posttoday

AiSee หูฟังอัจฉริยะช่วยระบุวัตถุแก่ผู้พิการทางสายตา

19 กุมภาพันธ์ 2567

ปัจจุบันเทคโนโลยีได้รับการพัฒนาเพื่อรองรับผู้พิการหรือมีความบกพร่องมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือผู้พิการทางสายตาที่มีระบบและอุปกรณ์นำทางรองรับสำหรับการเดินทาง ล่าสุดเรากำลังจะล้ำไปอีกขั้นกับ AiSee หูฟังอัจฉริยะช่วยระบุวัตถุ

การเลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้ตามร้านของชำ ร้านสะดวกซื้อ ไปจนห้างสรรพสินค้าถือเป็นเรื่องปกติของคนทั่วไป แต่สำหรับผู้พิการทางสายตาการเลือกซื้อของให้ถูกใจสักชิ้นค่อนข้างเป็นเรื่องยาก ด้วยสินค้าหลายยี่ห้อมักมีรูปทรงหีบห่อใกล้เคียงกัน ทำให้สำหรับผู้มีปัญหาทางการมองเห็นจึงแยกแยะได้ยาก

 

          จริงอยู่สินค้าบางชนิดมีการจัดพิมพ์อักษรเบรลล์ลงบนหีบห่อวัสดุเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตา แต่จำนวนผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้อักษรเบรลล์ยังคงมีจำนวนน้อย อีกทั้งยังอาจเกิดความเสียหายได้ง่าย ซึ่งจะส่งผลให้การอ่านผิดเพี้ยนไปจากเดิม

 

          นำไปสู่ความพยายามในการพัฒนาหูฟังอัจฉริยะสำหรับระบุวัตถุในมือโดยเฉพาะ

 

AiSee หูฟังอัจฉริยะช่วยระบุวัตถุแก่ผู้พิการทางสายตา

 

AiSee หูฟังอัจฉริยะที่ช่วยระบุวัตถุ

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก National University of Singapore กับความพยายามในการช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการทางสายตา สู่การพัฒนาหูฟังอัจฉริยะ AiSee ที่มีคุณสมบัติในการตรวจสอบและแยกแยะวัตถุในมือด้วยปัญญาประดิษฐ์ แล้วจึงแจ้งข้อมูลให้แก่ผู้ใช้งานได้รับทราบต่อไป

 

          รูปทรงของหูฟังอัจฉริยะนี้มีหน้าตาใกล้เคียงกับหูฟัง Bone condition หูฟังที่ได้รับความนิยมในการใช้งานในหมู่นักกีฬาว่ายน้ำ ด้วยคุณสมบัติในการส่งสัญญาณเสียงผ่านกระดูกแก้มโดยไม่จำเป็นต้องผ่านแก้วหู จึงเป็นหูฟังที่ช่วยให้เราได้ยินเสียงจากรอบข้างได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

 

          กลไกการทำงานของหูฟังอัจฉริยะเริ่มต้นจากการสวมใส่แล้วหยิบวัตถุที่ต้องการมาไว้ในมือ เมื่อเปิดหูฟังสิ่งที่ผู้ใช้งานต้องทำมีเพียงการถาม จากนั้นกล้องความละเอียดสูงที่ติดตั้งไว้กับหูฟังจะทำการจับภาพของวัตถุที่อยู่ทางด้านหน้า เพื่อเก็บรายละเอียดทั้งในด้านสี ข้อความ ชื่อยี่ห้อ ไปจนป้ายกำกับสินค้าให้ชัดเจน

 

          ภาพที่ได้จะถูกส่งไปประมวลผลด้วยอัลกอริทึมเฉพาะจากปัญญาประดิษฐ์ เพื่อทำการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลที่ได้จากภาพถ่าย จากนั้นจึงอาศัย Large Language Model (LLM) เพื่อทำความเข้าใจคำถามที่ได้รับ และสร้างคำตอบในการอธิบายวัตถุเป้าหมายต่อไป

 

          ด้วยการใช้งานระบบประมวลผลผ่าน LLM ทำให้หูฟังเข้าใจคำถามได้รวดเร็ว สามารถอธิบายชี้แจงข้อมูล ไปจนพูดคุยโต้ตอบกับผู้ใช้งานได้ ผู้ใช้งานจึงสามารถสอบถามข้อมูลเพื่อขอรายละเอียดของวัตถุที่กำหนดได้ละเอียดและชัดเจนยิ่งขึ้น ป้องกันความเข้าใจผิดที่อาจเป็นอันตราย

 

          นี่จึงเป็นหูฟังอัจฉริยะที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถรับรู้วัตถุได้ใกล้เคียงกับการมองเห็นเลยทีเดียว

 

AiSee หูฟังอัจฉริยะช่วยระบุวัตถุแก่ผู้พิการทางสายตา

 

หูฟังอัจฉริยะที่ออกแบบมาเพื่อผู้พิการ

 

          ถึงตรงนี้หลายท่านอาจสงสัยว่าเหตุใดจึงต้องเป็นหูฟัง เมื่อพูดถึงอุปกรณ์สนับสนุนคนพิการหลายท่านอาจนึกถึงแว่นตาอัจฉริยะ อาศัยการติดกล้องไว้บนแว่นด้วยเทคโนโลยี Augmented reality เพื่อใช้ในการระบุสิ่งที่มองเห็นกันมาบ้าง อีกทั้งหูฟังยังเป็นอุปกรณ์ที่ผู้พิการไม่สะดวกต่อการใช้งานนัก เพราะอาจไปรบกวนหรือปิดกั้นการได้ยินซึ่งเป็นอันตราย

 

          อย่างไรก็ตามการออกแบบอุปกรณ์ให้เป็นรูปทรงหูฟังเนื่องจากต้องการให้ผู้ใช้งานสามารถสวมใส่อุปกรณ์ชิ้นนี้ได้อย่างสบายใจ เพราะผู้พิการหรือมีความบกพร่องทางสายตาบางส่วนรู้สึกว่าการสวมแว่นให้ความรู้สึกเหมือนถูกตีตราจึงอาจนำไปสู่ความรู้สึกต่อต้าน จึงออกแบบมาให้อยู่ในรูปทรงหูฟังที่สวมใส่สบายและใช้งานได้ง่ายกว่า

 

          อีกทั้งหูฟังที่พวกเขานำมาใช้เป็นต้นแบบยังเป็นหูฟัง Bone condition ที่ส่งสัญญาณเสียงผ่านกระดูกจึงไม่รบกวนการรับฟังผ่านช่องทางแก้วหูปกติ ผู้ใช้งานจึงยังได้ยินเสียงจากรอบข้างอย่างชัดเจน ตั้งแต่เสียงสนทนา สภาพแวดล้อม ไปจนการจราจรต่างๆ จึงสามารถสวมใส่และใช้ฟังโดยไม่เกิดผลกระทบต่อความปลอดภัย

 

          จุดเด่นอีกข้อของ AiSee คือ หูฟังอัจฉริยะนี้สามารถทำงานได้อย่างอิสระ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการส่งข้อมูลหรือประมวลผลจากสมาร์ทโฟนแบบอุปกรณ์ชนิดอื่น จึงสามารถใช้งานได้อย่างคล่องตัวโดยไม่จำเป็นต้องเสียบพ่วงหรือเชื่อมต่ออุปกรณ์ใดเพิ่มเติม เพียงแกะกล่องและตั้งค่าก็พร้อมใช้งานทันที

 

          นอกจากนี้อุปกรณ์ไม่ได้จำกัดการใช้งานแค่เพียงผู้พิการ แต่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็นก็สามารถใช้งานได้เช่นกัน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่จำนวนผู้สูงอายุขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่สายตาเริ่มฝ้าฟางจนมองเห็นได้ไม่ชัดเจน หูฟังอัจฉริยะนี้จะมีประโยชน์ไม่แพ้กัน

 

 

 

          แน่นอน AiSee ยังต้องได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมในหลายด้าน ทั้งในส่วนรูปทรงให้เข้ากับสรีระมากขึ้น พลังการประมวลผลให้ทำงานได้รวดเร็ว ไปจนการลดระดับราคาให้ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ แต่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ AI ที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมศักยภาพของผู้พิการทางสายตาได้อีกมาก

 

         

 

          ที่มา

 

          https://news.nus.edu.sg/ai-powered-eye-for-visually-impaired-people/