posttoday

เทคโนโลยีแอนติบอดี สู่อนาคตเซรุ่มพิษงูหลายชนิดที่ไร้ผลข้างเคียง

17 พฤษภาคม 2567

ตามปกติเราอาจคุ้นเคยกับการใช้งานแอนติบอดีสำหรับรับมือเชื้อชนิดต่างๆ มักทำการฉีดเข้าสู่ร่างกายเพื่อป้องกันโรคระบาด แต่ล่าสุดเราจะก้าวไปอีกขั้นเมื่อแอนติบอดีช่วยให้เราผลิตเซรุ่มต้านพิษงูหลายชนิดโดยไร้ผลข้างเคียง

เมื่อพูดถึงงูทุกท่านย่อมรู้ดีว่าสัตว์ชนิดนี้กระจายตัวอยู่ทั่วไปในไทย ทั้งพื้นที่ป่าเขา พงหญ้ารกชัฏ หรือกระทั่งในอาคารบ้านเรือน แม้จะมีประโยชน์ในการควบคุมสัตว์ในระบบนิเวศ แต่ด้วยการใช้พิษในการล่าเหยื่อ หากถูกกัดก็อาจทำให้เราเสียชีวิตและทุพลภาพได้เช่นกัน

 

          งูพิษกัดจึงถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาทางสาธารณสุขทั่วโลก ด้วยแต่ละปีมีผู้ถูกงูพิษกัดเฉลี่ยมากกว่า 5.4 ล้านราย นำไปสู่การเสียชีวิตและทุพลภาพนับแสนคน สำหรับประเทศไทยจำนวนของผู้ป่วยจากงูพิษกัดจะเฉลี่ยอยู่ที่ 6,155 ราย/ปี แม้ปัจจุบันแนวโน้มจำนวนผู้ถูกงูพิษกัดจะเริ่มลดลงแต่ก็ยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

 

          วันนี้เราจึงจะมาลงรายละเอียดเกี่ยวกับสารที่ใช้สำหรับรับมืองูพิษอย่าง เซรุ่มต้านพิษงู กันเสียหน่อย

 

เทคโนโลยีแอนติบอดี สู่อนาคตเซรุ่มพิษงูหลายชนิดที่ไร้ผลข้างเคียง

 

การใช้งานและผลข้างเคียงจากเซรุ่มต้านพิษงูในปัจจุบัน

 

          เซรุ่ม คือ ส่วนหนึ่งของน้ำเลือดที่มีลักษณะเป็นของเหลวสีเหลืองใสที่เราเรียกกันว่า พลาสมา หรือ น้ำเหลือง เป็นสารที่ได้จากการสกัดเลือดของมนุษย์หรือสัตว์ที่มีภูมิคุ้มกันต่อการก่อโรค จากนั้นจึงนำมาฉีดเข้าสู่บุคคลอื่นเพื่อทำการกระตุ้นและสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านสารชนิดนั้นภายในร่างกาย

 

          ขั้นตอนการผลิตเซรุ่มจะเริ่มต้นจากการนำพิษของงูที่ได้รับการเพาะเลี้ยงไปฉีดเข้าสู่สัตว์ใหญ่ที่มีความทนทานสูง สัตว์ที่ได้รับความนิยมการใช้ผลิตเซรุ่มคือ ม้า เมื่อม้าได้รับสารพิษในปริมาณที่กำหนดจะสร้างสารภูมิคุ้มกัน จากนั้นจึงนำเลือดม้ามาใช้ในการผลิตเซรุ่มตามชนิดพิษที่ได้รับต่อไป

 

          อย่างไรก็ตามเซรุ่มต้านพิษงูไม่ใช่ยาวิเศษ ไม่ใช่กระทั่งยาแก้พิษ แต่เป็นสารภูมิต้านทานทำหน้าที่เข้าไปจับสารพิษในกระแสเลือดเป็นหลัก เซรุ่มจึงทำหน้าที่ต้านพิษงูป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยเกิดอาการรุนแรงแต่ไม่ช่วยรักษาส่วนที่เสียหายจึงยังจำเป็นต้องรักษาตามอาการ

 

          การให้เซรุ่มต้านพิษงูเองก็ขึ้นกับกรณีต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ อย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ทุกกรณีที่แพทย์จะจ่ายเซรุ่มต้านพิษงูแก่คนไข้แม้พวกเขาจะถูกงูพิษกัด ต้องมีข้องบ่งชี้หรืออาการผิดปกติที่มีความจำเป็น ในกรณีที่อาการไม่รุนแรงแพทย์อาจพิจารณาไม่จ่ายเซรุ่มต้านพิษงูแก่ผู้ป่วย

 

          สาเหตุที่เป็นแบบนั้นเนื่องจากเซรุ่มต้านพิษงูมีความเสี่ยงก่อให้เกิดอาการแพ้ สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ไข้ ผื่นคัน ลมพิษ หน้าบวม ไปจนอาการร้ายแรงอย่างหลอมตัวหดเกร็งและความดันโลหิตต่ำ ในกรณีร้ายแรงอาจทำให้เสียชีวิต แม้จะมีอัตราการแพ้ราว 5% แต่ก็ทำให้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง

 

          แต่จะอย่างไรหากเทคโนโลยีแอนติบอดีจะช่วยให้เราสร้างเซรุ่มต้านพิษงูที่ไม่เกิดผลข้างเคียง

 

เทคโนโลยีแอนติบอดี สู่อนาคตเซรุ่มพิษงูหลายชนิดที่ไร้ผลข้างเคียง

 

การใช้แอนติบอดีพัฒนาเซรุ่มไม่ก่ออาการแพ้

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจากศูนย์วิจัย Scripps Research กับการค้นพบและพัฒนาแอนติบอดีชนิดใหม่ นอกจากจะนำไปใช้งานในการผลิตเซรุ่มสำหรับต้านพิษงูหลายชนิดได้พร้อมกันแล้ว ยังอาจช่วยผลข้างเคียงที่เกิดจากเซรุ่มต้านพิษงูที่ใช้งานในปัจจุบัน

 

          ตามที่กล่าวไปข้างต้นอาการแพ้จากเซรุ่มถือเป็นเรื่องน่าหนักใจแก่แพทย์และผู้ได้รับพิษ อีกทั้งขั้นตอนการผลิตเซรุ่มก็จำต้องฉีดพิษงูที่ต้องการสร้างเซรุ่มแก่ม้า ยิ่งต้องการผลิตมากชนิดก็ต้องใช้จัดหางูและพิษที่มีความหลากหลายตาม ส่งผลให้ขั้นตอนการผลิตซับซ้อนวุ่นวาย อีกทั้งการพึ่งพาสารคัดหลั่งจากสัตว์ก็ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยไม่น้อย

 

          ด้วยเหตุนี้ทางทีมวิจัยจึงเกิดแนวคิดในการวิเคราะห์พิษร้ายแรงจากงูกว่า 300 ตัว รวมถึงงูที่มีพิษร้ายแรง เช่น งูเห่า งูจงอาง งูแมมบา งูสีน้ำตาลตะวันออก ฯลฯ ทั้งพิษชนิดที่มีผลต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ก่อนพบว่าโปรตีน 3 Fingers Toxin เป็นโครงสร้างโปรตีนหลักที่ก่อให้เกิดพิษในงูหลากหลายชนิด

 

          จากนั้นพวกเขาจึงเริ่มค้นหาและตรวจสอบแอนติบอดีภายในร่างกายมนุษย์ เพื่อค้นหาและตรวจสอบว่าแอนติบอดีชนิดใดที่สามารถยังยั้งจากการทำงานของโปรตีนต้นตอพิษงูได้ ก่อนพบว่าในบรรดาแอนติบอดีจำนวนมหาศาลที่ทำการวิจัย แอนติบอดี 95Mat5 มีประสิทธิภาพช่วยให้เรารับมือพิษงูได้ดีที่สุด

 

          95Mat5 เป็นแอนติบอดีสังเคราะห์ซึ่งมีคุณสมบัติสกัดกั้นและต้านพิษงูได้หลายชนิด ทั้งพิษต่อระบบประสาทและพิษต่อกล้ามเนื้อ โดยแอนติบอดีชนิดนี้สามารถทำการสังเคราะห์ขึ้นมาได้จากภายในห้องปฏิบัติการโดยตรง อีกทั้งยังสามารถเข้ากันได้ดีกับระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์

 

          จุดเด่นของแอนติบอดีชนิดนี้คือมีฤทธิ์ในการเป็นเซรุ่มต้านพิษทั้งชนิดระบบประสาทและกล้ามเนื้อไปพร้อมกัน แตกต่างจากเซรุ่มทั่วไปที่ใช้ต้านพิษงูตามชนิดที่ระบุไว้ แม้มีเซรุ่มต้านพิษงูรวม แต่ก็มีข้อจำกัดว่าใช้ต้านพิษได้เพียงชนิดใดชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ต้านพิษทั้งสองชนิดพร้อมกัน ซึ่งจะช่วยลดความยุ่งยากในการเก็บรักษาและใช้งานเซรุ่มลงมาก

 

          อันดันต่อมาคือขั้นตอนการผลิตที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสัตว์อื่น ตามที่กล่าวไปข้างต้นขั้นตอนการผลิตเซรุ่มต้องอาศัยงูเพื่อรีดพิษมาฉีดใส่ม้า นอกจากใช้งบประมาณสูงยังนับเป็นการทารุณกรรมสัตว์ ตรงข้ามกับแอนติบอดี 95Mat5 ที่สังเคราะห์ขึ้นมาได้เอง อีกทั้งเมื่อเซรุ่มต้านพิษงูไม่ต้องอาศัยน้ำเหลืองสัตว์แต่เป็นแอนติบอดีของมนุษย์ โอกาสที่ผู้ป่วยจะแพ้หลังได้รับยาจะลดลง ช่วยลดผลข้างเคียงและอาการแพ้ที่ตามมา

 

          ในขั้นตอนการทดสอบหลังฉีดแอนติบอดี 95Mat5 ให้แก่หนูที่ได้รับสารพิษหลายชนิดพบว่า หนูที่ได้รับการฉีดมีอัตรารอดชีวิตหลังได้รับพิษสูงกว่า อีกทั้งมีอาการอัมพาตหรือผลกระทบทางสุขภาพลดลงมาก จากการที่แอนติบอดีเข้าไปจับกับพิษในร่างกายและยับยั้งการออกฤทธิ์ได้ชงัด

 

 

 

          อย่างไรก็ตามการพัฒนาแอนติบอดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าวิจัย จำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจึงสามารถนำมาใช้งาน นอกจากนี้แอนตี้ 95Mat5 แม้จะสามารถรับมือพิษได้หลายชนิด แต่ยังไม่สามารถป้องกันพิษที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือดได้ ทางทีมวิจัยจึงยังคงต้องค้นหาแอนติบอดีที่รับมือพิษชนิดนี้ได้ต่อไป

 

          แต่นี่ก็ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญที่ทำให้จากนี้เราอาจปวดหัวเวลารับมือกับงูพิษน้อยลง

 

 

 

          ที่มา

 

          https://www.amarintv.com/news/detail/169753

 

          https://www.rama.mahidol.ac.th/poisoncenter/sites/default/files/public/pdf/books/Antidote_book3-03_Antivenoms.pdf

 

          https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=929

 

          https://www.scripps.edu/news-and-events/press-room/2024/20240221-jardine-antivenom.html