับการแพทย์ ส่งผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศทั่วไทย!
โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เปิดสถิติ ขนส่งผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศหรือทีม Sky Doctor เพิ่มสูงขึ้นแตะ 200 รายในปีที่ผ่านมา พร้อมไขข้อสงสัย- เปิดข้อบ่งชี้ของผู้ป่วยที่เข้าข่าย หรือหลีกเลี่ยงการขนส่งทางอากาศ
Sky Doctor หรือทีมการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ เป็นการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่อาศัยอยู่พื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร โดยทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ สพฉ. จะทำ MOU ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการบินและการขนส่ง เพื่อลำเลียงผู้ป่วยเข้ามาทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมา นโยบายการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศได้รับความสำคัญขึ้นมาก จากการที่ทางกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจัดตั้ง Sky Doctor ให้ครบทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศภายใน 100 วัน จากเดิมที่เน้นการจัดตั้งหน่วยบริเวณที่มีการท่องเที่ยวเชิงผจญภัย หรือ พื้นที่ห่างไกลเท่านั้น!
อย่างเช่นที่จังหวัดพังงา ได้มีการจัดตั้งแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศและแพทย์ฉุกเฉินทางน้ำขึ้น เป็นหนึ่งในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางทะเลฝั่งอันดามัน พร้อมระบบรับแจ้งเหตุและสั่งการที่มีมาตรฐาน นอกจากจะเป็นการส่งเสิรมภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวของประเทศแล้ว ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพของการเข้าถึงการรักษาของประชาชนที่อยู่ตามเกาะต่างๆ ซึ่งใช้เวลาการเดินทางค่อนข้างมากที่จะเข้าถึงโรงพยาบาลขนาดใหญ่ โดยได้จัดเรือพยาบาล 5 ลำ ประจำจุดตามเกาะต่างๆ และมีจุดจอดเฮลิคอปเตอร์ (Sky Doctor) กระจายอยู่ทั่วจังหวัด ทั้งบนเกาะ และในเมืองรวม 9 แห่ง
เปิดสถิติแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ 'Northern Sky Doctor' ภาคเหนือตอนบน
ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ หนึ่งในทีม Sky Doctor ของเขตสุขภาพที่ 1 ซึ่งได้ดำเนินการและจัดตั้งหน่วยการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ได้กล่าวว่า โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ตั้งอยู่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งมีภูมิประเทศที่ยากต่อการเดินทางเข้ารับการรักษาเพราะมีภูมิประเทศที่เป็นภูเขา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาแบบทันทีทันใด ในบางแห่งต้องเดินทางเป็นวัน จึงไม่ทันการณ์ ทางโรงพบาบาลจึงได้มีโครงการ ‘Northern Sky Doctor’ ขึ้นกว่า 10 ปีแล้ว ร่วมกับโรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาได้มีการนำส่งลำเลียงผู้ป่วยมากขึ้นแตะจำนวนกว่า 162 ราย โดยการบริการทั้งหมดไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด โดยทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่งทั้งหมดคือในส่วนของค่าน้ำมัน
สำหรับปฏิบัติการนั้นเป็นการประสานความร่วมมือโดยมีแพทย์ พยาบาล นักปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ที่มีความสามารถในการบิน นำส่งผู้ป่วยทุกวัน โดยการจะส่งต่อผู้ป่วยแพทย์ทั้ง 2 โรงพยาบาลจะมีการประสานกันว่า สมควรต้องส่งมารักษาที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่หรือไม่ และจะมีการพิจารณาตามความจำเป็น ถ้าหากประเมินกันแล้วว่า ต้องการเร็วที่สุด อาจจะพิจารณาการส่งต่อผู้ป่วยทางอากาศยาน หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาว่า อากาศยานที่มีในขณะนั้น ที่ไหนว่างและสะดวกเหมาะสมที่สุด เพราะว่าที่นี่ไม่มีอากาศยานเป็นของตัวเอง ต้องอาศัยทางทหาร ตำรวจ หรือหน่วยงานอื่นที่มีอากาศยานและทำความตกลงร่วมมือ(MOU)กับสพฉ. นอกจากนี้ยังมีแพทย์อำนวยการปฏิบัติการฉุกเฉิน (พอป.) ของเขต มีหน้าที่ในการพิจารณาความเหมาะสมของผู้ป่วย ที่จะลำเลียงทางอากาศ ว่าผู้ป่วยรายนี้จำเป็นต้องบินจริงและไม่มีข้อห้าม เป็นคนพิจารณาอนุมัติและในปีที่ผ่านมาได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยส่วนมากที่ผ่านมาจะเป็นกลุ่มกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะหัวใจหยุดเต้น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและผู้ป่วยบาดเจ็บทางศีรษะรุนแรง
เปิดข้อบ่งชี้ของผู้ป่วยที่เข้าข่ายการลำเลียงทางอากาศ
อย่างไรก็ตามจากดราม่าที่เกิดขึ้นล่าสุด เกี่ยวกับเด็กอายุ 7 เดือนที่มีการส่งตัวจากจังหวัดหนองคาย ทำให้หลายคนส่งสัยถึงขอบเขต ว่าใครจะสามารถเข้าข่ายการลำเลียงทางอากาศได้ ทางสำนักข่าวโพสต์ทูเดย์จึงรวบรวมข้อมูลจากคู่มือแนวทางปฏิบัติการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศเขตบริการสุขภาพที่ 1 พ.ศ.2561 ได้มีการกำหนดข้อบ่งชี้ของผู้ที่เข้าข่ายการลำเลียงทางอากาศไว้ดังนี้
1. ผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤตและเร่งด่วนที่จําเป็นต้องได้รับการดูแลเพื่อช่วยชีวิตหรืออวัยวะสําคัญ ในสถานที่ที่มีศักยภาพเหมาะสม โดยไม่สามารถลําเลียงโดยวิธีปกติให้ทันเวลาได้ ได้แก่
- ผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่จําเป็นต้องได้รับ การสวนหลอดเลือดหัวใจ (Cardiac catheterization) หรือใส่ เครื่องพยุงการทํางานของหัวใจ (Intra-aortic balloon pump placement) หรือ เข้ารับการผ่าตัดเพื่อช่วยชีวิตอย่างเร่งด่วน
- ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บและจําเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อช่วยชีวิตอย่างเร่งด่วน
- ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่เข้าเกณฑ์ได้รับยาสลายลิ่มเลือด (Thrombolytics)
- ผู้ป่วยหรืออวัยวะที่เข้าเกณฑ์ต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อปลูกถ่ายอย่างเร่งด่วน
- การบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยที่มีผู้ป่วยวิกฤตจํานวนมากเกินศักยภาพโรงพยาบาลในพื้นที่
2. ทีมรักษายาหรือเวชภัณฑ์ที่แพทย์ผู้ดูแลและแพทย์อํานวยการปฏิบัติการฉุกเฉินร่วมกันประเมินแล้วเห็นว่า การลําเลียงทางอากาศไปยังสถานที่ปลายทางอย่างรวดเร็วจะเกิดประโยชน์ต่อการรักษาชีวิตและอวัยวะของผู้ป่วยมากกว่าการลําเลียงด้วยวิธีอื่น
3. การลําเลียงส่งต่อในกรณีสาธารณภัย ที่แพทย์อํานวยการปฏิบัติการฉุกเฉินเห็นว่า การลําเลียงทางอากาศสามารถป้องกันการเสียชีวิต และลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้น
ส่วนผู้ป่วยที่ควรหลีกเลี่ยงการลำเลียงทางอากาศ ได้แก่
1. ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยขั้นรุนแรงที่ได้รับการลงความเห็นจากทีมแพทย์ว่า ไม่สามารถทําการแก้ไขให้ดีขึ้นได้ หรือให้ได้เพียงการรักษาแบบประคับประคองเท่านั้น (Terminal condition of the patient) เช่น ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ผู้ป่วยที่ได้รับ บาดเจ็บศีรษะรุนแรงและไม่พบการตอบสนองของระบบประสาท เป็นต้น
2. ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นและยังไม่มีการกลับคืนของสัญญาณชีพ
3. ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะมีอาการแย่ลงจนเสียชีวิตในระหว่างการลําเลียง ได้แก่
- ผู้ป่วยที่มีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นและยังไม่สามารถเปิดทางเดินหายใจได้
- ผู้ป่วยที่มีสัญญาณชีพไม่คงที่และแย่ลงเรื่อยๆ (Vital signs instability and on-going deterioration)
- ผู้ป่วยที่มีอาการชักแบบ uncontrolled seizure
4. ผู้ป่วยเจ็บครรภ์คลอดที่มีแนวโน้มคลอดในระหว่างการลําเลียงส่งต่อ
5. ผู้ป่วยทางที่มีอาการทางจิตที่ไม่ให้ความร่วมมือในการรักษาและมีแนวโน้มเป็นอันตรายต่อทีมลําเลียง โดยไม่สามารถบรรเทาอาการสงบได้โดยการยึดตรึงด้วยอุปกรณ์หรือยา
6. ผู้ป่วยที่สงสัยหรือได้รับการปนเปื้อนสารพิษหรือสารเคมีที่มีโอกาสก่ออันตรายสู่ผู้อื่นได้
7. ผู้ป่วยโรคติดต่อร้ายแรงทางระบบหายใจที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อ โดยไม่มีการป้องกันที่เหมาะสม
หมายเหตุ: ไม่มีข้อห้ามโดยสมบูรณ์ของการลําเลียงผู้ป่วยด้วยอากาศยาน ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับ ดุลยพินิจร่วมของทีมผู้รักษา แพทย์อํานวยการปฏิบัติการฉุกเฉินและชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน ทางอากาศ ในการพิจารณาความเหมาะสมเป็นราย ๆ ไป ทั้งนี้ต้องคํานึงถึงนิรภัยการบิน เป็นส่วนประกอบในการตัดสินใจด้วย