posttoday

สหรัฐฯพัฒนาตัวชี้วัดอาการบาดเจ็บทางสมองผ่านการดมกลิ่น

01 กรกฎาคม 2567

อาการบาดเจ็บทางสมอง นับเป็นอาการที่วินิจฉัยยากแม้แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จำเป็นต้องมีการทดสอบอย่างละเอียดผ่านอุปกรณ์เฉพาะทาง แต่จะเป็นอย่างไรถ้าจากนี้เราตรวจอาการบาดเจ็บทางสมองได้ผ่านการดมกลิ่น

เชื่อว่าทุกท่านคงรู้จักอาการบาดเจ็บทางสมองกันไม่มากก็น้อย กับความเสียหายที่เกิดจากการกระทบกระเทือนบริเวณกะโหลกศีรษะจนส่งผลกระทบต่อสมองที่อยู่ภายใน ระดับอาการมีตั้งแต่สับสน, ปวดหัว, คลื่นไส้, วิงเวียน ไปจนปัญหาต่อสมองและระบบประสาทอย่างถาวร

 

          หนึ่งในเรื่องน่าปวดหัวสำหรับอาการบาดเจ็บทางสมองคือ ความยากในการระบุและคัดกรองผู้ได้รับบาดเจ็บทางสมอง เพราะบางครั้งอาการบาดเจ็บเหล่านี้ไม่แสดงผลในทันทีแต่ต้องรอเวลา หลายครั้งผู้ป่วยชะล่าใจแล้วกลับไปใช้ชีวิตตามปกติจนนำไปสู่อาการบาดเจ็บอย่างรุนแรง

 

          นี่จึงเป็นเหตุผลให้มีการพัฒนาตัวชี้วัดอาการบาดเจ็บทางสมองแบบใหม่โดยอาศัยกลิ่น

 

สหรัฐฯพัฒนาตัวชี้วัดอาการบาดเจ็บทางสมองผ่านการดมกลิ่น

 

ตัวชี้วัดอาการบาดเจ็บทางสมองรุ่นใหม่ผ่านกลิ่น

 

          ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Southwest Research Institute (SwRI) กับการคิดค้นตัวชี้วัดอาการบาดเจ็บทางสมองรูปแบบใหม่ เพียงให้ผู้ได้รับการกระทบกระเทือนดมกลิ่นซึ่งถูกบรรจุไว้ในแบบทดสอบ ก็จะช่วยยืนยันได้ทันทีว่าผู้เข้ารับการทดสอบมีอาการบาดเจ็บทางสมองหรือไม่

 

          แนวคิดนี้เกิดจากอาการของผู้ได้รับบาดเจ็บทางสมองซึ่งมักไม่แสดงอาการในช่วงแรก ทำให้ผู้ป่วยถูกละเลยไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างละเอียดและปล่อยให้ไปสังเกตอาการที่บ้าน แต่หลายครั้งเมื่ออาการบาดเจ็บกำเริบจึงไม่สามารถช่วยผู้ป่วยทันท่วงทีจนทำให้เกิดความเสียหายอย่างถาวร

 

          นี่เป็นเหตุผลให้ทีมวิจัยพัฒนาชุดทดสอบ Advanced Military Measure of Olfaction (AMMO) ชุดสอบกลิ่นชนิดพิเศษที่ออกแบบเพื่อค้นหาผู้ได้รับบาดเจ็บทางสมองโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อร่างกายผู้ป่วยในระยะยาว

 

          ชุดทดสอบประกอบด้วยขวดบรรจุกลิ่น 6 ขวดซึ่งมีรูปแบบกลิ่นแตกต่างกัน จากนั้นเมื่อทำการบีบขวดให้เป็นสีน้ำเงินกลิ่นจะลอยออกมา ให้ผู้ป่วยทำการดมกลิ่นเหล่านั้นแล้วเริ่มทำแบบทดสอบให้เลือกกลิ่นที่ได้รับจากตัวเลือก 4 ข้อ ทำจนครบทุกขวดก็สามารถนำผลลัพธ์ไปประเมินอาการบาดเจ็บทางสมองต่อไป

 

          ในกรณีที่ผู้ป่วยถูกกระทบกระเทือนจนบาดเจ็บทางสมอง ความเสียหายมักทำให้สมองส่วนหน้าที่เรียกว่า olfactory bulb ทำงานผิดพลาด ส่งผลให้ไม่สามารถรับรู้กลิ่นผิดพลาด รับรู้กลิ่นที่ไม่มีอยู่จริง ไปจนสูญเสียการรับรู้กลิ่น ซึ่งจะเป็นสัญญาณที่ช่วยให้ผู้ป่วยยืนยันอาการได้แน่ชัด

 

          ถือเป็นแนวทางใหม่ในการตรวจสอบและรับมือกับอาการบาดเจ็บทางสมอง

 

สหรัฐฯพัฒนาตัวชี้วัดอาการบาดเจ็บทางสมองผ่านการดมกลิ่น

 

ประโยชน์ของชุดทดสอบกลิ่นต่ออาการบาดเจ็บทางสมอง

 

          แน่นอนหลายท่านอาจรู้สึกว่าทดสอบการดมกลื่นยังไม่เพียงพอในการยืนยัน เป็นไปได้ว่าอาจมีการคลาดเคลื่อนจนไม่สามารถหาผลลัพธ์แน่ชัด แต่ทางทีมวิจัยยืนยันว่าชุดทดสอบนี้ไม่ได้ถูกนำมาใช้ทดแทนการตรวจวินิจฉัยของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แต่เป็นตัวคัดกรองเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยเท่านั้น

 

          จุดเด่นของชุดทดสอบนี้คือความง่ายและสะดวกในการใช้งาน อาศัยเพียงชุดทดสอบและผู้ได้รับบาดเจ็บที่ยังมีสติเพื่อดมกลิ่นเท่านั้น สามารถตรวจสอบอาการบาดเจ็บทางสมองเบื้องต้นได้ทันทีโดยไม่ต้องพึ่งเครื่องมือเฉพาะทางหรือพลังงานไฟฟ้า จึงรองรับการตรวจได้ทุกที่ทุกเวลา

 

          อันดับต่อมาคือขั้นตอนการใช้งานที่เรียบง่าย อาศัยเพียงการเปิดขวดให้ดมแล้วเทียบผลตามคู่มือ ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีความรู้ความชำนาญหรือการฝึกอบรมเป็นพิเศษ แต่สามารถคัดกรองอาการบาดเจ็บทางสมองเบื้องต้น เป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ป่วยและแพทย์ที่ทำการรักษาเป็นอย่างยิ่ง

 

          ชุดทดสอบกลิ่นนี้มีขนาดกะทัดรัด พกพาสะดวก และไม่มีอันตรายในการใช้งาน หากพัฒนาได้สำเร็จนี่อาจเป็นอุปกรณ์อีกชนิดในชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น เหมาะสมต่อการใช้งานในหลายพื้นที่ เช่น ในสนามรบ, พื้นที่ภัยพิบัติ, แผนกฉุกเฉิน, บ้านพักคนชรา, สถานศึกษา, สนามกีฬา ฯลฯ

 

          อุปกรณ์ตรวจวัดนี้จะช่วยให้สามารถคัดกรองผู้บาดเจ็บให้เข้ารับการรักษาทันท่วงที ลดอาการตกค้างที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพ ร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และความทรงจำในระยะยาว ทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุไปจนผู้ป่วยวิกฤติทั้งหลายมีโอกาสได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติมากขึ้น

 

          นับเป็นอุปกรณ์เรียบง่ายที่อาจช่วยพลิกผันชีวิตของคนจำนวนมากเลยทีเดียว

 

 

 

          น่าเสียดายชุดทดสอบกลิ่นนี้ยังไม่มีผลิตภัณฑ์ออกมาใช้งาน ขาดผลการทดสอบทางสถิติมายืนยันจึงดูกังขาในความน่าเชื่อถือไปบ้าง แต่ด้วยกลไกการใช้งานที่เรียบงายหากได้รับการพัฒนาเป็นผลสำเร็จ คาดว่านี่จะเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับอนุมัติการใช้งานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยง่าย

 

          คงต้องรอดูต่อไปว่าสุดท้ายนวัตกรรมนี้จะประสบความสำเร็จให้เราออกมาใช้งานหรือไม่

 

 

 

          ที่มา

 

          https://interestingengineering.com/health/traumatic-brain-injury-screening-kit

 

          https://www.swri.org/press-release/swri-develops-screening-tool-traumatic-brain-injuries