posttoday

ยาอะไรบ้างที่ควรระวังหากมี 'ยีนแพ้ยา' ในร่างกาย รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

25 กุมภาพันธ์ 2567

รู้จัก 'ยีนแพ้ยา' ให้ดีขึ้นเพื่อป้องกันการสูญเสีย หลังกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบคนไทยมียีนแพ้ยาร้อยละ 15 หรือประมาณ 9.7 ล้านคน สังเกตลักษณะอาการหากแพ้ยารุนแรง และแนะนำวิธีการตรวจคัดกรองทางพันธุกรรม นวัตกรรมใหม่ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ร้อยละ 90

หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขเปิดตัวแพลตฟอร์ม ‘ผูกพันธุ์’ รวบรวมข้อมูลการตรวจหายีนแพ้ยาจากพันธุกรรม เพื่อป้องกันการแพ้ยาแบบรุนแรงซึ่งสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตได้ วันนี้โพสต์ทูเดย์จะพาไปรู้จักความสำคัญของการตรวจหายีนแพ้ยา และการตรวจนี้จะช่วยอย่างไรได้บ้าง

 

ยีนแพ้ยาคืออะไร?

ในอดีตการแพ้ยาเป็นเรื่องที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ โดยพบว่า ในประเทศไทยมีอัตราการ พบยีนแพ้ยาในคนไทยอยู่ที่ร้อยละ 15 หรือประมาณ 9.7 ล้านคน และพบในผู้ป่วย 42,000 – 100,000 คน แต่ว่าในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางเภสัชพันธุศาสตร์ ก็ช่วยให้เราค้นพบลักษณะทางพันธุกรรมบางประการของมนุษย์ที่มีผลต่อการแพ้ยา

อย่างเช่นการเกิดผื่นแพ้ยาชนิดกลุ่มอาการ SJS และ TEN จากยา Carbamazepine ทำให้เกิดการหลุดลอกของผิวหนังและเยื่อบุทั่วร่างกาย จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ แม้ว่ายา Carbamazepine จะเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับการรักษาโรคลมชักและบรรเทาอาการปวดที่เกี่ยวกับระบบประสาทก็ตาม   โดยการตรวจยีนสามารถพบว่ามียีนที่ชื่อ HLA-B*1502 มีความเสี่ยงที่จะเกิดผื่นแพ้ยาชนิดนี้และมีมากในกลุ่มคนที่มีเชื้อชาติเอเชีย  ซึ่งแม้จะพบได้น้อยประมาณ 2.3-6.7 คนในประชากร 1 ล้านคนแต่มีความรุนแรงมาก

นอกจากนี้ยังมีการตรวจพบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรงกับลักษณะทางพันธุกรรมอีกหลายตัวเพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มยาที่มีหลักฐานชัดเจนว่าเกิด SJS/TEN สัมพันธ์กับยา ได้แก่

1.ยารักษาโรคเกาต์ และยากลดกรดยูริก : Allopurinol

2.ยากันชัก : Carbamazepine, Phenobarbital, Phenytoin และ Lamotrigine

3.ยาแก้ปวด หรือยาต้านการอักเสบกลุ่ม NSAIDs : Ibuprofen, Meloxicam, Piroxicam, Tenoxicam, Celecoxib

4.ยาต้านไวรัชเอชไอวี : Nevirapine, Abacavir

5.ยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ ได้แก่ Co-trimoxazole, Sulfadiazine, Sulfadoxine, Sulfafurazole,Sulfamethoxazole และ Sulfasalazine

6.ยากลุ่มเพนนิซิลิน : Amoxicillin

7.ยารักษาวัณโรค : Rifampicin, Isoniazid และ Ethambutol

8.ยารักษาโรคผิวหนังอักเสบคล้ายเฮอร์ปิส/ยารักษาและป้องกันการติดเชื้อบางชนิด : Dapsone

 

สังเกตอาการผื่นแพ้ยารุนแรงได้อย่างไร?

อาการเบื้องต้น : มีผื่น 1-14 วัน คันตา น้ำตาไหล มีไข้ปวดศีรษะ มีอาการเหมือนเป็นไข้หวัด

อาการสำคัญ : มีผื่นตุ่มขึ้นที่ผิวหนังและเยื่อบุผิว โดยเริ่มที่หน้า คอ คาง ลำตัว แล้วลามไปทั่วร่างกาย เช่น ในปาก หลอดลมอาหาร กล่องเสียง ช่องคลอด ทวารหนัก เริ่มแรกจะเป็นผื่นแดงหรือจุดแดง ต่อมาจะเป็นตุ่มน้ำพุพองจนผิวหนังหลุดลอก

 

สิ่งที่ควรกระทำหลังจากได้รับยากลุ่มที่เสี่ยงต่อการแพ้ยารุนแรง 

  1. สังเกตและเฝ้าระวังตนเองอย่างใกล้ชิด
  2. หยุดยาและรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยทันที

 

ข้อดีของการตรวจยีนแพ้ยา

  1. สามารถทำนายหรือช่วยป้องกันการแพ้ยาชนิดรุนแรงจากยาที่เกี่ยวข้องได้เมื่อจะต้องใช้ยาชนิดดังกล่าว
  2. เพิ่มความปลอดภัยทางการรักษามากขึ้นและช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
  3. ทำให้เกิดผลการรักษาที่ดีขึ้น

สำหรับวิธีการตรวจนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อจากกระพุ้งแก้ม โดยต้องงดการรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ยกเว้นน้ำเปล่า โดยต้องงดการสูบบุหรี่อย่างน้อย 1ชั่วโมง งดการแปรงฟันหรือเคี้ยวหมากฝรั่งด้วย

 

ความพร้อมในการตรวจยีนแพ้ยาของไทย

ในปัจจุบันการตรวจยีนแพ้ยาในคุนไทยครอบคลุมในสิทธิประโยชน์การรักษาของระบบหลักประกันสุขภาพ เมื่อแพทย์เกิดการสงสัยสามารถสั่งให้มีการตรวจหายีนได้ โดยมีการตรวจใน 4 กลุ่ม ได้แก่

  • การตรวจยีน HLA-B*58:01 สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาลดกรดยูริค อัลโลพูรินอล (Allopurinol) หรือ ยารักษาโรคเกาต์
  • การตรวจยีน HLA-B*15:02 สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยากันชักคาร์บามาซีปีน (Carbamazepine)
  • การตรวจยีน HLA-B*57:01 สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวี อะบาคาเวียร์ (Abacavir)
  • การตรวจยีนย่อยยา NAT2 ในผู้ป่วยวัณโรคที่ได้รับยาไอโซไนอาซิด (Isoniazid)

และการตรวจดังกล่าวจะอัปโหลดข้อมูลไปในระบบแพลตฟอร์มดิจิทัล ‘ผูกพันธุ์’ หากเข้าตรวจกับศูนย์ที่เข้าร่วม เพื่อที่แพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ สามารถดึงประวัติการแพ้ยามาดูได้ ในกรณีที่เข้าพบเพื่อการรักษาในอนาคต

 

ที่มา

https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/wp-content/uploads/2019/06/ยาที่ต้องระวัง-การเกิดผื่นแพ้ยารุนแรง.pdf

https://phukphan.dmsc.moph.go.th/information/pharmacogeneticTest