ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น ชิงเค้ก 1,140 ล้าน! ตัวแทนไทยจัดประชุม InterPride
ภูเก็ต-เชียงใหม่-ขอนแก่น ชิงเป็นตัวแทนประเทศไทย เสนอตัวจัดประชุมงาน InterPride ของเหล่า LGBTQ+ ทั่วโลกในปี 2025 หวังชิงเค้ก 1,140 ล้านเข้าเมือง และส่งเสริมภาพลักษณ์ความเท่าเทียมของประเทศ ดีเดย์ 11 กรกฎาคมนี้
งาน InterPride Annual General Meeting & World Conference เป็นการประชุมของกลุ่ม Pride ที่มาจากทั่วโลกในเมืองที่ได้รับสิทธิการเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นโดยองค์กร InterPride เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรระดับโลกที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยงงานเทศกาลและงานอีเวนต์ของชุมชน LGBTQ+ ทั่วโลก ให้สามารถแบ่งปันทรัพยากร ความรู้ และประสบการณ์ระหว่างสมาชิกได้
InterPride มีสมาชิกกว่า 500 คน ใน 70 ประเทศ โดยประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่าการจัดประชุม InterPride Annual General Meeting & World Conference ครั้งหนึ่งจะสามารถดึงคนเข้าร่วมที่ 700-800 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ราว 1,140 ล้านบาท ในเวลาเพียง 5 วันของการจัดงาน และแน่นอนว่าจะเป็นอีกหนึ่งผลงานชั้นดีเพื่อที่จะเข้าใกล้การเป็นเจ้าภาพ WorldPride อย่างที่ไทยตั้งความหวังไว้ เพราะปีที่แล้วซึ่งมีการจัดงานที่ซิดนีย์ ได้ดึงดูดนักเดินทางกลุ่ม LGBTQ+ กว่า 1 ล้านคนเข้าประเทศ!
สำหรับงาน InterPride Annual General Meeting & World Conference ปี 2024 จัดขึ้นที่ประเทศโคลอมเบียในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ และหนึ่งในวาระที่สำคัญคือ การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานในปี 2025 ที่ไทยหวังจะคว้าสิทธิการจัดงานมาครอง ในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้ ประเทศไทยจึงได้จัดการคัดเลือกเมืองที่มีความพร้อมเพื่อไปเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าชิงกับเมืองอื่นๆ ทั่วโลก โดยมี 3 จังหวัดที่คอมมิวนิตี้ LGBTQ+ แข็งแรงและสนใจเป็นเจ้าภาพจัดงาน ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ต
ด้านนายพัฒนชัย สิงหวาระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคใต้ ซึ่งส่ง ‘ภูเก็ต’ เข้าชิงชัย ได้ให้สัมภาษณ์กับโพสต์ทูเดย์ถึงความสำคัญของการจัดงาน InterPride และข้อได้เปรียบของประเทศไทยในการลงชิงชัยระดับโลก
- ข้อได้เปรียบของไทยในเวทีโลก เพื่อชิงเจ้าภาพจัดงาน
นายพัฒนชัย สิงหวาระ กล่าวถึงข้อได้เปรียบของประเทศไทยในการชิงชัยเจ้าภาพจัดงาน ดังนี้
- ไทยเป็นปลายทางเป็นจุดหมายการเดินทางของคนทั่วโลก และมีความพร้อมด้าน Infrastructure ที่จะรองรับคนเข้ามาประชุม นอกจากนี้ไทยยังมีมาตรการ Free Visa ทำให้การเดินทางง่ายและสะดวกขึ้น
- ไทยผ่าน ‘สมรสเท่าเทียม’ แล้ว เห็นถึงความจริงจังของรัฐบาลต่อประเด็นความเท่าเทียม ซึ่งการตัดสินใจของคณะกรรมการ InterPride ส่วนหนึ่งจะดูในเรื่องของกฎหมายที่เอื้อให้เกิดความเท่าเทียมต่อกลุ่ม LGBTQ+ ด้วย
- คอมมิวนิตี้ LGBTQ+ ของไทยมีความแข็งแรง
- จุดขาย ‘ครั้งแรกในเอเชีย’ แข็งแรง เพราะการจัดงานประชุมนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในเอเชียมาก่อน ซึ่งทางนายพัฒนชัยกล่าวว่า ‘ได้ข้อมูลมาว่าทางคณะกรรมการอยากให้ประเทศที่อยู่ในซีกโลกตะวันออกได้งานนี้ไปบ้าง เพื่อขยายคอมมิวนิตี้ให้ใหญ่ขึ้นในโซนเอเชีย’
สำหรับเมืองที่ลงชิงชัยเป็นเจ้าภาพนั้น จะต้องผ่านด่านการพิจารณาของคณะกรรมการ และแสดงถึงความพร้อมของเมือง อันประกอบด้วยหลักเกณฑ์สำคัญๆ ได้แก่
- Infrastructure อย่างเช่น ความสะดวกในการเดินทาง ความจุของการประชุม สิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQ+ เช่น ห้องน้ำ หรือโรงพยาบาลที่จะมารับฮอร์โมนได้
- การมีส่วนร่วมของชุมชน โดยชุมชนไม่ได้ต่อต้านและยอมรับในเรื่องความหลากหลาย รวมไปถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของชุมชน เพราะบางที่อาจติดปัญหาเรื่องของศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง
- ข้อเสนอพิเศษที่น่าสนใจ เช่น ธีมงานจะทำให้แตกต่างอย่างไร หรือการทำข้อตกลงพิเศษร่วมกัน หากเป็นเมืองใดเมืองหนึ่งในไทยอาจจะมีการเปิดพื้นที่ให้เกิดความร่วมมือของคอมมิวนิตี้ LGBTQ+ ในอาเซียนด้วย
- มาตรการความปลอดภัยและการรับมือ ในกรณีพื้นที่สาธารณะ เพราะอาจจะมีกลุ่มที่ยังไม่ยอมรับ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวบางเมืองที่มีนักท่องเที่ยวจากกลุ่ม Middle East ก็ต้องมีมาตรการรองรับ
- เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศ
เมื่อถามในประเด็นของประโยชน์ที่ได้จะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพจัดงาน InterPride Annual General Meeting & World Conference นายพัฒนชัยกล่าวว่า อย่างแรกคือการมองในมุมการท่องเที่ยวแบบ MICE หรือการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจและองค์กร ย่อมต้องสร้างรายได้ต่อคนสูงกว่ารายได้ของนักท่องเที่ยวปกติมากกว่า 2-3 เท่า
นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ให้แก่ประเทศ เพราะคนที่จะเดินทางมาเข้าร่วมการประชุม จะมีนักการเมือง ผู้มีชื่อเสียงและ CEO ระดับโลกซึ่งอยู่ในกลุ่ม LGBTQ+ เข้าร่วมด้วย ประเทศไทยจะได้นักเดินทางกลุ่มนี้เข้ามายังประเทศซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อการท่องเที่ยวไทย นอกจากจะได้ภาพลักษณ์ประเทศแห่งความหลากหลายและเท่าเทียมตามเป้าหมายการพัฒนาระดับโลกหรือ SDGs