จุฬาฯ เตรียมเปิดบริการ CAR-T cell เพื่อรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองปลายปีนี้!
โพสต์ทูเดย์ติดตามความคืบหน้าวิจัย CAR-T cell แพทย์ฯ จุฬาฯ ล่าสุดเตรียมเปิดรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดบีเซลล์หลังวิจัยได้ผลดี รักษาผู้ป่วยที่มีโอกาสรอดแค่ 1% ภายใน 1 ปี มีชีวิตต่อได้ เผยความหวังเข้าสู่สิทธิหลักประกันสุขภาพเช่นเดียวกับการปลูกถ่ายไขกระดูก
นายแพทย์กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ หัวหน้าหน่วยวิจัยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ให้ข้อมูลกับโพสต์ทูเดย์เกี่ยวกับความคืบหน้า โครงการนวัตกรรมเซลล์บำบัดมะเร็ง CAR-T cell ซึ่งเรียกว่าเป็นโอกาสใหม่ของการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไทย
- เตรียมให้บริการใช้ CAR-T cell กับผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองปลายปีนี้!
สำหรับการวิจัยเรื่องนวัตกรรม CAR-T cell นั้นได้มีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยเฉพาะในประเภทที่ใช้ในการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดบีเซลล์ (CD19 CAR-T cell) ได้มีการรักษาคนไข้ในคลินิก 10 กว่าคน ซึ่งเป็นกลุ่มคนไข้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบอื่น หรือในกลุ่มของคนไข้ที่มีโอกาสกลับเป็นซ้ำ และไม่สามารถรักษาแบบอื่นได้ผลแล้ว และต้องเข้าสู่กระบวนการรักษาแบบประคับประคอง ก็จะเป็นผู้ที่มารับการรักษาด้วย CAR-T cell โดยพบว่ากลุ่มนี้เมื่อได้รับ CAR T cell แล้วจะพบว่ามีโอกาสหาย 50-70% ซึ่งมีผลเทียบเท่ากับการรักษาในต่างประเทศซึ่งต้องจ่ายในราคาแพง และไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง
โดยนายแพทย์กรมิษฐ์ ได้เปิดผลการตรวจของคนไข้รายหนึ่งให้กับผู้สื่อข่าวดูและพบว่า ก้อนเนื้อลิมโฟม่า หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองขนาดมากกว่า 10 ซม.ซึ่งเกิดบริเวณช่วงท้องของคนไข้ คนดังกล่าวนั้นหายไปจนหมดหลังจากให้ CAR-T cell ภายในเวลาหนึ่งเดือน และเมื่อตามผลการทดลองระยะเวลา 2 ปี พบว่าก็ยังไม่มีโรคกลับมา
' การรักษาที่ได้ผลแบบนี้เรียกได้ว่าเป็นการเปิดโอกาสใหม่สำหรับการรักษามะเร็งเลือดในไทย เพราะตามปกติคนไข้คนนี้หากไม่ได้รักษาด้วย CAR-T cell ก็น่าจะเสียชีวิตไปแล้ว เพราะปกติการรักษามะเร็งเลือดให้กับคนในกลุ่มนี้ไม่มีทางรักษาแล้ว นอกจากนี้แม้แต่ในอเมริกาเองก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงได้ เพราะราคาสูงมาก ' นพ.กรมิษฐ์กล่าว
โดยทั่วไปผู้ป่วยกลุ่มที่มีโรคกลับเป็นซ้ำหรือดื้อต่อการรักษามาตรฐาน จะตอบสนองกับการรักษาอื่นอยู่ที่น้อยกว่าร้อยละ 10% และโอกาสรอดมีชีวิตมากกว่าหนึ่งปีน้อยกว่า 1% โดย ในการรักษากับคนไข้มะเร็งต่อมน้ำเหลือง 10 รายด้วย CAR T cell พบว่า โดยส่วนใหญ่การตอบสนองคือก้อนมะเร็งหายไปทั้งหมด 7 คน อีกหนึ่งคนหายไปบางส่วนแต่เหลือเป็นส่วนน้อย และอีก 2 คนคือก้อนเนื้อไม่ได้โตขึ้นแต่อย่างใด โดยกลุ่มคนไข้ดังกล่าวมีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 20-70 ปี
' CD-19 CAR-T cell เป็นการรักษาที่ได้รับการอนุมัติในต่างประเทศแล้ว เรามีสถานที่ผลิตภายในโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองจาก อ.ย. เป็นที่เรียบร้อย รวมถึงผลการวิจัยการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองด้วย CAR T cell ที่ผลิตขึ้นได้เองภายในโรงพยาบาล มีผลดี และความปลอดภัยสูงจึงเริ่มได้เริ่มดำเนินการจดแจ้งสถานที่ผลิตและรับรองผลิตภัณฑ์กับ อ.ย. โดยคิดว่าน่าจะให้บริการในโรงพยาบาลจุฬาฯแก่ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดบีเซลล์ ที่แพทย์ผู้รักษาพิจารณาแล้วว่าเหมาะสมในการใช้ CAR T cell ได้ ภายในปลายปีนี้โดยกำลังการผลิตโดยสถานที่เดิมจะผลิตได้ประมาณ 20 เคสต่อปี ตอนนี้เราขยายสถานที่ผลิตเพิ่ม และมีการเสริมอุปกรณ์ต่างๆเพื่อให้ผลิตได้มากขึ้น โดยต้นปีหน้าคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในสถานที่ผลิตส่วนต่อขยายและจะสามารถผลิตได้ถึงระดับ 100 เคสต่อปี '
สำหรับบุคลากรทางสาธารณสุขนั้น การรักษาด้วย CAR-T cell จะมีขั้นตอนการทำคล้ายกับการปลูกถ่ายไขกระดูก ในสถานพยาบาลที่ทำปลูกถ่ายไขกระดูกได้ก็สามารถขยายไปสู่การรักษาด้วย CAR-T cell ได้ นอกจากนี้เรายังมีการสอนแพทย์ใหม่ๆ ที่ดูแลโรคเลือด ซึ่งกำลังจะจบให้สามารถดูแลและรักษาด้วย CAR-T cell ได้อีกด้วย
- พยายามลดค่าใช้จ่ายเพื่อเข้าสู่สิทธิหลักประกันสุขภาพ แต่อาจเจอด่านหินเรื่อง 'ความคุ้มค่า'
สิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการวิจัยโครงการดังกล่าวเนื่องจากการรักษาด้วย CAR-T cell ในเมืองนอกนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงราว 15-20 ล้านบาท คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จึงตั้งใจจะลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้ผู้ป่วยไทยได้เข้าถึงการรักษามากขึ้น โดยปัจจุบันสามารถรักษาโดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1-3 ล้านบาทต่อคน ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 5-10 เท่า และตั้งเป้าจะลดรายจ่ายลงอีกหากสามารถพัฒนาระบบการผลิต และเพิ่มเคสมากขึ้นเพื่อแชร์ต้นทุนในการดูแลระบบ
สำหรับการตั้งเป้าสู่สิทธิหลักประกันสุขภาพนั้น นพ.กรมิษฐ์เปิดเผยว่า อาจจำเป็นต้องมีจำนวนตัวเลขเคสมากขึ้น เพื่อดูว่าประสิทธิภาพนั้นมากพอ โดยสิทธิหลักประกันสุขภาพส่วนใหญ่จะคำนึงถึงเรื่อง 'ความคุ้มค่า' โดยเราพยายามพัฒนาให้ราคาใกล้เคียงกับการปลูกถ่ายไขกระดูก เพราะการปลูกถ่ายไขกระดูกได้รับการรับรองในสิทธิประกันสังคม สิทธิ 30 บาท และของกรมบัญชีกลาง ซึ่งราคาของการปลูกถ่ายไขกระดูกก็อยู่ที่ 1-2 ล้านบาท '
- พัฒนารักษาโรค SLE แพ้ภูมิตัวเอง
นอกจากการรักษามะเร็ง ปัจจุบันโครงการได้พัฒนาไปสู่การนำ CAR-T cell ไปรักษาผู้ป่วยที่เป็น SLE หรือแพ้ภูมิตนเอง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ผลิตภูมิต้านทานตนเองออกมาจากเม็ดเลือดขาวชนิดบีเซลล์ที่เป็นเป้าหมายของ CD-19 CAR T cell เช่นเดียวกัน เมื่อใช้ CAR-T cell เข้าไปรักษาก็จะสามารถทำลายเซลล์ที่ผลิตแอนติบอดีที่ผิดปกติเหล่านี้ได้เช่นกัน สำหรับในต่างประเทศมีการทดลองใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่นได้ผลดีมาก ซึ่งโดยปกติกลุ่มผู้ป่วยโรคดังกล่าว จะต้องกินยากดภูมิไปตลอดชีวิต และมีบางกลุ่มที่กินยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
ทางโครงการจึงทำวิจัยทางคลินิกและได้เริ่มให้การรักษาทั้งหมด 2 เคส ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอะไรเลย และมีอาการอยู่ตลอดเวลา เมื่อทำการรักษาพบว่า คนแรกหยุดยาได้ 3 เดือนและไม่มีอาการกลับมา อีกคนหยุดยาได้ 2 เดือน และไม่มีอาการกลับมา และเมื่อตรวจก็พบว่าไม่มีเซลล์ผิดปกติเหล่านี้กลับมา
- สู่ความหวังการรักษาผู้ป่วยมะเร็งแบบก้อน
นอกจากนั้น นพ.กรมิษฐ์ เปิดเผยอีกว่า ทางโครงการยังได้รับทุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการพัฒนา CAR-T cell ชนิดใหม่ สำหรับการรักษามะเร็งแบบก้อน ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทดลองในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งสมองในเด็ก โดยการรักษามะเร็งประเภทนี้แม้แต่ในต่างประเทศก็ยังไม่มีประเทศไหนที่พัฒนาไปสู่ขั้นตอนการรักษาและได้รับการรับรอง เนื่องจากมีความซับซ้อนมากกว่า แต่ก็เป็นอีกหมุดหมายหนึ่งเพราะการรักษามะเร็งแบบก้อนนั้น เป็นมะเร็งที่พบมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งสมอง มะเร็งปอด มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งเต้านม ฯลฯ
ซึ่งทางโพสต์ทูเดย์ จะติดตามผลงานวิจัยที่สามารถพลิกชีวิตคนไข้มะเร็งที่ดื้อต่อการรักษาชิ้นนี้ และนำมาเสนอต่อไป.
ทั้งนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันงานวิจัยรักษามะเร็ง พัฒนาการรักษามะเร็งแบบใหม่ด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด รวมถึง การเพิ่มศักยภาพในการผลิตเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัดเพื่อรองรับความต้องการของผู้ป่วยในอนาคต ด้วยการเลือกบริจาคให้กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ (ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า) ผ่านระบบ CU Giving ดังลิงก์ที่แนบมานี้ https://www.chula.ac.th/about/giving/giving-application-form/
หรือ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ Facebook page: Cellular Immunotherapy Research Unit Chulalongkorn University