posttoday

ดีอีเตือนภัยมิจฉาชีพออนไลน์ หลอกให้รัก-ซื้อตุ๊กตาลาบูบู้

16 เมษายน 2567

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เตือนภัยเคสมิจฉาชีพออนไลน์ หลอกให้รัก หลอกซื้อตุ๊กตาลาบูบู้ (Labubu) แนะประชาชนมีสติ อย่าหลงเชื่อในทันที

นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 8-12 เมษายน 2567 ศูนย์ AOC 1441 (Anti Online Scam Operation Center) ได้มีรายงานเคสตัวอย่างที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพจำนวน 5 เคส ประกอบด้วย

คดีที่ 1 หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือวัตถุประสงค์อื่นๆ มูลค่าความเสียหาย 188,000 บาท โดยรายละเอียดคดี พบว่า ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพทางโทรศัพท์ อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่บริษัท Shopee แจ้งว่าเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลฟรีสามารถเลือกสินค้าได้เลย จากนั้นให้เพิ่มเพื่อนทาง Line แล้วเชิญเข้า Group Line เพื่อร่วมทำกิจกรรมตามที่บริษัทกำหนด อ้างว่าเป็นกิจกรรมการกุศลจะได้รับเงินคืน ผู้เสียหายหลงเชื่อได้โอนเงินไปหลายครั้ง ในระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง แต่ภายหลังไม่ได้รับผลตอบแทน 

คดีที่ 2 : คล้ายกับคดีแรก มูลค่าความเสียหาย 103,000 บาท ผู้เสียหายได้รับการติดต่อจากมิจฉาชีพทางโทรศัพท์อ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่บริษัท Shopee แจ้งว่าเป็นผู้โชคดีจากการรีวิวสินค้า จะได้รับรางวัลและสิทธิประโยชน์จากนั้นให้เพิ่มเพื่อน ทาง Line โดยต้องชำระค่าธรรมเนียม และร่วมทำกิจกรรมตามที่บริษัทกำหนด อ้างว่า เป็นกิจกรรมการกุศล และจะได้รับผลตอบแทนคืน ผู้เสียหายหลงเชื่อได้โอนเงินไปหลายครั้ง ในระยะแรกได้รับผลตอบแทนจริง แต่ภายหลังไม่ได้รับ 

คดีที่ 3 หลอกลวงให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) ผู้เสียหายได้รู้จักพูดคุยสนิทใจกับมิจฉาชีพ ผ่านช่องทาง Facebook อ้างว่าเป็นนายแพทย์ สาขากระดูก รักษาทหารอยู่ในประเทศอิสราเอล ต้องการเดินทางกลับประเทศไทยให้ผู้เสียหายโอนเงินค่าตั๋วเดินทางให้ก่อน เมื่อกลับถึงเมืองไทยจะโอนเงินกลับคืน ผู้เสียหายเกิดความสงสารจึงโอนเงินไป จำนวน 50,000 บาท ภายหลังไม่สามารถติดต่อได้อีก 

คดีที่ 4 : หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ ที่ไม่มีลักษณะเป็นขบวนการ โดยผู้เสียหายผู้เสียหายได้สั่งซื้อสินค้า ตุ๊กตาลาบูบู้(Labubu) กำลังเป็นที่นิยมผ่านช่องทาง X โดยโอนเงินชำระเต็มจำนวนมูลค่า 9,996 บาท ภายหลังการโอนเงินเสร็จไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้อีกและไม่ได้รับสินค้าตามที่ตกลงไว้ 

คดีที่ 5 ผู้เสียหายพบโฆษณาที่พักผ่านช่องทาง Facebook เพจชื่อ "Bangsaen Cabana"ผู้เสียหายสนใจจึงได้ติดต่อพูดคุยและจองห้องพัก ระยะเวลา 2 วัน 1 คืน โดยโอนเงินชำระเต็มราคามูลค่า 5,580 บาท หลังจากนั้นทางเพจติดต่อกลับผู้เสียหายอ้างว่า มีค่าประกันห้องพักที่ต้องชำระเพิ่ม แต่ผู้เสียหายไม่ได้โอนเงินค่าประกันดังกล่าวไป

ซึ่งผู้เสียหายทั้ง 5 เคส เชื่อว่าตนเองถูกมิจฉาชีพหลอก จึงติดต่อเข้ามาที่ศูนย์ AOC 1441 โดยมีมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้ง 5 เคส รวม 356,576 บาท

ผลการดำเนินงานของ ศูนย์ AOC 1441 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 จนถึง วันที่ 12 เมษายน 2567 มีตัวเลขสถิติผลการดำเนินงานดังนี้

1.สายโทรเข้า 1441 จำนวน 545,620 สาย /เฉลี่ยต่อวัน 3,327 สาย

2. ระงับบัญชีธนาคาร จำนวน 112,699 บัญชี/ เฉลี่ยต่อวัน 924 บัญชี

3. ระงับบัญชีตามประเภทคดีสูงสุด 5 ประเภท 1) หลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ 33,954 บัญชีคิดเป็นร้อยละ 30.13 2) หลอกลวงหารายได้พิเศษ 24,192 บัญชีคิดเป็นร้อยละ 21.47 3) หลอกลวงลงทุน 20,361 บัญชี คิดเป็นร้อยละ 18.07 4) หลอกลวงให้กู้เงิน 9,406 บัญชีคิดเป็นร้อยละ 8.35 5) หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล 7,376 บัญชีคิดเป็นร้อยละ 6.54 และคดีอื่นๆ 17,410 บัญชีคิดเป็นร้อยละ 15.45

4. ยอดการอายัดบัญชี(1 พ.ย.66 – 14 เม.ย. 67) ข้อมูลของทั้งประเทศจาก ตร. (บช.สอท) 1) ยอดขออายัด 8,447,094,202 บาท 2) ยอดอายัดได้ 4,055,094,202 บาท 3) อายัดได้ร้อยละ 48.01

ทั้งนี้ขอให้ประชาชนอย่าไว้ใจ และตระหนักอยู่เสมอถึงความปลอดภัยของตัวท่านเอง เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ ซึ่งอาจจะทำให้ท่านโอนเงินให้กับมิจฉาชีพได้ รวมทั้งช่วยกันแจ้งเตือน และกดรายงานเพจปลอม หรือแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ