posttoday

เปิดนโยบาย 5x5 แก้วิกฤติประชากร 'วราวุธ' นำขึ้นเวที UN!

03 พฤษภาคม 2567

โพสต์ทูเดย์พาเปิดนโยบาย 5x5 แก้วิกฤติประชากร ที่ 'วราวุธ ศิลปอาชา' รมว.พม. นำขึ้นอภิปรายบนเวทีการประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐอเมริกา เน้น 5 เรื่อง เสริมพลังวัยทำงาน เพิ่มคุณภาพเด็ก สร้างพลังผู้สูงอายุ สร้างคุณค่าผู้พิการ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีครอบครัว

จบลงแล้วสำหรับการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (CPD 57) โดยมีไฮไลท์สำคัญคือการนำเสนอนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤติประชากร ของ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงพม. ต่อที่ประชุม

โดยนายวราวุธเปิดเผยว่า ได้รับการตอบรับอย่างดีจากหลายภูมิภาค หรือแม้แต่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของเราด้วยกันเอง ซึ่งตนได้มีโอกาสพูดคุยกับรัฐมนตรีด้านสังคมของประเทศอังกฤษ และพูดคุยกับองค์กรของสหประชาชาติ อาทิ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) หน่วยงานที่ดูแลเรื่องการพัฒนาประชากรโดยตรง  และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) หน่วยงานสำคัญในการประสานงานเรื่องความช่วยเหลือด้านการพัฒนาของสหประชาชาติ ซึ่งทุกคนทุกฝ่ายให้ความสนใจกับนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤติประชากร ของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤติประชากร จะเป็นนโยบายสำคัญที่จะนำมาแก้ปัญหาวิกฤตประชากรของประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาระยะยาว และปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ที่ยังไม่มีประเทศไหนแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จ! 

 

 

รายละเอียดนโยบาย  5x5 แก้วิกฤติประชากร 

 

สำหรับนโยบายดังกล่าวประกอบด้วยการแก้ปัญหาเจาะไปที่ 5 ด้าน ได้แก่

1. เสริมพลังวัยแรงงาน  เพื่อให้คนในวัยนี้สามารถตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบครัวได้ และพร้อมที่จะสูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต 

มาตรการ

  • พัฒนาทักษะและเสริมศักยภาพ (Reskill/Upskill) เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการประกอบอาชีพของแรงงานนอกระบบ และบูรณาการฐานข้อมูลด้านตลาดแรงงาน (ทั้งอุปสงค์และอุปทาน)
  • การส่งเสริมการมีงานทำและรายได้ด้วยการกระจายงานสู่พื้นที่และชุมชน
  • การส่งเสริมการออม สร้างแรงจูงใจให้ประชากรในวัยทำงานออมเพื่ออนาคตและเตรียมการเกษียณ (ออมภาคบังคับ)
  • ปรับสถานที่ทำงานให้เป็นสถานประกอบการที่คำนึงถึงความสุข และส่งเสริมสุขภาพของบุคลากร และเพิ่มสิทธิประโยชน์ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
  • มาตรการส่งเสริมสมดุลชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว เช่น สร้างแรงจูงใจด้านภาษีหรือการยกย่องทางสังคมให้แก่นายจ้างที่จัดสวัสดิการดูแลเด็กปฐมวัยและผู้สูงอายุให้แก่ลูกจ้าง การทำงานแบบยืดหยุ่น ส่งเสริมบทบาทชายหญิงในการร่วมกันดูแลครอบครัว

 

2. เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน

มาตรการ

  • การส่งเสริมสถาบันครอบครัวและสถานบันการศึกษาให้มีความเข้มแข็ง
  • การดูแลสุขภาพทางกายและจิตใจของเด็กและแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์
  • การมีศูนย์เด็กเล็กใกล้บ้าน มีมาตรฐาน รับเด็กอายุน้อยลง มีความยืดหยุ่นชุมชนช่วยจัดการได้
  • การพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะวิชาชีพตามวัย สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เป็นพลวัต
  • การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างวัย

 

3. สร้างพลังผู้สูงอายุ  พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส

มาตรการ

  • มุ่งการป้องกันโรคมากกว่ารักษาโรค
  • การขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้ผู้สูงอายุ ขยายอายุเกษียณ ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ พัฒนาทักษะที่จำเป็น ส่งเสริมความรอบรู้ด้านดิจิทัลเทคโนโลยี (Digital Literacy) ให้ผู้สูงอายุ และลดข้อจำกัดที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของผู้สูงอายุ
  • การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เช่น จัดระบบบริบาลผู้สูงอายุในชุมชน พัฒนาระบบคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุในชุมชน โดยชุมชน ส่งเสริมให้มีการเกื้อหนุนและสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้สูงอายุกับสมาชิกในครอบครัวและชุมชน
  • การส่งเสริมให้มีสภาพแวดล้อม ทั้งภายในบ้าน รอบบ้าน และในชุมชนที่เอื้อต่อการทำกิจวัตรประจำวัน การสัญจร และการมีส่วนร่วมทางสังคมของผู้สูงอายุ
  • การส่งเสริมให้มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุในทุกมิติเพื่อให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการอย่างครบวงจรกับผู้สูงอายุ

 

4.เพิ่มโอกาสและเสริมสร้างคุณค่าของคนพิการ

มาตรการ

  • สนับสนุนและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาสำหรับคนพิการตามศักยภาพและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนให้มีความหลากหลายและเหมาะสมกับคนพิการ ตลอดจนเพิ่มการจ้างงานคนพิการในทุกภาคส่วน รวมทั้งปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสมต่อการทำงาน
  • ส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่ครบถ้วนของคนพิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม สร้างทัศนคติที่เหมาะสมของชุมชนและครอบครัวในการอยู่ร่วมกันและดูแลคนพิการ เช่น ระบบการตรวจสอบสิทธิที่มีประสิทธิภาพ หน่วยบริการรักษาพยาบาลเคลื่อนที่ การให้ความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน
  • ป้องกันความพิการแต่กำเนิดและความพิการทุกช่วงวัย (Prevention) รวมทั้งฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายและทางใจ (Rehabilitation)
  • ส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้คนพิการดำเนินชีวิตได้อย่างอิสระ เช่น ระบบขนส่ง สิ่งอำนวยความสะดวก โดยใช้หลักการออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่มวัย (Universal Design) รวมทั้งใช้ระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมช่วยในการดำเนินชีวิต
  • การจัดทำฐานข้อมูลและพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อประโยชน์ในการหางานและการจ้างงาน

 

5. สร้างระบบนิเวศ ที่เอื้อต่อความมั่นคงของครอบครัว

มาตรการ

  • การพัฒนาระบบสวัสดิการที่เหมาะสมและทั่วถึงโดยรัฐ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเป็นหลักประกันในยามที่เผชิญกับวิกฤต
  • ชุมชนน่าอยู่สำหรับประชากรทุกกลุ่มทุกวัย “ปลอดภัย ปลอดพิษ เป็นมิตรและเอื้ออาทรต่อทุกคน”
  • บ้านสำหรับคนทุกช่วงวัย ทุกกลุ่มเป้าหมาย เข้าถึงได้ อยู่อย่างปลอดภัย
  • การส่งเสริมเศรษฐกิจครัวเรือน เข้าถึงแหล่งทุนได้อย่างเท่าเทียมสร้างกลไกค้ำประกันเพื่อเสริมสภาพคล่องให้ครอบครัวบนหลักการพอเพียงและมีวินัย เสริมสร้างความรู้ในการบริหารการเงินสำหรับครัวเรือน
  • การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ เน้นการเปลี่ยนพฤติกรรมของประชากรในการหยุดทำร้ายธรรมชาติ ส่งเสริม Green Economy

 

โครงสร้างสู่การดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม

จากนโยบายดังกล่าวที่อ้างอิงจากคำบอกเล่าของ รมว.พม. ที่นานาชาติต่างชื่นชมและเห็นดีเห็นงามด้วยนั้น จะเห็นได้ว่าเป็นนโยบายที่ต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน และจากหลายกระทรวงร่วมกัน เช่น การสร้างชุมชนที่น่าอยู่ ปัจจัยด้านเงินทุน หรือเน้นการป้องกันมากกว่าการรักษาโรค แค่สามเรื่องนี้ก็เกี่ยวข้องกับอีกหลายกระทรวงที่ต้องออกมาช่วยแก้ไข! นอกจากนี้ยังต้องมีการเปลี่ยนนโยบายให้ออกมาเป็นการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม ซึ่งต้องการคนออกมาคิด ออกมาทำต่อจากนี้อีกมาก

การแก้วิกฤตประชากรอย่างที่เกริ่นไปว่าเป็นการแก้ไขที่ยังไม่มีประเทศไหนในโลกทำได้ และกำลังสั่นคลอนความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต และความมั่นคง ไม่ใช่เฉพาะแค่ส่วนบุคคลแต่ระดับสังคม และเป็นวิกฤตระดับประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ที่กำลังมีปัญหาเรื่องแรงงาน การดูแลผู้สูงอายุที่ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปและไม่สามารถจัดสรรเงินในการดูแลคุณภาพชีวิตตัวเองให้ดีได้ หรือแม้แต่ทรัพยากรที่ถูกทิ้งร้างไว้และไม่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ หรือแม้แต่ประเทศไทยเอง ที่เข้าสู่สังคมสูงวัย และสูงวัยของคนไทยก็อยู่ในขั้น แก่เกินออม และอยู่ในภาวะพึ่งพิงเสียเยอะ! รวมไปถึงจำนวนการเกิดที่ก็ตกลงเรื่อยๆ จากสภาวะเศรษฐกิจและสังคม .. นี่จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่ทุกฝ่ายเริ่มต้นจากในรัฐบาลเองต้องเห็นถึงความสำคัญที่จะลงมือทำและใช้งบประมาณของตนมาช่วยกันแก้ไข

ปัญหาอยู่ที่ว่า การแก้ไขปัญหาประชากรเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานาน แต่การเมืองแต่ละสมัยนั้นใช้เวลาเพียงไม่กี่ปี ทั้งนโยบายและงบประมาณจะคงความต่อเนื่องหรือวางรากฐานจนสามารถแก้ไขได้จริงๆหรือไม่?

มิเช่นนั้น นโยบายที่ว่าดี ก็ไม่สามารถเกิดผลลัพธ์ที่ดีได้ และจะไม่ทันการณ์!