posttoday

เสียงสะท้อน LGBTQ+ คุมฮอร์โมนผิดจนน็อค หนุน สปสช. นำเข้าสู่สิทธิขั้นพื้นฐาน

03 กรกฎาคม 2567

เสียงสะท้อนของคน LGBTQ+ เมื่อ สปสช.กำลังพิจารณาการบรรจุ ‘การรับฮอร์โมน’ ไว้ในสิทธิหลักประกันสุขภาพพื้นฐานสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ ชี้ฮอร์โมน เป็นเรื่องที่จำเป็นต่อทุกคน ไม่เลือกเพศและวัย! ไม่ใช่แค่เรื่องสวยงาม แต่คือเรื่องสุขภาพกาย-ใจที่สำคัญ

ช่วงปลายปี 2566  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาความเหมาะสมในการบรรจุ ‘ฮอร์โมน’ สำหรับ LGBTQ+ ลงในชุดสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่ง สปสช. อยู่ระหว่างการศึกษาถึงผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย ความคุ้มค่า และความเหมาะสมของการเข้าถึงการใช้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ และบริการที่เกี่ยวข้องสำหรับประชากรข้ามเพศและผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ซึ่งต้องยอมรับว่ามีความซับซ้อน และข้อมูลบางจุดอาจจะยังไม่เพียงพอและต้องการการวิจัยและรวบรวมข้อมูลอยู่พอสมควร!

โพสต์ทูเดย์จึงขอฟังเสียงตัวแทน LGBTQ+ คุณอดิศรา  ดารากุลรัศมี หรือ เจแปน ที่ปรึกษาผู้ตรวจราชการแผ่นดินภาคประชาชนด้านวิชาการ จังหวัดตาก และนักวิทยาศาสตร์การอาหารอิสระ  ถึงประเด็นดังกล่าว และแง่คิดในเรื่อง ‘ฮอร์โมน’ ว่ามีความจำเป็นอย่างไร

 

เสียงสะท้อน LGBTQ+ คุมฮอร์โมนผิดจนน็อค หนุน สปสช. นำเข้าสู่สิทธิขั้นพื้นฐาน

  • จากประสบการณ์ตรง การคุมฮอร์โมนแบบผิดๆ ทำเอาน็อค เสี่ยงต่อการรับฮอร์โมนผิดกฎหมาย

คุณเจแปนคือหนึ่งในตัวอย่างของ LGBTQ+ ที่เคยเจอกับประสบการณ์การคุมฮอร์โมนแบบผิดๆ โดยเธอมองว่าเป็นเพราะขาดการเข้าใจในเรื่องการดูแลสุขภาพอย่างแท้จริง รวมไปถึงในอดีตการเข้าถึงการใช้ฮอร์โมนแบบถูกต้องก็เป็นเรื่องยาก

ต้องบอกตามตรงว่า โอกาสร้อยเปอร์เซนต์เลยที่เราจะรับฮอร์โมนที่ผิดกฎหมายค่ะ ในอดีตตอนนั้นเพราะยังไม่มีใครรองรับ ไม่มีใครสนใจ ไม่รู้จะหาข้อมูลจากไหน” คุณเจแปนเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ของเธอในฐานะที่อยากข้ามไปเป็นเพศหญิง ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน และมองว่าปัจจุบันก็ยังคงมีเรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นอยู่

เมื่อก่อนเรารู้จากรุ่นพี่อยากสวย อยากละมุน ต้องกินยาคุม คือการกินย้อนศร ซึ่งเป็นความรู้แบบผิดๆ กระเทยทุกคนก็จะกินยาคุมกำเนิดเป็นหลัก  เจแปนทานไปเราไม่รู้ว่ากินได้มากหรือน้อยแค่ไหน กินไปคือติดต่อกัน จนมึนหัว และน็อคไปเลย เพราะเราไม่รู้ กินหมดแผงเพราะไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานไหนให้ความรู้ในประเด็นนี้เลย

หลังจากนั้นเจแปนก็หันมาเทคฮอร์โมน เดือนละครั้ง สำหรับเจแปนก็แน่นอนว่าทำให้รู้สึกเป็นผู้หญิงมากขึ้น ละมุนขึ้น กล้ามเนื้อเป็นผู้หญิงมากขึ้น แต่หลักๆ คือสภาวะจิตใจค่ะ”

 

นอกจากประเด็นด้านสุขภาพร่างกาย สภาวะจิตใจคืออีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญ เมื่อเพศสภาพไม่ตรงกับความต้องการจริงของเจ้าตัว

“ เราพบว่าคนที่ไม่ได้กินยาฮอร์โมนเลย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่ผ่าตัดแปลงเพศมาแล้ว บางคนต่อมไร้ท่อในลูกอัณฑะถูกตัดไปแล้วแบบนี้ก็จะมีเอฟเฟกต์ต้องเติมฮอร์โมนตลอด ฮอร์โมนกลายเป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตเลย ถ้าไม่ได้รับก็เหมือนขาดอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งไป

ส่วนในกรณีที่เพศหญิงเป็นชาย ต้องได้รับฮอร์โมน 100% บางคนตัดรังไข่ออกไปเลย ตัดหน้าอกออกไป ทอมบางคนอยากจะเป็นชาย เขาก็จะมองเรื่องกล้ามเนื้อ เสียง ผิวหน้า ก็จะต้องเทคฮอร์โมนเพศชายเข้าไป ซึ่งทุกคนก็มีความสุขขึ้นนะคะ อย่างคนรอบข้างเพื่อนเราก็มีความสุข สมความปรารถนา ถึงแม้จะไม่ร้อยเปอร์เซนต์ แต่ก็เป็นไปในทิศทางที่ดี

และสุดท้ายคือมองในมิติของสุขภาพจิตด้วย ไม่ใช่แค่ LGBTQ+ แต่คนรอบข้างด้วย เพราะเขาจะรู้สึกว่าคนที่รักปรากฎสภาพที่เหมาะสมกับสิ่งที่อยากเป็น ก็จะมีความสุขมากขึ้น”

โดยคุณเจแปนเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่าเพื่อนที่เป็นทอมนั้น บางคนไม่ยอมรับฮอร์โมนเพราะติดประเด็นว่า ทำไมถึงต้องจ่ายเงินซื้อฮอร์โมนเอง ในเมื่อมันควรจะเป็นสิทธิพื้นฐาน เขาไม่ได้ต้องการเกิดมาด้วยเพศนี้ เมื่อไม่ได้รับฮอร์โมนบางคนก็จะโดนบุลลี่บ้าง แซวบ้างว่าเป็นทอมไม่จริงหรือเปล่า เป็นผู้หญิงทำไมพูดครับ เพราะร่างกายยังเป็นหญิง ทั้งๆ ที่หากรับฮอร์โมนก็จะสามารถเป็นตัวเองได้ไกลกว่านี้

 

  • การเข้าถึงบริการฮอร์โมนในพื้นที่ห่างไกล สามารถเสริมได้ด้วยพลังของ อสม.

จากการให้สัมภาษณ์ปลายปีที่แล้วของเลขาธิการสปสช. ระบุว่าปัญหาของสิทธิประโยชน์ต่อเรื่องประเด็นของการรักษาคนข้ามเพศทั้งในเรื่องการผ่าตัดและการให้ฮอร์โมนนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิประโยชน์แต่เป็นเรื่องระบบบริการด้วยว่ามีความพร้อมหรือมีมาตรฐานอย่างไร สอดคล้องกับมุมมองของคุณเจแปนที่มองว่า ตามชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลยังสามารถเข้าถึงการบริการได้ยาก เพราะไม่มีบุคลากรที่เพียงพอ

“ หลังๆ เจแปนไม่ได้รับฮอร์โมนมาเป็นเวลา 5 ปีแล้วค่ะ เพราะตัวเจแปนอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ชายแดน อย่างแม่สอด การเข้าถึงฮอร์โมนก็ยากมากค่ะ ก็มีผลกระทบกับร่างกายแล้วแสดงถึงความเป็นผู้ชายมากขึ้น อย่าง ขนหน้าแข้ง กล้ามเนื้อต่างๆ

จริงๆ แล้วทางสาธารณสุขก็มีหน่วยปฐมภูมิที่มีประสิทธิภาพนะคะ วันนี้เรามี รพ.สต. เข้าถึงทุกที่ แต่ว่าอาจไม่ครอบคลุมในเรื่องขององค์ความรู้ค่ะ อย่างตัวเจแปนติดตามเรื่อง อสม.นักวิทยาศาสตร์อยู่ ว่าทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังจะสร้างให้มีอสม.แบบนี้ เจแปนมองว่าถ้ามีจะได้ประโยชน์มาก

อย่างเช่น การเข้าถึงในเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ เนื่องจากนักโภชนากรในโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอ เพราะโภชนากรคนเดียวหรือสองคน ดูทั้งอำเภอ ซึ่งคนไทยป่วยหลักๆ คือ เบาหวาน มันเกี่ยวยังไงกับฮอร์โมน ก็เพราะเบาหวานเป็นโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและฮอร์โมนค่ะ เจแปนมองว่า อสม.วิทยาศาสตร์ จะสามารถวัดค่าต่างๆ ให้แก่คนในชุมชนได้ จะตอบโจทย์ เพราะแต่เดิมอสม.ที่เข้ามาอาจยังไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ หากเรามีอสม. ที่มีความรู้จะทำให้การคัดกรองเบื้องต้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะโรคเรื้อรังต่างๆ ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมและฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยค่ะ

ส่วน LGBTQ+ ตอนนี้ถ้าไม่ตรวจที่โรงพยาบาล หลังๆ เราขอบคุณมูลนิธิ M Plus ประเทศไทย ที่มีบริการตรวจฮอร์โมนให้ด้วยค่ะ จะระบุเลยว่าเรา  แต่อาจใช้เวลานานเดือนสองเดือนกว่าจะรู้ผล ไวสุดหนึ่งสัปดาห์ เขาจะบอกว่าปริมาณฮอร์โมนเหมาะสมหรือไม่ ต้องต่อเติมมากน้อยแค่ไหน”

 

  • สนับสนุนฮอร์โมนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน

คุณเจแปนเน้นย้ำว่าถ้าพูดถึง 'ฮอร์โมน' มันเป็นเรื่องของทุกคน และจากที่พูดคุยกับคุณเจแปนก็ทำให้ทราบว่า ฮอร์โมนที่ผิดปกติเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเผชิญได้ เพราะฉะนั้นฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศ ที่ต้องเกิดมาในเพศสภาพที่ไม่ตรงกับความต้องการและสร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิตก็ควรที่จะได้รับการสนับสนุนเช่นกัน

“ในส่วนตัวคิดว่า การให้ฮอร์โมนเข้าสู่สิทธิพื้นฐานมันคุ้มค่านะคะ ถ้าเราไม่มองแค่ว่าฮอร์โมนสำหรับ LGBTQ+ แต่มองว่าเป็นสำหรับทุกคน แล้วค่อยมาแยกย่อยว่าเป็นประเภทไหน” คุณเจแปนระบุ

“ยกตัวอย่างเช่น คุณปู่ของเจแปนอายุ 90 กว่า ระดับฮอร์โมนต่างๆ มันลดน้อยลง ทำให้เกิดการกระตุ้นการรับประทานอาหารน้อยลง คุณปู่ต้องทานยาเพื่อให้ทานอาหารได้มากขึ้น ก็เลยมองว่า ถ้าคนไทยเข้าถึงฮอร์โมนที่มีผลต่อการดำรงชีวิตได้ก็จะดีมาก โดยเฉพาะตอนนี้ที่เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

เราไม่ได้อยากโฟกัสให้แค่ LGBTQ+ ค่ะ มันมีความจำเป็นทุกเพศ ไม่ว่าจะชายหรือหญิง ฮอร์โมนที่มากไปหรือน้อยไป ก็สามารถใช้วิทยาศาสตร์ในการปรับได้เช่นกัน ก็จะเป็นผลดีต่อคนทุกวัยและทุกเพศ ในขณะที่เราสนับสนุนและส่งเสียงในประเด็นฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศ เราก็อยากให้ทางกระทรวงสาธารณสุข มองเห็นความหลากหลายในเรื่องของฮอร์โมนที่ครอบคลุมมากขึ้นไม่ใช่แค่ LGBTQ+ ค่ะ” คุณเจแปนกล่าวทิ้งท้าย

 

  • สวรส. วิจัยเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ 'การให้ฮอร์โมน' กับกลุ่มข้ามเพศ

ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวในฝั่งของกระทรวงสาธารณสุข หลังจากที่มีการประกาศไปเมื่อปลายปีที่แล้วว่าจะมีการพิจารณาเรื่องการบรรจุ ฮอร์โมน สำหรับคนข้ามเพศไว้ในสิทธิขั้นพื้นฐาน  เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข หรือ สวรส. ได้ออกมาแถลงความคืบหน้า การวิจัยเรื่อง  “การพัฒนาระบบการแพทย์ในการดูแลสุขภาวะของบุคคลข้ามเพศ” เพื่อศึกษาสถานการณ์การเข้าถึงบริการสุขภาพในด้านข้อมูลการใช้ฮอร์โมนข้ามเพศ สุขภาพจิต และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในบุคคลข้ามเพศ’ ตลอดจนจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพของบุคคลข้ามเพศในประเทศไทยต่อไป โดยพบประเด็นเกี่ยวกับฮอร์การให้ฮอร์โมนที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

 

  1. การเข้าถึงการรักษาของคนข้ามเพศเป็นการถูกเลือกปฏิบัติ โดยพบว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาเพื่อการข้ามเพศ ยังไม่ถูกครอบคลุมในสิทธิการรักษาใดด้วย ทำให้ผู้เข้ารับบริการจำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของยาที่ใช้ในการข้ามเพศ โดยเฉลี่ยสูงถึง 1,500-3,000 บาทต่อเดือน
  2. การรักษาด้วยฮอร์โมนมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนสรีระ แต่ในบุรุษข้ามเพศอาจเกิดผลต่อร่างกาย โดยบุรุษข้ามเพศ’ อาจเกิดผลข้างเคียงที่ทำให้ความดันเลือดสูงขึ้น, มีระดับกรดยูริกที่สูงขึ้น, ค่าความเข้มข้นของเลือดมีแนวโน้มสูงขึ้น และมีการทำงานของไตลดลงเล็กน้อยได้ ส่วน ‘สตรีข้ามเพศ’ การรักษาด้วยฮอร์โมนสามารถลดระดับความดันเลือดได้เล็กน้อย โดยทีมวิจัยกำลังจะศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องการหาค่าและปริมาณฮอร์โมนที่เหมาะสมต่อบุคคลข้ามเพศชาวไทย รวมถึงวิธีการรับฮอร์โมน
  3. ประเด็นสุขภาพจิต เมื่อติดตามการรักษาของบุคคลข้ามเพศที่เข้ารับการรักษาเพื่อการข้ามเพศในระบบของคลินิกเพศหลากหลาย โรงพยาบาลรามาธิบดี และ CMU Pride Clinic แผนกผู้ป่วยนอก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่า ภาวะซึมเศร้าและการวิตกกังวล มีอาการเพิ่มมากขึ้นเล็กน้อย แต่ภาวะทุกข์ใจในเพศสภาพลดลง
  4. จากประเด็นดังกล่าวนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย 9 ข้อ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการพัฒนาหลักประกันสุขภาพและสวัสดิการต่างๆ ของประเทศ ให้ครอบคลุมการบำบัดด้วยฮอร์โมนและการผ่าตัดเพื่อยืนยันเพศได้

 

การพิจารณาของ สปสช. ในประเด็นการบรรจุฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศไว้ใน สิทธิพื้นฐานด้านสุขภาพนั้น นอกจากจะมีการพิจารณาในประเด็นของสุขภาพและผลทางด้านสุขภาพแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จะได้รับการพิจารณาคือประเด็นของความคุ้มค่า ซึ่งก็ต้องรอดูว่าสปสช. จะเดินหน้าในประเด็นนี้อย่างไร เพราะความเท่าเทียมไม่ใช่แค่เรื่อง พรบ.สมรสเท่าเทียม .. พรบ.สมรสเท่าเทียมคือจุดเริ่มต้นเท่านั้น และทุกอย่างต้องตามให้ทันไม่เว้นแม้แต่สิทธิทางด้านสุขภาพพื้นฐานเช่นกัน.