การอ่านไทยยังเติบโต จากชุมชนนักอ่านที่ลึกซึ้งและกลยุทธ์ "ป้ายยาหนังสือ"
ชั้นสองของอาคารสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (PUBAT) เต็มไปด้วยชั้นหนังสือที่กำลังอวดเรียงสันปก หลากสีสัน หันออกมาเผชิญหน้ากับวงสนทนา เป็นฉากที่ดูน่าสนใจสำหรับนักอ่านที่ยังชอบเอียงคอเลือกหนังสือจากชั้น เรากำลังพูดคุยกันถึงอนาคตของสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศไทย
จากข้อมูลของสมาคมผู้จัดพิมพ์และจัดจําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ธุรกิจหนังสือเคยมีมูลค่า ตลาดสูงที่สุดประมาณ 25,000 ล้านบาทในปี 2557 ก่อนที่จะลดมูลค่าลงจนถึงจุดต่ำที่สุดประมาณ 12,000 ล้านบาทในปี 2563 การลดลงอย่างมากนี้มีปัจจัยหลักจากการถดถอยและสูญหายไปของตลาดหนังสือพิมพ์และนิตยสาร
ทว่าล่าสุดในปี 2566 พบว่า มูลค่าตลาดรวมของหนังสือฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ในระดับ ประมาณ 17,000 ล้านบาท สอดคล้องกับตัวเลขรายได้รวมจากงบการเงินของบริษัทที่ผลิตและจัดจําหน่ายหนังสือที่ปรากฏในคลังข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
และจากผลสำรวจล่าสุดยังพบว่า คนไทยมีพฤติกรรมการอ่านรวมทุกกลุ่มทุกแพลตฟอร์ม 113 นาที หรือเกือบ 2 ชั่วโมงต่อวัน
แน่นอนเรากำลังจะบอกคุณว่า การอ่านไม่ได้ลดลง ในขณะที่ตลาดความรู้และปัญญาของยุคนี้ยังขยายแยกย่อยออกไปเรื่อยๆ และคนไทยไม่ได้อ่านหนังสือแค่ 8 บรรทัดต่อปีอีกต่อไป
มูลค่าตลาดหนังสือกำลังเติบโตขึ้น แปลว่าโอกาสในธุรกิจนี้ไม่ได้ตีบตันแต่หากมันผันเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและพฤติกรรมการเสพของผู้บริโภคต่างหาก
วันนี้โพสต์ทูเดย์ได้มาร่วมพูดคุยกับสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ และ ธีรภัทร เจริญสุข กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร่วมกับ เคทีซี-บริษัทบัตรกรุงไทย (จำกัด) มหาชน ที่ตระหนักถึงความสําคัญของการอ่านหนังสือ ทำให้เราได้คำตอบถึงยุคการเปลี่ยนผ่านของการอ่านและการพิมพ์ และสื่อสิ่งพิมพ์ที่ยังมีอิทธิพลทางความคิด เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไป โดยมีเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มต่างๆ เข้ามาช่วยให้การอ่านในประเทศไทยเกิดการเติบโตขึ้นอย่างมากมายและหลากหลายขึ้น ก่อนพบคำตอบโดยสรุปว่า
ทุกวันนี้ปริมาณของนักเขียนที่เป็น self-publish หรือ “พิมพ์เอง” มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ต้นทุนของการพิมพ์แบบออนดีมานด์ต่ำลง แต่ต้นทุนของการพิมพ์แบบแมสก์กลับสูงขึ้น เกิดการเปลี่ยนผ่านในวงการหนังสือจากยุคสิ่งพิมพ์แมส (ยอดพิมพ์ต่อปกตั้งแต่ 2-4 พันเล่ม) กลายเป็นสิ่งพิมพ์นิช ที่มี “แฟนด้อม” ในกลุ่มตลาดแยกย่อยมากขึ้น คือมีความสนใจเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) มากขึ้น
เข้าสู่ยุคที่เรียกว่า “Fragmentation of Market” เกิดเป็นชุมชนนักอ่านที่แตกตัวกระจัดกระจายออกไป และมีความลึกซึ้งในเนื้อหามากกว่าเดิม
แล้วทําไมเรารู้สึกว่าตลาดมันแย่ลง แต่ว่าคนก็ยังทําหนังสือมากขึ้น? เรื่องนี้ ธีรภัทร ให้คำตอบกับเราว่า
ก็เป็นเพราะว่า สำนักพิมพ์หรือคนขาย ขายหนังสือแบบย่อยๆ หรือ "เฉพาะทาง" ได้มากขึ้น ความหลากหลายของหนังสือมีมากขึ้น เจาะจงลงไปในกลุ่มแต่ละกลุ่มมากขึ้น มันไม่มีแล้วหรือว่าอาจจะมีน้อย ที่มีหนังสือขายดีทีเดียวเป็นล้านเล่ม หรือว่าสํานักพิมพ์เดียวขายได้ล้านเล่มในเล่มเดียว แต่มันจะกลายเป็นว่า สํานักพิมพ์เล็กๆ ขายได้ที่ละพันเล่ม มูลค่าตลาดมันโตขึ้น แต่มันไม่ได้กระจุกอยู่ที่สํานักพิมพ์ใหญ่ๆ ไม่กี่สํานักพิมพ์
เกิดสำนักพิมพ์เล็กๆ (เฉพาะกลุ่ม) เพิ่มมากขึ้น จำนวนพิมพ์ไม่เยอะ มีการขายตรง ขายแบบพรีออเดอร์กับผู้อ่านมากขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขสมาชิกสมาคมผู้จัดพิมพ์เพิ่มมากขึ้นจากเพียงกว่า 200 รายในช่วงโควิดเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 400 ราย และการที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติยังสําคัญก็เป็นเพราะ มันคือจุดนัดหมายที่ทําให้สํานักพิมพ์เล็กๆ ได้พบกับผู้บริโภคโดยตรง ได้มีกิจกรรมร่วมกันในงานนั่นเอง
ส่วนเทคนิคในการทําหนังสือเล่ม พวกรูปเล่มต่างๆ ก็ดึงดูดผู้อ่านมากขึ้น ทั้งการจัด box set มีโปรโมชั่นต่างๆ มากมาย
น้อยคนจะรู้ว่า งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติจัดโดยสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ด้วยเงินสนับสนุนจากสมาชิกและค่าออกบูธ หากรับฟังจากที่ต่างๆ ทั่วโลก งานที่แสดงความรู้และภูมิปัญญาของประเทศระดับชาติ รัฐบาลจะเป็นผู้จัดสรรงบฯ ทั้งหมด แปลว่ารัฐบาลของเราไม่มีงบตรงนี้มาก่อนที่ผ่านมา แต่ปัจจุบัน คุณสุวิชบอกเราว่า เป็นปีแรกที่สมาคมฯ ได้รับงบจัดงานจากรัฐบาลเป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาทในการจัดงานต้นปี แต่ครั้งนี้คาดว่าน่าจะได้ประมาณ 5 ล้าน ซึ่งยังรอคำตอบอยู่
หนังสือที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 เมื่อต้นปียังคงเป็นหนังสือนวนิยายและวรรณกรรมในสัดส่วน 38% โดยหนังสือวายทุกประเภทเนื้อหาได้รับความนิยมสูงสุด 21% รองลงมาคือ หนังสือการ์ตูนและไลต์โนเวล 21% หนังสือประเภทเสริมทักษะ (How to) 18% หนังสือเด็กและคู่มือการเรียน 13% และหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ 10%
ความสำเร็จของงานครั้งที่ผ่านมา เป็นผลมาจากความร่วมมือของสำนักพิมพ์ 322 แห่ง กว่า 900 บูธ ที่นำหนังสือมากกว่า 1 ล้านเล่มมาจำหน่าย โดยมีหนังสือใหม่กว่า 3,000 ปก
ตลาดหนังสือฟื้นตัวแต่มีความเปราะบางจากสภาพเศรษฐกิจ
การฟื้นตัวของมูลค่าตลาดหนังสืออาจเกิดจากราคาหนังสือต่อเล่มที่สูงขึ้นประมาณ 30% หลังวิกฤตโควิด ยอดขายและจํานวนผลิตหนังสือยังมีความ เปราะบางต่อภาวะเศรษฐกิจมากเนื่องจากหนังสือเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคอาจตัดสินใจตัดลดค่าใช้จ่ายหากประสบปัญหารายจ่ายในครัวเรือน ภาวะเศรษฐกิจภาพรวมจึงส่งผลกระทบต่อวงการหนังสืออย่างไม่อาจเลี่ยง
ราคาหนังสือเป็นอุปสรรคสําคัญต่อผู้เริ่มอ่านใหม่?
ต้นทุนการผลิตหนังสือในปัจจุบันเพิ่มขึ้นมากจากสองปัจจัย ส่วนแรกคือต้นทุนภายนอกอันเกิดจากราคากระดาษทั้งกระดาษนําเข้าซึ่งเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 40% นับตั้งแต่ปี 2563 ที่ค่าระวางขนส่งทางเรือเพิ่มขึ้นสูง ส่วน ผลิตภัณฑ์กระดาษภายในประเทศก็มีไม่เพียงพอต่อการใช้งานและยังมีต้นทุนค่าขนส่งที่สูง อีกส่วนหนึ่งคือ ปัจจัยต้นทุนภายในของกระบวนการผลิตหนังสือ ทั้งค่าต้นฉบับ ภาพประกอบ บรรณาธิการ ค่าแรงต่างๆ
ซึ่งเมื่อจํานวนเล่มพิมพ์ต่อครั้งน้อยลง ต้นทุนคงที่ (Fix Cost) ที่สูงไม่สามารถกดค่าเฉลี่ยหารกับต้นทุนแปรผัน (Variable Cost) ยิ่งทําให้ราคาหนังสือต่อเล่มสูงขึ้น เป็นอุปสรรคต่อผู้อ่านจนไม่สามารถซื้อหนังสือที่ต้องการได้ เพียงพอ และยิ่งคนซื้อหนังสือน้อยลง จํานวนเล่มพิมพ์ก็ยิ่งน้อยลง ราคาก็จะแพงขึ้นเป็นวัฏจักรเลวร้ายที่ปิดกั้นและทําลายอุตสาหกรรมและภาพรวมการอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือเด็ก อย่างไรก็ตาม หนังสือบางประเภทได้กลายเป็นสินค้าสะสม และยังเป็นที่ต้องการของผู้อ่านแม้จะมีราคาสูง เช่น หนังสือภาพ หนังสือ นิยายที่มีสินค้าพรีเมียมประกอบ เป็นต้น
ผู้ผลิตมากขึ้น เกิดตลาดหนังสือเฉพาะกลุ่ม
ด้วยสถานการณ์สังคมปัจจุบันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อได้ด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของตนเอง รวมถึง เทคโนโลยีการพิมพ์หนังสือแบบออนดีมานด์ที่ผลิตได้ด้วยจํานวนเริ่มต้นที่น้อยลง เปลี่ยนแปลงจากการพิมพ์จากแท่นพิมพ์แบบเดิมที่ต้องพิมพ์เริ่มต้นจํานวนมาก กลุ่มผู้มีความสนใจคล้ายกันรวมตัวเกิดก่อเกิดชุมชน สร้างสรรค์ผลงาน และเผยแพร่ได้ในวงจํากัดของชุมชนตัวเอง
ทําให้เกิดผู้ผลิตเนื้อหาและพิมพ์หนังสือที่เป็น ความสนใจเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ออกสู่ตลาดมากขึ้นโดยการพิมพ์ด้วยตนเอง (Self-published) ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายแนว BL GL หรือ เควียร์ การ์ตูนเฉพาะทาง หนังสือการลงทุน จิตวิทยา และหนังสือของคนดัง เซเลบริตี้ อินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ กลายเป็นตลาดย่อยที่แตกกระจาย (Fragmented Market) ที่หนังสือมีราคาสูงขึ้นจากจํานวนพิมพ์ต่อครั้งต่ำแต่ยังมีตลาดผู้อ่านเฉพาะทางรองรับ
จากข้อมูลของ PUBAT พบว่าจํานวน สํานักพิมพ์ที่เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมฯ เพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุด 282 รายในปี 2563 เป็น 383 รายในปี 2567 และยังมีสํานักพิมพ์และนักเขียนอิสระซึ่งตีพิมพ์ด้วยตนเองที่ไม่ได้เข้าร่วมกับสมาคมอีกจํานวนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ตลาดเฉพาะทางบางกลุ่มเมื่อมีมูลค่ามากขึ้น จะมีสํานักพิมพ์รายใหญ่เข้ามาตีพิมพ์เลียนแบบและทําให้เกิดภาวะแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดและกลายเป็นกระแสหลักต่อมา
นโยบายภาครัฐที่จะช่วยส่งเสริมวงการหนังสือของไทย
จะเห็นได้ว่า ปัญหาสําคัญที่ได้รับเสียงเรียกร้องมากที่สุดเกี่ยวกับหนังสือคือการเข้าถึงหนังสือ โดยเฉพาะเรื่อง ราคาหนังสือ ซึ่งรากฐานสําคัญมาจากจํานวนพิมพ์ที่น้อยลง นโยบายที่ตรงจุดและแก้ปัญหาได้มากที่สุด คือ
- การเพิ่มอุปสงค์ผ่านการขยายห้องสมุดหรือศูนย์การเรียนรู้ และตั้งงบประมาณจัดซื้อหนังสือเพื่อบริการให้แก่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มจํานวนพิมพ์ ลดราคาต่อเล่มลงทันที อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อหนังสือจํานวนมากจากภาครัฐที่ผ่านมามักเกิดปัญหาการทุจริต
- ดังนั้นการจัดซื้อหนังสือควรมาจากความคิดเห็นของผู้ใช้บริการ รวมถึงจากประชาชนในเขตที่ห้องสมุดนั้นตั้งอยู่มากกว่าจะเป็นกรรมการที่มีอํานาจในการจัดหาหนังสือ หรืออาจใช้วิธีการให้คูปองซื้อสินค้าหนังสือหรือสินค้าวัฒนธรรมแก่เด็กและเยาวชนไปเลือกซื้อหนังสือจากร้านตามใจชอบ ดังเช่น ตัวอย่างของฝรั่งเศส ไต้หวัน หรือทุนในโครงการหนึ่งอ่านล้านตื่นที่ PUBAT ดําเนินการอยู่
- นโยบายอุดหนุนทางภาษี เงินกู้ต้นทุนต่ำแก่ผู้ผลิต การลดหย่อนภาษีโดยการซื้อหนังสือ ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มกระดาษพิมพ์หนังสือและบริการจัดพิมพ์หนังสือ การทําวิจัยข้อมูลด้านหนังสืออย่างละเอียด ส่งเสริมการแปลหนังสือไทยออกไปต่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมงานเขียนและหนังสือไทยให้แพร่หลายผ่านสื่อบันเทิงต่างๆ นอกจากหนังสือด้วย
- การขับเคลื่อนนโยบายด้านหนังสือ จําเป็นต้องมีเจ้าภาพหน่วยงานรับงบประมาณเพื่อดําเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ คือการจัดตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติขึ้นภายใต้องค์กรวัฒนธรรมสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (THACCA)
วรรณกรรมไทยไปสู่เวทีสากล จากข้อได้เปรียบ “ไทยมีข้อจํากัดทางการตีพิมพ์ที่น้อยกว่าชาติอื่นทุกชาติ”
และในฐานะที่อุตสาหกรรมหนังสือเป็น 1 ใน 11 อุตสาหกรรมเป้าหมายซอฟต์พาวเวอร์ การส่งออกหนังสือและวรรณกรรมสู่ตลาดสากล เป็นช่องทางหนึ่งที่จะบอกเล่าเรื่องราว ความรู้ วัฒนธรรมของ ไทยให้นานาประเทศ ทั้งอาหาร ศิลปะ กีฬา การท่องเที่ยว ซึ่งสามารถสอดแทรกอยู่ในเนื้อหาของหนังสือ ทั้งยัง ดัดแปลงไปเป็นสื่ออื่นได้ด้วย
ปัจจุบันประเทศไทยมีหนังสือที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นเป็นที่นิยมในตลาด ต่างชาติคือ นิยาย BL รวมถึง GL เป็นกระแสร่วมกับซีรีส์ ซึ่งสามารถปักธงให้ไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขาย แลกเปลี่ยนลิขสิทธิ์และส่งเสริมการดัดแปลงเนื้อหาผลิตของทั้งเอเชียตะวันออกและของโลกได้
โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐสภาได้ผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นชาติแรกของอาเซียนและชาติที่สามของเอเชีย นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีทําเลและจุดยืนที่ดีในการส่งเสริมการจัดงานซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือ เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนแล้ว ไทยมีข้อจํากัดทางการตีพิมพ์ที่น้อยกว่าชาติอื่นทุกชาติ ทั้งทางด้านเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ความเชื่อ และข้อจํากัดการเผยแพร่งานที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐ
โดย PUBAT ประสบความสําเร็จจากการจัดงาน Bangkok Rights Fair ครั้งแรกในปี 2567 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ องค์การมหาชน (TCEB) มีสํานักพิมพ์และตัวแทนลิขสิทธิ์จาก 14 ชาติเข้าร่วมกว่า 88 ราย กว่า 200 คน ประเมินมูลค่าซื้อขายลิขสิทธิ์กว่า 40 ล้านบาท ซึ่งหากได้รับการ สนับสนุนเพิ่มเติมคาดว่าในปี 2568 จะมีผู้เข้าร่วมมากขึ้นและสร้างมูลค่าซื้อขายลิขสิทธิ์มากกว่าเดิม ช่วยลด การขาดดุลทั้งทางค่าลิขสิทธิ์และทางวัฒนธรรมหนังสือ รวมถึงเพิ่มรายได้จากการจัดประชุมและท่องเที่ยวจากกลุ่มผู้เข้าร่วมงานด้วย
พฤติกรรมการอ่าน ทุกแพลตฟอร์ตการอ่าน ทำให้การอ่านเพิ่มสูงขึ้น แม้คนอ่านหนังสือเล่มน้อยลง แต่ไม่ได้อ่านเนื้อหางานเขียนน้อยลงเลย
แม้หนังสือเล่มจะมีราคาสูงขึ้น แต่คนไทยก็ไม่ได้อ่านน้อยลง จากการศึกษาของคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับ PUBAT ในต้นปี 2567 พบว่า คนไทยมีพฤติกรรมการอ่านรวมทุกกลุ่ม 113 นาที หรือเกือบ 2 ชั่วโมงต่อวัน โดยการอ่านใน 113 นาทีนี้รวมถึงการอ่านทุกรูปแบบทั้งข้อมูลข่าวสารในโซเชียลมีเดียและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และยังพบว่าผู้สูงวัยอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นเนื่องจากสามารถขยายตัวอักษร รวมถึงให้ระบบอ่านออกเสียงให้ฟังได้
กลับกันเด็กและวัยรุ่นกลับอ่านหนังสือเล่มมากกว่าผู้สูงอายุ โดยเฉพาะหนังสือการ์ตูนและหนังสือ นิยาย สอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่า Gen Z อ่านหนังสือเล่มมากกว่า E-Book เพราะมีสมาธิกว่า และชอบความรู้สึกที่ได้จับกระดาษจริงๆ
ส่วนกลุ่มอายุที่อ่านน้อยที่สุดคือกลุ่มคนวัยทํางาน เนื่องจากมีภาระหน้าที่ทางการงาน และภาระค่าใช้จ่ายทําให้ไม่มีเวลากับการอ่านต่างจากกลุ่มเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงวัย
ในภาพรวม ตลาดหนังสือไทยมี ผู้อ่านมากที่สุดในกลุ่มการ์ตูน นิยาย และหนังสือจิตวิทยา-ฮาวทูให้กําลังใจและธรรมะ
ดิจิตัลแพลตฟอร์มทวีความสําคัญทุกด้าน - “ป้ายยาหนังสือ” กลยุทธ์การตลาดที่ใช้ได้ผลมากกว่า
จากการศึกษาข้างต้น เราจะเห็นว่าผู้อ่านใช้เวลาบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น การอ่านและการขายหนังสือ ก็เปลี่ยนไปอยู่บนดิจิตัลแพล็ตฟอร์มมากยิ่งขึ้น ทั้งในรูปแบบอีบุ๊ค และรูปแบบหนังสือเล่มที่ขายผ่านร้านค้าบน อีคอมเมิร์ซแพล็ตฟอร์มแทนร้านหนังสือแบบดั้งเดิม ข้อมูลที่ได้รับจากแพล็ตฟอร์ม Shopee พบว่า มีร้านหนังสือเปิดใหม่บน Shopee มากกว่า 500 ร้าน รวมถึงร้านค้าของสํานักพิมพ์ที่เปิดเพื่อขายหนังสือของตัวเอง โดยไม่ผ่านสายส่งและเครือข่ายร้านหนังสือแบบเดิม
การใช้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ไลฟ์ขายหนังสือและการบอก ปากต่อปากผ่านโซเชียลมีเดีย หรือที่เรียกว่า “ป้ายยาหนังสือ” กลายเป็นกลยุทธ์การตลาดที่ใช้ได้ผลมากกว่า การโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือของแจกของแถม
ส่วนการลดราคาเกิดขึ้นตามเทศกาล มีการให้คูปอง โค้ดลดราคา แข่งขันกันบนแพล็ตฟอร์ม
ส่วนแพล็ตฟอร์มอีบุ๊คมีการอ่านมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง MEB – Mobile Ebook ที่มีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 60% มีรายได้ในปีล่าสุดถึง 2000 ล้านบาท และมีการเติบโตกว่า 100% ติดต่อกัน 3 ปี และเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ได้เมื่อปี 2565 จึงเห็นเป็นภาพการถ่ายเทมูลค่าตลาดจากหนังสือเล่ม กระดาษ เป็นอีบุ๊คชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
โดยจากข้อมูลของหอสมุดแห่งชาติปี 2566 จํานวนหนังสือที่ผลิตเป็นอีบุ๊คอย่างเดียวโดยไม่พิมพ์เล่ม มีมากถึง 4,086 ปก เมื่อเทียบกับจํานวนหนังสือเล่ม 29,265 ปก คิดเป็น 12% ของ จํานวนหนังสือทั้งหมดที่ตีพิมพ์
ร้านหนังสือที่เป็นมากกว่าร้านขายหนังสือ งานหนังสือที่ต้องเป็นมากกว่างานขายหนังสือ
จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมของผู้อ่านเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วทั้งในด้านสื่อที่ใช้อ่าน หนังสือ และช่องทางการซื้อหนังสือ ร้านหนังสือและงานหนังสือแบบเดิมย่อมถูกบังคับให้เกิดการปรับตัวและ เปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ร้านหนังสืออิสระหรือแม้แต่ร้านแฟรนไชส์ปิดตัวลงหรือมีสินค้าที่ไม่ใช่หนังสือ ขายเป็นสัดส่วนมากขึ้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนกันกับวงการหนังสือทั่วโลก แม้ว่าจํานวนคนที่เข้าร่วมงานหนังสือยังมีมากถึง 1.4 ล้านคนแต่ก็ลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2561 ที่เคยมีมากถึง 2 ล้านคน
จากข้อพูดคุย จากสมาคมผู้จัดพิมพ์สากล (International Publishers Association) และองค์กรเนื้อหาสร้างสรรค์ของไต้หวัน (TAICCA) มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า กิจการร้านหนังสือที่ยังจะอยู่ต่อได้ในอนาคตต่อจากนี้ ต้องมีกิจกรรมที่มากกว่าการขายหนังสือ
เป็นชุมชนแห่งการอ่านของคนรักหนังสือ รวมถึงการจัดงานหนังสือ (Book Fair) ที่ต้องเปลี่ยนแปลงจากงานขายหนังสือ ให้กลายเป็นงานพบปะสังสรรค์ระหว่างผู้ผลิตหนังสือ ผู้ผลิต เนื้อหาทั้งนักเขียน นักวาด และผู้สร้างสรรค์ผลงานอื่นและผู้อ่านผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยน ดังกล่าวยังต้องหาจุดสมดุลและตอบโจทย์ความคุ้มค่าการลงทุนของทั้งผู้จัดพิมพ์จัดจําหน่ายและผู้จัดงาน เพราะจะเป็นการเพิ่มต้นทุนที่สูงขึ้นโดยไม่สามารถรับประกันว่ารายได้ส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นจะคุ้มค่าหรือไม่
หนังสือแปลท่วมตลาดหนังสือไทย รับมือและใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร
จากข้อมูลของ PUBAT เราทราบว่า 70% ของยอดขายหนังสือในไทย เป็นหนังสือการ์ตูนกับนิยาย และเมื่อ ประกอบกับจากข้อมูลของหอสมุดแห่งชาติ พบว่าในปี 2566 มีวรรณกรรมแปลตีพิมพ์ในไทยจํานวน 4,254 ปก ในขณะที่วรรณกรรมไทยตีพิมพ์เพียง 2,102 ปก และหนังสือการ์ตูน 4,205 ปกส่วนใหญ่ก็เป็นหนังสือการ์ตูนที่ แปลมาจากต่างประเทศ ส่วนหนังสือประเภทอื่น เช่น หนังสือจิตวิทยา การเงิน หนังสือเด็กและเยาวชน ก็มีสัดส่วนการแปลจากต่างประเทศในอัตราสูง
เราอาจประมาณการคํานวณต่อได้ว่า ตลาดหนังสือไทยมากกว่า 60% เป็นหนังสือแปลจากต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น จีน และเกาหลี ที่ครองตลาดอยู่ตามลําดับ อย่างไรก็ ตาม การหาตัวเลขสัดส่วนหนังสือแปลต่อหนังสือไทย ประเทศที่มาของหนังสือ รวมถึงมูลค่าการซื้อลิขสิทธิ์ที่แน่ชัด ควรได้รับการศึกษาเพิ่มเติมอย่างละเอียดเพื่อนําข้อมูลมาใช้เจรจาต่อรอง ขอรับผลประโยชน์ ทุน หรือการ สนับสนุนด้านหนังสือและการอ่านกับองค์กรด้านหนังสือและวัฒนธรรมของต่างชาติต่อไป รวมถึงยังสามารถใช้ ยอดซื้อเข้านี้แลกเปลี่ยนกับการแปลหนังสือไทยขายลิขสิทธิ์ออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งควรได้รับการสนับสนุน จากภาครัฐในการแปล ทั้งโดยการให้ทุนแปลหนังสือกับสํานักพิมพ์ต่างชาติ หรือทุนแปลแก่สํานักพิมพ์และนักเขียนไทยเพื่อลงขายแบบดิจิทัลในแพลตฟอร์มระดับสากล
KTC ร่วมสนับสนุนการอ่าน
นายธีรพจน์ โชคอนันตัง ผู้อำนวยการ การตลาดบัตรเครดิต “เคทีซี” หรือ บริษัทบัตรกรุงไทย (จำกัด) มหาชน กล่าวว่า เคทีซีตระหนักถึงความสําคัญของการอ่านหนังสือ ซึ่งเป็นกุญแจสําคัญในการเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ในทุกกลุ่มสาระ จึงมุ่งมั่นให้การสนับสนุนคนไทยรักการอ่าน และส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาบุคคล และสังคมให้มีคุณภาพอย่างยั่งยืน อีกทั้งสอดคล้องกับทางภาครัฐที่ได้ยกระดับความสําคัญของนโยบายการส่งเสริมการอ่านให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้สํานักพิมพ์ผลิตและพัฒนาหนังสือให้ดีมีคุณภาพ และกระตุ้นให้คนไทยเห็นความสําคัญของการอ่านอย่างจริงจัง
• เคทีซีจึงร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ ซึ่งหมายรวมถึง สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จําหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ร้านค้าหนังสือ สํานักพิมพ์ชั้นนําทั่วประเทศ จัดแคมเปญส่งเสริมการขาย และกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งใน กรุงเทพฯและต่างจังหวัด มากกว่า 35 โครงการ ผนวกกับการนําเทคโนโลยีมาใช้ในการรณรงค์ เช่น การมอบ สิทธิประโยชน์ส่วนลดสูงสุด 15% ณ ร้านค้าพันธมิตรและช่องทางการจําหน่ายออนไลน์ การใช้ e-coupon การ ใช้คะแนนสะสมเคทีซีแลกรับเครดิตเงินคืน 18% จากอัตราปกติ 10% และสําหรับลูกค้าที่ซื้อปริมาณมาก บริษัทยังมอบสิทธิประโยชน์เพื่อแบ่งเบาภาระการชําระคืน ด้วยบริการผ่อนชําระกับบัตรเครดิต KTC ในอัตรา ดอกเบี้ยพิเศษ 0.69% ต่อเดือน จากอัตราปกติที่ 0.80% ต่อเดือน นานสูงสุด 10 เดือน
โดยในปีที่ผ่านมาทางเคทีซีมีจํานวนสมาชิกบัตรที่ใช้จ่ายที่สํานักพิมพ์หรือร้านหนังสือ 160,456 ราย โดยใช้ งบประมาณในการสนับสนุนการแลกคะแนนอัตราพิเศษและดอกเบี้ยพิเศษประมาณ 2 ล้านบาท (1.98 ล้านบาท)