ดิจิทัล วอลเล็ต เรามีสิทธิไหม : เสียงสะท้อนชาวบ้านดอยเวียง จ.เชียงใหม่
แม้ว่าโครงการดิจิทัล วอลเล็ต จะมีทั้งร้านค้าและประชาชนให้การตอบรับ คาดว่าหลังวันที่ 1 ส.ค.นี้ จะมีประชาชนสมัครวันละ 6 ล้านครั้ง โพสต์ทูเดย์ จึงลงพื้นที่สำรวจในพื้นที่ห่างไกล เพื่อตรวจสอบว่า ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวตื่นตัวกับโครงการเงิน 10,000 นี้ อย่างไรบ้าง
1 ส.ค.67 นี้ เริ่มดีเดย์ ลงทะเบียนประชาชนที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” สำหรับผู้มีสมาร์ทโฟน และ 16 ก.ย.67 สำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ระบุว่า ปัจจุบันมีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชันทางรัฐถึงวันละเกือบ 1 ล้านคน คาดว่าในช่วงที่มีการเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ระหว่างวันที่ 1 ส.ค. – 15 ก.ย. 67 จะมีจำนวนการสมัครเข้าใช้งานถึงวันละประมาณ 5-6 ล้านครั้ง
โพสต์ทูเดย์ สำรวจพื้นที่ห่างไกล ชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านดอยเวียง อ.ชัยปราการ จ.เชียงใหม่ พื้นที่ที่ห่างไกลจากพื้นราบ 20 กิโลเมตร และมีเพียงร้านขายของชำเล็กๆในหมู่บ้านเพียงร้านเดียว พบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ รู้ว่ามีการแจกเงิน แต่ไม่รู้ว่า ต้องทำอย่างไร และ แอปพลิเคชัน ทางรัฐ คืออะไร เขามีสิทธิหรือไม่ และต้องใช้งานอย่างไร
เจ้าของร้านขายของชำหนึ่งเดียวในหมู่บ้าน กล่าวกับ โพสต์ทูเดย์ ว่า ตนเองไม่รู้จะมีสิทธิหรือไม่ และไม่รู้รายละเอียดว่าต้องทำอย่างไร ตนเองเป็นชาวเขา เป็นเชื้อชาติล่าหู่ มีบัตรประชาชน เป็นสัญชาติไทย มีทะเบียนบ้าน รับสิทธิได้ไหม ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน และถ้ามีสิทธิต้องทำอย่างไร ไม่มีใครรู้ข้อมูลที่ชัดเจน
ร้านขายของชำร้านเดียวในหมู่บ้าน
ขณะที่ คุณครูพีรยา พิศาลวนาลัย ครูศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านดอยเวียง กล่าวว่า ขณะนี้ เริ่มมีคนมาสอบถามรายละเอียดการเข้าร่วมโครงการ และการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ทางรัฐ กับ ครู บ้างบางส่วนแล้ว ครูจึงต้องเป็นตัวกลางในการให้ความรู้ และช่วยชาวบ้านลงทะเบียน ส่วนเรื่องการซื้อของว่าจะไปซื้อได้ที่ไหนนั้น ยังไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เพราะในพื้นที่ห่างไกลร้านค้าปกติทั่วไปถึง 20 กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทางขึ้นประมาณ 4 ชั่วโมง
พรวิไล สาระจันทร์ ผู้อำนวยการ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ระดับอำเภอฝาง รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการระดับ สกร. อ.ชัยปราการ จ.เชียงใหม่ อธิบายเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านที่นี่ครึ่งหนึ่งเป็นคนไทยที่มีสิทธิ และทุกคนรอรับสิทธินี้ เพราะเป็นเงินให้เปล่า สามารถช่วยเรื่องการดำรงชีวิตของพวกเขาได้ แต่นโยบายการแจกเงินมีลำดับขั้น ที่ทำให้งง และไม่เข้าใจว่า จะได้เงินจริงหรือไม่ ไม่มีความชัดเจน อีกทั้งเรื่องข้อจำกัดร้านค้า อีก ที่ไม่ชัดเจนว่าใช้ได้ร้านไหนบ้าง ร้านในชุมชน ถ้าไม่จดทะเบียนการค้า สามารถเข้าร่วมโครงการได้หรือไม่ ส่วนการดาวน์โหลดแอปก็ต้องให้ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือชาวบ้าน
ด้าน นคร กาวิชัย ปลัดอำเภอหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเป็นห่วง และต้องช่วยเหลือคนในชุมชน ยอมรับว่า ประชาชนในพื้นที่ก็ต้องการเงิน 10,000 บาท แต่เงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการยากหรือไม่ รัดกุมหรือไม่ จะทำให้ประชาชนใช้จ่ายไม่ถูกวัตถุประสงค์ตามที่นโยบายรัฐต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่
ครูพีรยา-พรวิไล รักษาการผอ.สกร.ชัยปราการ และนร.ในหมู่บ้าน
นอกจากนี้ โพสต์ทูเดย์ ยังได้สอบถามชาวบ้านในพื้นที่ อ.ชัยปราการที่อยู่บนพื้นราบ และมีร้านค้าชุมชนหลายร้าน พบว่า ยังไม่มีใครดาวน์โหลดแอป ทางรัฐ หรือ บางคนก็ยังเรียกแอปพลิเคชันผิด เป็น แอปไทยรัฐ และไม่แน่ใจถึงวิธีการใช้เงินว่าต้องทำอย่างไร
ส่วนร้านค้าในย่านขายของฝาก ตลาดต้นพะยอม จ.เชียงใหม่ แม่ค้าส่วนใหญ่สนใจเข้าร่วมโครงการ และรอรายละเอียดอยู่ ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ตอนนี้ยังไม่ทราบรายละเอียด และมีการตั้งข้อสังเกตว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาซื้อของฝาก ไม่สามารถใช้สิทธิได้ เพราะไม่ใช่คนในจังหวัด แบบนี้จะทำให้กระทบยอดขายหรือไม่ แต่โดยรวมเป็นโครงการที่ดี และคาดว่าจะช่วยให้เงินสะพัดในระบบ