posttoday

เปิดตัว 'Mobile School' การศึกษาที่ตอบโจทย์ทุกคน ทุกที่ 24 ชั่วโมง!

01 กรกฎาคม 2567

กสศ.เปิดตัวการเดินทางครั้งแรกของ 'Mobile School' นำการศึกษาไปหาเด็กที่ออกจากระบบหรือเข้าเรียนไม่ได้ เน้นเรียนผ่านการทำงาน ให้หน่วยกิตจากประสบการณ์และการทำงาน ชูเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา 24 ชั่วโมง ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ทุกเงื่อนไขชีวิต โดยเปิดรับสมัครเสาร์นี้!

กสศ. หรือ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดตัวการเดินทางครั้งแรกของโครงการ Mobile School การศึกษาที่ยืดหยุ่นและตอบโจทย์ชีวิต เปิดรับสมัคร เด็กและเยาวชนที่ออกจากระบบการศึกษาให้กลับมาเรียนต่อ ช่วงชั้นป.6 ม.ต้น และม.ปลาย วันเสาร์ที่ 6 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.00 – 15.00 น. โดมลานกีฬาของชุมชนคลองเตยล็อก 4-5-6

 

  • Mobile School น่าสนใจอย่างไร ? 

* ห้องเรียนแนวใหม่ ตอบโจทย์ทุกเงื่อนไขชีวิต จัดการศึกษาโดยเครือข่ายศูนย์การเรียน โดยสถาบันทางสังคม ร่วมกับแหล่งเรียนรู้มากมาย
* Learn to Earn เรียนรู้ผ่านการทำงาน 
---- ประสบการณ์ และงานที่ทำอยู่ จะเทียบโอนเป็นหน่วยกิตได้
---- ทางเลือกงานสร้างรายได้ใหม่ๆ ได้ประโยชน์ 2 ต่อ เพิ่มรายได้และเทียบโอนความรู้ ประสบการณ์เป็นหน่วยกิต สะสมเป็นวุฒิการศึกษา

* เรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

 

  • Anywhere Anytime เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา 24 ชั่วโมง ยืดหยุ่น ตอบโจทย์ทุกเงื่อนไขชีวิต 

 ในงานจะได้พบกับอะไรบ้าง ? 
* เปิดมุมมองมองทางเลือกอาชีพใหม่ๆ 
* มุมที่ปรึกษา ช่วยกันออกแบบเส้นทางการศึกษายืดหยุ่นตอบโจทย์ชีวิต
* เลือกหลักสูตรที่สนใจ ดีไซน์แผนและตารางเรียนของตัวเอง ตามเงื่อนไขชีวิตจริง
* แบ่งปันประสบการณ์จากเพื่อน พี่ น้อง 
* สมัครเรียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย 
* ธนาคารโอกาส และศูนย์แบ่งต่อ มูลนิธิกระจกเงา สนับสนุนอุปกรณ์และสื่อเพื่อการเรียนรู้ 
 

ริเริ่ม โดย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) เครือข่ายศูนย์การเรียนโดยสถาบันทางสังคม ตามมาตรา 12 แห่งพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542  โดยได้รับการสนับสนุนแหล่งเรียนรู้ จาก กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย ALL FOR EDUCATION ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ชุมชน 

 

  • Thailand Zero Dropout นโยบายช่วยเหลือเด็กหลุดจากระบบ 1.02 ล้านคนกลับมาเรียน 

โครงการ Mobile School เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบาย Thailand Zero Dropout ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าสำคัญในประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษาไทยที่รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งปัญหาการหลุดออกจากระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชนกว่า 1 ล้านคนนั้น ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสและมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ทั้งยังส่งผลต่อความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้น หากประเทศไทยสามารถพาเด็กกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ จะทำให้ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) เติบโตได้ถึงร้อยละ 1.7 ต่อปี 

โดยมาตรการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ Thailand Zero Dropout  ประกอบด้วย4 มาตรการ คือ

  1. มาตรการค้นหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ผ่านการบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  2. มาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาโดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ
  3. มาตรการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น มีคุณภาพ และเหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย
  4. มาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการภาคเอกชนให้เข้ามาร่วมจัดการศึกษาหรือเรียนรู้