posttoday

'วราวุธ' ชี้วิกฤตประชากร หากไม่รีบแก้จะเป็นสึนามิทับถมปัญหาเศรษฐกิจ!

30 เมษายน 2567

'วราวุธ ศิลปอาชา' เปิดใจกับโพสต์ทูเดย์ระบุ การแก้ไขปัญหาวิกฤตประชากรต้องจัดการโดยด่วน มิเช่นนั้นจะเป็นสินามิทับปัญหาเศรษฐกิจและกระเทือน GDP ย้ำแนวทางแก้ปัญหามี แต่ความยากของการปฏิบัติคือการบูรณาการทุกภาคส่วนของรัฐให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ยันต้องเริ่มวันนี้!

หลังจากที่ ‘วราวุธ​ ศิลปอาชา’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการประชากรและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 57 (CPD 57) เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยมีไฮไลท์สำคัญคือการนำเสนอนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร ต่อที่ประชุม ซึ่งเป็นนโยบายที่จัดทำขึ้นหลังจากการทำประชามติกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อกำหนดนโยบายนี้ร่วมกัน และได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ก่อนจะนำไปพูดบนเวทีโลกในครั้งนี้

ภายหลัง รมว.พม. เผยว่าต่างชาติต่างสนใจไถ่ถามและให้การตอบรับ และแน่นอนว่าทั่วโลกต่างจับตาก้าวต่อไปของไทย เพราะแต่ละประเทศก็มีประสบการณ์ที่ไม่ต่างกันจากปัญหาการแก้วิกฤตประชากร

'นอกจากเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้แล้ว ประเทศอื่นก็อาจจะมีปัญหาเช่นกันและมีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไร เช่น สวิตเซอร์แลนด์มีการทำโครงการเรื่อง Time Bank ธนาคารเวลาซึ่งก็น่าสนใจ จะนำมาใช้ในประเทศไทยได้หรือไม่ ผมคิดว่า การที่เราพูดใน UN ว่าการคุยกับประเทศไทยเป็นการตอกย้ำว่าเราทำจริงแล้ว’ นายวราวุธกล่าวถึงสิ่งที่ได้จากการนำนโยบายแก้วิกฤตประชากรไปพูดคุยในเวที UN พร้อมอธิบายถึงความแตกต่างของวิกฤตประชากรในไทยเมื่อเทียบกับต่างชาติว่า

‘วิกฤตประชากรของประเทศไทยแตกต่างจากที่อื่น ก็คือคนไทยอยู่กันแบบหลายเจเนอเรชันมานาน แต่ในขณะที่ประเทศอื่นอายุ 18 ปีก็ออกนอกบ้าน แล้วพอพ่อแม่แก่ก็มีสถานดูแลผู้สูงอายุ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นธรรมเนียมของแต่ละประเทศ แต่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งด้านสถาบันครอบครัว มีความใกล้ชิด ความอบอุ่น และความเข้มแข็ง แต่เมื่อบริบทสังคมเปลี่ยนไป เริ่มมีความเป็นปัจเจกบุคคลเพิ่มขึ้น อันนี้จะเป็นปัญหา เราต้องดึงคุณค่าของสถาบันครอบครัวกลับมาใหม่ ซึ่งการทำแบบนี้ไม่ง่ายเพราะค่านิยมคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไป แต่ประเทศไทยอยู่มาได้ทุกวันนี้ เพราะค่านิยมประเพณีเหล่านี้ เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัวได้ ปัญหาก็จะถูกกำจัดออกไป

ต้องบอกว่าไม่ใช่แค่ตัวแทนจากทั่วโลกเท่านั้น แต่ทั้งสื่อไทยและภาคประชาชนกำลังจับจ้องอยู่ที่ผลจากการนำไปอภิปราย และการนำนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร  มาปรับใช้และเกิดเป็นนโยบายในอนาคต โดยนายวราวุธ กล่าวว่าหลังจากนี้จะมีการประสานไปยังทุกกระทรวงของรัฐบาล เพื่อได้ศึกษานโยบายดังกล่าวก่อนเป็นอันดับแรกอย่างละเอียด เพราะในสมุดปกขาวเล่มนี้ได้พูดถึงสภาพปัญหา ผลกระทบ และหนทางแก้ปัญหา ซึ่งจะเป็นการบ้านให้แต่ละกระทรวงได้ไปทำต่อ!

 

ทั้งนี้ นโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร ประกอบไปด้วยเสาการทำงาน 5 ต้น ประกอบด้วย

  1. เสริมพลังวัยทำงาน  เพื่อให้คนในวัยนี้สามารถตั้งตัวได้ สร้างและดูแลครอบครัวได้ และพร้อมที่จะสูงอายุอย่างมีคุณภาพในอนาคต 
  2. เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน
  3. สร้างพลังผู้สูงอายุ  พลิกวิกฤตทางประชากรให้เป็นโอกาส
  4. เพิ่มโอกาสและเสริมสร้างคุณค่าของคนพิการ
  5. สร้างระบบนิเวศ ที่เอื้อต่อความมั่นคงของครอบครัว

(อ่านรายละเอียดนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร ได้ที่ เปิดนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร 'วราวุธ' นำขึ้นเวที UN!)

 

โดยนายวราวุธเปิดเผยว่า ทั้ง 5 ด้านนี้ไม่สามารถเร่งด้านหนึ่งได้ เพราะเหมือนมีเสาห้าต้น ถ้าเร่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็จะเกิดความไม่สมดุล จึงต้องไปพร้อมๆ กัน อย่างเช่น ปัญหาเด็กและผู้สูงอายุต้องแก้ไปพร้อมกัน เพราะปัญหาตกไปที่วัยทำงาน ถ้าต้องดูแลพ่อแม่ก็ไม่อยากมีลูกแล้ว

‘แน่นอนว่ากระทรวงพม. ได้เริ่มดำเนินการในเรื่องผู้สูงอายุไปแล้ว เช่น การส่งเสริมที่พักอาศัย แต่ในหลายมิติต้องขอความร่วมมือจากหลายๆ กระทรวงนำข้อเสนอของเราไปแปลงเป็นแนวนโยบาย และช่วยกันนั่นเอง .. เพราะถ้าไม่เกิดการบูรณาการก็จะไม่เกิดผล’ นายวราวุธกล่าว

 

ปัญหาหนึ่งที่ดูจะเป็นความท้าทายของกระทรวงพม. ซึ่งเป็นกระทรวงที่เดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มตัว คือ ปัญหาโครงสร้างประชากรไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยขุมกำลังจากกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่ต้องมีการบูรณาการร่วมกัน

‘ปัญหาที่สำคัญคือ การบูรณาการการทำงานเข้าด้วยกัน เนื่องจากระบบราชการไทยเป็นระบบใหญ่ ข้อมูลในแต่ละหน่วยงานมีมากมาย แต่ไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ หรือข้อมูลที่ได้มาไม่ได้อยู่ในระบบ ซึ่งการประเมินอะไรก็จะลำบาก เพราะฉะนั้นการจะเดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องนี้ต้องเริ่มจากการบูรณาการร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย’ นายวราวุธกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกระทรวงพม. ได้เริ่มปรับเปลี่ยนและรวมองคาพยพต่างๆ ของพม. เพื่อที่จะเข้าไปประสานงานกับกระทรวงอื่นๆ ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น เพราะเพิ่งได้รับการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งจากนี้ไปจะมีการประชุมทุกเดือน ว่ากลุ่มต่างๆ นี้ได้เข้าไปมีการพูดคุยและเข้าไปแก้ไขปัญหาอย่างไร

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า นโยบายปัจจุบันของรัฐบาลดูจะมุ่งเน้นไปที่การแก้วิกฤตเศรษฐกิจ แต่การแก้วิกฤตโครงสร้างประชากรเป็นการแก้ในมิติเชิงสังคม การดำเนินนโยบายดังกล่าวจะทำได้มากน้อยแค่ไหน?

ต้องบอกว่าปัญหาวิกฤตประชากรอีกไม่เกิน 10 ปีต่อจากนี้ เราจะต้องเจอกับปัญหานี้แน่นอน’ นายวราวุธกล่าว

‘ถ้าวันนี้ถ้าเราไม่แก้ปัญหาโครงสร้างประชากร ปัญหาเศรษฐกิจจะตามมา ประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาด้านการบริการมากพอสมควร เช่น การบริการด้านการท่องเที่ยว ซึ่งยังต้องใช้แรงงานคน ถ้าอย่างนั้นประชากรไทยลดลงเราจะเอาแรงงานไหนมาอยู่ในภาคการบริการ เราจะเอาแรงงานที่ไหนมาอยู่ในภาคการผลิต Demand จะมาจากไหนเมื่อคนลดลง เมื่อคนลงลง Demand หาย Supply หาย ฉะนั้น GDP ของประเทศก็จะลงลง เพราะฉะนั้นวันนี้ปัญหาสังคมกำลังจะกลายเป็นสึนามิทับปัญหาเศรษฐกิจของจริง ถ้าเรายังไม่ได้แก้ปัญหา

 

หากมองไปที่สังคมโลกทุกวันนี้ ปัญหาโครงสร้างประชากรใช้เวลาแก้นาน และดูเหมือนว่าประเทศที่เผชิญปัญหานี้ก่อนใครอย่าง ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้

‘ไม่มีอะไรแก้ไม่ได้แต่ใช้เวลาแก้ปัญหา เพราะเป็นการแก้ที่ความรู้สึกคนจากที่ไม่อยากมีลูก ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย จะทำยังไงไม่ให้การมีลูกเป็นภาระ ไม่ได้แก้ภายใน 2-3 ปีแน่นอน อย่างน้อยก็ต้องมี 5-7 ปี ถ้าไม่เริ่มแก้วันนี้ก็จะเป็นระเบิดเวลาลูกโต’ นายวราวุธชี้ถึงความเร่งด่วนของการแก้ปัญหา

 

สำหรับประเทศไทยที่กำลังเดินทางเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มสูบ! การดำเนินนโยบายแก้วิกฤตโครงสร้างประชากรจะถูกสานต่ออย่างต่อเนื่องหรือไม่และอย่างไรจึงเป็นที่น่าจับตา

ปัญหานี้ไม่ง่าย และยังไม่มีประเทศไหนสำเร็จ การที่ฝ่ายรัฐหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดอย่างจริงจังและลงมือแก้อย่างจริงจังอาจเป็นครั้งแรกในไทย และการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเข้ามาแก้ไขโดยด่วน จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตาม แม้แต่ภาคประชาชนเองก็เช่นกันที่อาจต้องมีการรณรงค์ให้ตระหนักถึงวิกฤตความรุนแรงนี้ไปพร้อมๆ กับการดำเนินนโยบายของภาครัฐ!