NIA เปิดตัว 3 นวัตกรรมจาก AI รองรับโรครักษายาก
NIA หนุนเทคโนโลยีฝีมือคนไทย รองรับโรครักษายาก-ค่าใช้จ่ายสูง เปิดตัว AI คัดกรองมะเร็งเต้านม, ส่องกล้องทางเดินอาหารด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และ แพลตฟอร์มคัดกรองโรคหัวใจ-หลอดเลือดจากกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยปัญญาประดิษฐ์
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA หนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงฝีมือคนไทยเพื่อรองรับกลุ่มโรคที่พบบ่อย และโรคที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง โดยเป็นนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีเชิงลึก (DeepTech) ได้แก่ เทคโนโลยีการส่องกล้องทางเดินอาหารด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อรองรับการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์สำหรับการคัดกรองมะเร็งเต้านม และแพลตฟอร์มคัดกรองโรคหัวใจและหลอดเลือดจากกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยปัญญาประดิษฐ์ โดยการส่งเสริมนวัตกรรมดังกล่าวมีเป้าหมายส่งเสริมให้เกิดการนำนวัตกรรมของไทยไปใช้ในวงกว้าง ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีและอุปกรณ์การแพทย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และช่วยทำให้งบประมาณด้านการรักษาพยาบาลของไทยมีราคาถูกลง
AI สำหรับการคัดกรองมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิง และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ในผู้หญิง เพราะส่วนใหญ่ไม่มีอาการนำ ดังนั้น การเพิ่มโอกาสการรักษาจำเป็นจะต้องทำการตรวจคัดกรองสม่ำเสมอเมื่อมีภาวะเสี่ยงด้วยเทคโนโลยีการตรวจแมมโมแกรม
อย่างไรก็ตามการอ่านภาพแมมโมแกรมยังมีความท้าทายหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านสรีระของประชากร การขาดแคลนแพทย์รังสีผู้เชี่ยวชาญในการตรวจ และการเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองของกลุ่มผู้หญิงที่มีความเสี่ยง ผ่านโครงการ “การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ปัญญาประดิษฐ์สำหรับการคัดกรองมะเร็งเต้านมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดไทยและต่างประเทศ”
โดยอาศัยเทคโนโลยีการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยี Web/Mobile application ช่วยแพทย์ในการวิเคราะห์โรคและวินิจฉัยคัดกรองมะเร็งเต้านม ทำให้แพทย์สามารถตรวจจับความผิดปกติได้ในระยะเริ่มต้น โดยการอ่านผลด้วยแพทย์รังสีและระบบปัญญาประดิษฐ์ร่วมกันเพื่อแยกกลุ่มที่สงสัยจะมีความผิดปกติส่วนน้อยออกมาเพื่อดำเนินการต่อ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองผู้ป่วยในและต่างประเทศอย่างรวดเร็วและถูกต้องตามการยอมรับของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างแท้จริง
DeepGI ส่องกล้องทางเดินอาหารด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรที่เสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้สูงเป็นอันดับ 4 และมีแนวโน้มที่อัตราผู้ป่วยมะเร็งลำไส้จะเพิ่มขึ้น ซึ่งการรักษาในปัจจุบันนิยมใช้วิธีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง Endoscopic เพราะมีค่าใช้จ่ายที่ถูก และรวดเร็วกว่าการผ่าตัดแบบเดิม อีกทั้งมะเร็งลำไส้เป็นโรคที่ต้องใช้ระยะเวลาในการฟักตัว ดังนั้น หากตรวจพบได้เร็วจะทำให้มีโอกาสหายได้ รัฐบาลจึงสนับสนุนการตรวจคัดกรอง (Screening test) ในประชากรอายุมากกว่า 50 ปีซึ่งมีจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน
ปัจจุบันสถานพยาบาลของรัฐจำนวน 13,364 แห่ง แต่มีหน่วยส่องกล้องทางเดินอาหารที่มีศักยภาพและความพร้อมประมาณ 2,000 แห่ง และโรงพยาบาลเอกชนประมาณ 370 แห่ง ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งด้านจำนวนสถานพยาบาล และบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ เพราะการผ่าตัดแบบส่องกล้องต้องอาศัยแพทย์ที่มีความชำนาญและประสบการณ์สูงในการวินิจฉัย
บริษัท อี.เอส.เอ็ม.โซลูชั่น จำกัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EMR ในโรงพยาบาลด้วยประสบการณ์มากกว่า 10 ปี และมีความชำนาญด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูลการส่องกล้อง จึงได้พัฒนาระบบ AI ที่เรียกว่า DeepGI มาช่วยตรวจจับความผิดปกติในทางเดินอาหารขณะส่องกล้อง และนำระบบดังกล่าวมาต่อยอดเทคโนโลยีให้มีความสามารถมากขึ้น เหมาะกับการใช้งาน และมีประสิทธิภาพ ภายใต้เทคโนโลยี “Scope-Life Studio” ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะช่วยให้แพทย์ทำการตรวจรักษาแบบส่องกล้องได้แม่นยำ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยงบประมาณที่เข้าถึงได้ในการรักษาภายในประเทศ อีกทั้งยังสามารถแข่งขันในระดับโลกได้
EIPCA แพลตฟอร์มช่วยคัดกรองโรคหัวใจและหลอดเลือดจากกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยปัญญาประดิษฐ์
โรคทางหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก และทุกปีจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวมากถึงปีละ 17.9 ล้านคน ซึ่งเกิดจากการคัดกรองโรคหัวใจที่ล่าช้าและเข้าถึงได้ยาก โดยในประเทศไทยมีศูนย์โรคหัวใจเพียง 37 แห่งเท่านั้น ทำให้การตรวจคัดกรองต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อผู้เข้ารับการรักษาหนึ่งคน
จากปัจจัยข้างต้นสนับสนุนให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เจ้าของรางวัลชนะเลิศ รางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 คิดค้นและพัฒนา “EIPCA แพลตฟอร์มช่วยคัดกรองโรคหัวใจและหลอดเลือดจากกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยปัญญาประดิษฐ์” เป็นเครื่องมือสำหรับคัดกรองโรคหัวใจด้วยการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาที่ช่วยเพิ่มอัตราการเข้าถึงการคัดกรองโรคหัวใจด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อประมวลผลกราฟคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ทำให้สามารถคัดกรองและประเมินความเสี่ยงได้ง่ายขึ้นด้วยตนเอง แต่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับเครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจในโรงพยาบาล ผ่าน 3 ขั้นตอน คือ
1) ทำแบบประเมินความเสี่ยง
2) วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วย EIPCA-Device
3) รับผลผ่าน EIPCA-Web-Application
ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งในคอมพิวเตอร์ แทปเลต และโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ผู้ตรวจทราบถึงความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและสามารถปฏิบัติตัวตามข้อแนะนำ หรือ เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิต ากโรคหัวใจและหลอดเลือดลงได้