posttoday

ถึง “แอปเปิล” จะลบหรือไม่ลบโฆษณา “แอปเปิล” หรือ “เมืองไทย” ก็ขายได้อยู่ดี?

03 สิงหาคม 2567

ต่างมุมมอง เหยียดในเหยียด “คนไทย” หลัง Apple ไม่ได้แค่ขอโทษแต่ยังลบโฆษณา "The Underdogs: OOO" ด้วยเหตุผล “ที่ไม่ได้นำเสนอวิถีชีวิตของประเทศไทยในปัจจุบัน อย่างครบถ้วนและเหมาะสม”

มองต่างมุม หลัง "แอปเปิลลบโฆษณาเจ้าปัญหา" และขอโทษ เกิดกระแสบูลลี่ซ้ำ ทำไมไม่ตลก เหยียดในเหยียด คนไทยทำไมคิดมาก แอปเปิลสื่อเมืองไทย และคนไทยน่ารัก

 

"เหยียดในเหยียด" ปัญหาซ้ำซากในทุกสังคม

หลายมุมมองต่างอย่างชาวเสรีนิยม ก็บอกว่า ไม่เห็นมีอะไร ทำไมคิดมาก นิสัยคนไทย ก็แค่โฆษณาตลก แปลว่า คนที่ไม่ชอบ รู้สึกไม่ดีไม่ฟินกับไอโฟนผิด ดูเป็นคนโง่ ไม่เข้าใจความหวังดีที่แอปเปิลมาโปรโมทประเทศเรา?

 

การเหยียด “อุปนิสัยคนไทย” แบบเหมารวมไม่เจาะจงใคร เป็นสิ่งที่เรามักเจอกันอยู่ทุกวันตั้งแต่ยุคสลิ่ม ยุคสารพัดลุงฯ เหมือนจะถามว่า เรายังไม่ชินกับการถูกเหยียดอีกหรือ หรือว่ามันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เพราะผู้คนไม่มีการศึกษา โอกาสการเข้าถึงการศึกษาไม่เท่ากัน เพราะคนไทยไม่อ่านหนังสือ (ไปนู่น) ไม่เข้าใจโลกแบบผู้มีปัญญา และคุณต้องมองโลกให้กว้างขึ้น จากโลกใบเล็กใบน้อยที่คลอบหรือปิดกั้นมุมมองของคุณอยู่

 

แต่คำถามก็คือ ทำไม “คนไทย” มักโดนบูลลี่ หรือบูลลี่กันเอง อย่างสนุกปาก (เคยเจอคนไทยผู้น่าสงสารที่โดนบูลลี่คนนั้นจริงๆ ตามท้องถนนไหม) จริงๆ อาจไม่ใช่แค่คนไทยแต่เป็นคนทั้งโลกที่นิยม "การสื่อสารแบบเสียดสี" ทั้งแบบตื้นและแบบลึก แต่มันไม่ได้แปลว่า ถ้าคุณไม่เข้าใจ “ความหวังดีของแอปเปิล” คุณคือคนโง่ ไม่เข้าใจโลก ไม่เข้าใจมุก ไม่เข้าใจโฆษณา อย่างผู้เจริญแล้ว

 

ทั้งที่จริงๆ โฆษณาก็เป็นเรื่องของ perception หรือ การรับรู้ คุณบังคับให้คนทุกคนรู้สึกดีกับคุณ หรือรู้สึกตลกในเรื่องเดียวกันเหมือนกันไม่ได้ นั่นคือโจทย์ เพราะความตลกขบขันมันเป็นเรื่องของประสบการณ์ คุณจะทำไงถ้าเขาไม่ตลก และความตลกหรือไม่ตลกก็ไม่ควรเอามาเหยียดกัน

 

มีคำถามคือ สังคมที่เคยชินกับการบูลลี่ผู้อื่น มักจะคิดมุกอะไรแบบนี้ได้? จะเป็นไง ถ้าอีกคนบอกว่า ไม่เห็นตลกเลย นี่มันเสียดสีหรือเหยียดกันชัดๆ แล้วทำคอนเทนต์ออกมาจัดกันทุกมุมมอง

 

ก่อนอื่น ถ้าไม่ใช่เด็กนอก หรือมีความรู้ภาษาอังกฤษดี ลองไปเปิดพจนานุกรมออนไลน์ Longdo แปลคำ Underdog ก่อน คำนี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับสุนัขเลย แต่คำนี้แปลว่า ผู้เสียเปรียบในการแข่งขันหรือในสังคม ผู้ที่เป็นเบี้ยล่าง ผู้ที่ตกอับ ผู้ที่เคราะห์ร้าย ไก่รองบ่อน..

 

"คอนเส็ปต์ของโฆษณาชิ้นนี้ก็คือ ถึงคุณจะ Underdogs แต่ก็สามารถติดสปีดให้ตัวเองและประสบความสำเร็จได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีของฉัน"

 

แต่ปัญหาคือ คุณไม่อาจบังคับให้คนทั้งโลกเข้าใจความคิดคุณ หรือ “ตลก” กับคุณได้ในเรื่องที่เขาไม่ได้รู้สึกตลก เพราะเซนส์เรื่องความตลก มีทั้งสากล สามัญและปัจเจก เหมือนคุณมองผู้หญิงคนนี้สวย อีกคนอาจมองไม่สวย โลกนี้มันเต็มไปด้วยความเห็น ความคิดเห็นต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งหลากหลายตามแต่ “การรับรู้”

 

โฆษณาขายสินค้าจึงเป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน” เพราะคุณอยากให้ “ของ” ขายได้ แต่ถ้าคุณทำหนัง คุณอยากทำมุมไหนแดกดันแค่ไหนคุณทำไปเลยค่ะ แต่สำหรับโฆษณา ถ้าลูกค้าไม่พอใจ ไม่อยากซื้อของคุณ เพราะมันมีประเด็นละเอียดอ่อน คุณจะทำอย่างไร มันเหมือนเราทำงานไปขายลูกค้าแล้วลูกค้าไม่ชอบ .....ก็ต้องทำการแก้ไข เหมือนที่เจ้านายของพวก Underdogs ทั้ง 4 ไม่ชอบแบบกล่องที่ออกแบบตอนแรกแล้วบอกให้แก้อีกๆ...

 

ภาพจากโฆษณา The Unberdogs: OOO (Out of Office)

 

ย้ำอีกครั้งว่า ในสังคมที่กว้างใหญ่ มีผู้คนหลากหลาย คนไม่ได้มีมุมมองต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งเหมือนกัน บางคนอาจมองว่าเหยียด บางคนอาจรู้สึกว่าไม่มีการเหยียด ก็เป็นเรื่องของมุมมอง ไม่มีใครผิด

 

แต่ไม่ต้องเสียใจ เพราะจะยังไง หรือคนจะตีกันแค่ไหน แอปเปิลก็ขายได้ ขายดี ทำเงิน เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ก้าวไกลระดับโลกอยู่ดี เมืองไทยก็ยังมีคนมาเที่ยวกันเยอะแยะมากมายอยู่ดี ไม่ว่าจะมีมุมมองด้านลบๆ อีกกี่ล้านมุมมอง เพราะเรามีของดีมากมาย แม้โรงแรมในโฆษณาจะสกปรก แมลงเยอะ แท็กซี่ดูหลอน แต่มันก็ไม่ได้ให้ภาพเมืองไทยจริงๆ แบบจริงจัง

 

แต่สังคมที่ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์กันได้อย่างอิสระคือสังคมที่เจริญ หรือว่า วิถีผู้เจริญคือ “ต้องเงียบ” คนไทยอีกจำนวนมากจึงไม่กล้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์อะไรเลย เพราะกลัวถูกรุมด้วยความเห็นที่เหนือกว่า มีความรู้มากกว่า และกลัวจะดูโง่

 

ด้านเดวิด วิลเลียม ครูสอนภาษาอังกฤษ ที่มีผู้ติดตามผ่านสื่อโซเชียลและชมคลิปมากกว่า 11 ล้านครั้ง ออกมาทำคลิปต่อหลัง CNN สัมภาษณ์ขอความคิดเห็นเกี่ยวกับเมืองไทยในมุมมองของเขาในฐานะเป็นชาวต่างชาติที่อยู่เมืองไทยมานาน และเดวิดยังขอบคุณคนไทยทุกคนที่ช่วยกันดันให้โลกรับรู้ เพราะหลังจากปล่อยคลิปสัมภาษณ์ไม่กี่ชั่วโมง แอปเปิลก็ออกมาขอโทษและลบคลิปโฆษณาเจ้าปัญหา

 

เดวิด วิลเลียม ทำคลิปใน TikTok ขณะสัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์กับ CNN

 

และเขายังบอกว่า นี่คือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ เพราะแอปเปิลไม่ได้ออกมาขอโทษเท่านั้น แต่ยังลบคลิปโฆษณาออกไปด้วย เขายกตัวอย่างว่า โฆษณาไอแพด โปร ชื่อตอน Crush ที่บดเครื่องดนตรีพินาศไปก่อนหน้านี้ จนเกิดกระแสคนทำงานดนตรีไม่โอเค แอปเปิลก็ออกมาขอโทษ แต่คลิปเดิมยังอยู่ (ไปหาดูได้) และยังบอกว่า โดยปกติแอปเปิลจะไม่ค่อยลบคอนเทนต์ออกจากช่องเป็นอันขาด ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ซึ่งหากสิ่งที่เขาพูดไปไม่มีคนไทยช่วยดันคงไม่ได้ยินถึงหูแอปเปิล และ CNN คงไม่มาสัมภาษณ์

 

 

คำวิพากษ์วิจารณ์ต่อ Crush ก็มีแรงๆ เช่น

คริสปิน ฮันต์ นักแต่งเพลงชื่อดัง เรียกการทำลายเครื่องดนตรีว่าทำให้นึกถึงการเผาหนังสือ ส่วนชาวญี่ปุ่นจำนวนมากไม่พอใจ ซึ่งบางคนกล่าวว่า "ขาดความเคารพ"  ไปจนถึงโฆษณาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าแอปเปิล "กลายเป็นกองกำลังทำลายล้างวัฒนธรรมที่ไร้รูปแบบที่พวกเขารวมตัวกันต่อต้านในปี 2527" นี่คือ การไม่รู้เรื่องโฆษณาไหม ในเมื่อโฆษณาสามารถสร้างความรู้สึกเชิงลบได้ขนาดนี้

 

ด้าน CNN ก็รายงานข่าวถึงเรื่องนี้ โดยนำความเห็นของเดวิดไปลงผ่านเว็บไซต์

 

“พอดูก็คิดว่านี่คือประเทศไทยเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ดูเหมือนประเทศไทยเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ไม่มีส่วนไหนที่แสดงถึงความทันสมัยของบ้านผมเลย”

ในการให้สัมภาษณ์กับ CNN เขากล่าวว่าเขาไม่เคยเห็น "รถแท็กซี่ที่ดูแย่ขนาดนี้มาก่อน" เลยตลอดเกือบ 10 ปีที่เขาอยู่ในประเทศนี้ โดยเสริมว่า สนามบินสุวรรณภูมิเป็นประตูหลักของประเทศไทย มีความทันสมัยพอๆ กับสนามบินนานาชาติ John F. Kennedy ในนิวยอร์ก

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่ทันสมัย ​​ปลอดภัย และสวยงาม” เขากล่าว “ผมแค่หวังว่า [ผู้คน] จะไม่เข้าใจผิด”

 

ภากจาก TikTok David William ขณะให้สัมภาษณ์ CNN

 

และยังมีมุมมองต่อมุกเสียดสีที่น่าสนใจจากผู้ใช้เฟซบุ๊ก ครีเอเตอร์ดิจิทัลคนไทยคนหนึ่ง ที่มองเรื่องนี้ต่างมุมได้อย่างน่าสนใจ ว่าเสียใจมากที่โฆษณานี้โดนลบออกไป

 

"ดูโฆษณา apple นึกถึง Lost in Thailand หนังตลกจีนที่ทำให้ การท่องเที่ยวไทยโตแบบ ก้าวกระโดด และนึกนึกถึง Hangover หนังที่ทำให้การออกไปเที่ยวกลางคืนในกรุงเทพฯ (night out in Bangkok) เป็นสิ่งที่ต้องทำเมื่อมา กรุงเทพ เป็นหนังที่มีส่วนทำให้ กรุงเทพ กลายเป็นเมืองที่มีคนมาเยือนมากที่สุดในโลก"

 

“ความเจริญทางวัตถุและชีวิตทำงานแบบแห้งแล้ง ไร้ชีวิตชีวา ในประเทศที่เจริญแล้ว มันน่าเบื่อ มันไม่ได้น่าสนใจ” และ “เราจะพลาดโอกาส ในการได้รับความสนใจระดับโลก จาก apple หลังจากนี้เขาคงไม่มาสนทำโฆษณาในไทยอีกนาน”

ก่อนปิดท้ายว่า

“ในความคิดส่วนตัวผม ผมไม่เห็นว่า โฆษณานี้ จะทำร้ายอะไรประเทศไทย มันนำเสนอ รอยยิ้มในทุกวิกฤตแบบไทยๆ มันเชิญชวนและท้าทายผู้คนว่า แค่มี apple และตัวคุณ เราก็ออกไปลุยกันได้ทุกที่"

 

และเขายังเคยยกตัวอย่าง พิธีเปิดโอลิมปิกของฝรั่งเศส ที่มีคนชื่นชมมากมาย แต่เขากลับมองมุมต่าง ว่ามันเป็น French bad joke หรือ รสนิยมแบบฝรั่งเศสชั้นแย่ ยกตัวอย่างเช่น มุกพระนางมารี อองตัวเน็ต คอขาด หรือฉาก Last supper ซึ่งดูฝรั่งเศสมากๆ (so french) แต่มุกตลกอังกฤษแบบ British Dark Humour นั้นคม และเสียดสีได้เจ็บแสบกว่า มีชั้นเชิงสูงกว่า ยกตัวอย่างภาพจากเพจทางการของพรรคแรงงานอังกฤษที่โพสต์ภาพนี้มาล้อเลียน จนทำให้เผลอแอบคิดไปว่า แล้วมุกแบบในโฆษณาแอปเปิลเป็นมุกแบบไหนของอเมริกันชน Smart Taste?

 

ภาพตัวอย่าง มุกอังกฤษแบบ British Dark Humour จากเพจทางการพรรคแรงงาน สหราชอาณาจักร

 

ส่วนความเห็นในกลุ่มสื่อสายเทคก็มีหลากหลายมุมมอง ทั้งดีและลบ ตามปกติ เช่นที่น่าสนใจคือ

 

"สาย Tech ในประเทศเราเป็นแบบนี้ อวย Product ไม่กล้า Criticize เพราะมองว่าเดี๋ยวจะไม่ได้งาน เดี๋ยวเค้าจะไม่มาชวนไปออกงานอีก ทำให้คนไทยไม่มีสื่อความรู้ที่มีคุณภาพไว้เสพ พอข่าวออกมาว่า Apple ยอมถอย ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยออกมาปกป้องประเทศหรืออะไรเลยมาร้องมุแง กอด ๆ นะครับ ...."

 

แน่นอนว่านี่คือ โปรดักชั่นที่ทำออกมาล้ำดีเลิศ และยังได้ Mark Molloy ผู้กำกับฝีมือดีเจ้าของรางวัล Cannes Lions Grand Prix และ Cannes Lions เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการกำกับ ‘Apple at Work – The Underdogs’ ในทุกซีรีส์ มียอดคนดูมากกว่า 157 ล้านครั้งจนถึงปัจจุบันอีกด้วย

 

ทำไมคนไทย มองไม่เห็นโอกาสตรงนี้ ...

 

“คอนเซปต์ของหนังเรื่องนี้ต้องการแสดงให้เห็นว่าโลกยุคนี้สามารถ ‘Work from Anywhere’ แม้แต่ในประเทศที่การเดินทางช่างลำบากเสียเหลือเกิน"

 

เขาไม่ได้เหยียดหยามเรา ไม่มีฝรั่ง หรือชาวต่างชาติที่เหยียดเมืองไทย มันก็แค่โฆษณาตลก และคนเอเชียไม่เคยถูกเหยียดเวลาเดินทางไปในหลายๆ ประเทศ? ทำไมเราเคลื่อนไหวเรื่องการบูลลี่กันมาตั้งมากมาย แต่มาถึงเรื่องนี้ เรากลับมองว่ามันคือสิ่งดี แต่นั่นก็เป็นเรื่องของ มุมมองและการรับรู้

 

และถ้าจะเหยียดต่อมาว่า "คนไทย" เจ้าปัญหา ซึ่งก็ไม่รู้ว่าคนไหน เพราะมันกว้างมาก ว่าอ่านหนังสือไม่เกิน 8 บรรทัด ก็ต้องลองมองใหม่ เพราะมีผลสำรวจออกมาว่าตลาดหนังสือมันก็ยังเติบโตนะ ค่าเฉลี่ยการอ่าน ทุกแพลตฟอร์ม ไม่ได้อ่านแค่หนังสือเล่มอีกต่อไป แม้ Gen Z จะชอบอ่านหนังสือเล่มมากขึ้น ส่วนคนสูงวัยอ่านออนไลน์กันเยอะ การอ่านมีมิติที่กว้างหลากหลายและเฉพาะเจาะจงขึ้น รวมไปถึงการอ่านออนไลน์ ทำให้ล่าสุดพบว่า คนไทยอ่านหนังสือ 113 นาทีต่อวัน เปลี่ยนข้อมูลชุดใหม่ด่วนๆ (อย่าทำเหมือนแอปเปิล)

 

และ ถ้าคุณอยากให้คนในสังคมอ่านหนังสือมากขึ้น ไม่น่าจะมาจากวิธีการเหยียดนิสัยการอ่านน้อย แต่ถ้าคุณอยากพูดถึงนโยบายรัฐบาลอยากให้ส่งเสริมการอ่าน ฟาดไปตรงๆ เลยค่ะ อย่าใช้ "วิธีเหยียดนิสัยคนไทย" แบบที่มักกระทำต่อกัน เพราะมันก็เป็นรสนิยมและวัฒนธรรมที่ผู้มีปัญญาไม่ควรทำเช่นกัน

 

เพราะเอาเข้าจริง แอปเปิลอาจไม่ได้ตั้งใจเหยียด และอาจไม่ได้หวังผลไกลในเชิงลบ เพราะเขาอาจตั้งใจจะนำเสนอแค่ การออกมาทำงานในที่ที่การเดินทางลำบาก นอนไม่หลับมีแมลงก่อกวน ของก็หาย สระว่ายน้ำก็ตื้น แย่ในทุกๆ เรื่อง ด้วยเทคนิคการเล่าเรื่องแบบเกินจริง แต่พวกเขาสามารถทำงานได้อย่างคล่องตัวด้วยเทคโนโลยีและประสิทธิภาพการทำงานและนวัตกรรมของ Mac, iPhone, iPad, และ Apple Vision Pro ทั้งฟีเจอร์ Keynote, Share Play, Preview, Copy Subject, Copy and Paste, Air Drop, Name Drop., Group FaceTime, Mail .... ฯลฯ สารพัด ก็เท่านั้นเอง...

 

The Underdogs – OOO (Out Of Office) ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567 เป็นโฆษณาตอนที่ 5 ในชุดโฆษณาซีรีย์ Apple at Work ที่ตั้งใจผลิตออกมาเฉลี่ยปีละ 1 ชิ้น มีรูปแบบการเล่าเรื่องแบบหนังสั้นที่มีเป้าหมายในการสื่อสารให้คนเห็นว่าอุปกรณ์ของแอปเปิลสามารถใช้แก้ปัญหาในการทำงานได้หลายรูปแบบ คลิปความยาว 10 นาที ที่มียอดเข้าชมเกือบ 6,000,000 ครั้ง ในช่อง YouTube ของแอปเปิล

 

แอปเปิลได้รับทราบเรื่องดังกล่าวและวันที่ 2 ส.ค. 67 แอปเปิลก็ได้ทำการยุติเผยแพร่ (ลบ) โฆษณา The Underdogs: OOO (Out Of Office) แล้ว พร้อมออกแถลงการณ์ ดังนี้

"สืบเนื่องจากซีรีส์โฆษณา “The Underdogs” ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นที่ 5 ในซีรีส์นี้ ทางเรามีการทำงานใกล้ชิดร่วมกับบริษัทในประเทศไทยเพื่อดำเนินการสร้างและผลิตชิ้นงานโฆษณาซึ่งได้ทำการถ่ายทำในประเทศไทย ทั้งนี้เรามุ่งหวังและมีความตั้งใจที่จะถ่ายทอดวัฒนธรรมและมุมมองความคิดในแง่ดีของประเทศไทย และเราขออภัยที่โฆษณาชิ้นนี้ไม่ได้นำเสนอวิถีชีวิตของประเทศไทยที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้อย่างครบถ้วนและเหมาะสม ณ ตอนนี้ ทางเราได้ดำเนินการยุติการเผยแพร่โฆษณาดังกล่าวแล้ว”

 

“We would like to apologise that the advertisement has failed to present the Thai way of life in a complete and appropriate manner,” 

 

ส่วนแอปเปิลยังไม่ได้ออกคำตอบอย่างเป็นทางการต่อการวิพากษ์วิจารณ์.

 

ล่าสุดสื่อ Lifestyleasia.com (สื่อภาษาอังกฤษ) ได้นำเสนอประเด็นนี้ไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า

 

ประเทศไทยในสื่อ: เมื่อตรรกะล้มเหลว ความหรูหราจะมีชัยหรือไม่?

การต่อสู้ของประเทศไทยด้วยการนำเสนอภาพในสื่อไม่ใช่เรื่องใหม่ ในกรณีที่ The Hangover เล่นงานสถานบันเทิงยามค่ำคืนในกรุงเทพฯ ที่ "ผิดกฎหมาย" มากเกินไป และ The Grey Man เยาะเย้ยการใช้รถตุ๊กตุ๊กของเรา มีความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ที่แอปเปิลน่าจะรู้จัก (ประเทศไทย) ดีกว่านี้ และพวกเขาสามารถนำภาพลักษณ์ที่แท้จริงมาสู่ความสว่างได้

 

ทำไมเดฟ (ตัวละครคุณลุงในโฆษณา) ถึงไปซื้อเสื้อผ้าที่สยามพารากอนไม่ได้เหมือนคนอื่นๆ ในกรุงเทพล่ะ? ทำไมไม่หาข้อมูลโรงแรมก่อนเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง? ทำไมพนักงานถึงเรียกแท็กซี่ธรรมดาไม่ได้ หรือถ้าจะให้ดีกว่านั้น ให้ดาวน์โหลดแอป Grab จาก App Store แล้วที่นี่ใครมีเพื่อนคนไทยชื่อ 'แฮปปี้' บ้างคะ?

 

แม้ว่าตัวละครในวิดีโอจะไม่เคยพูดอะไรในแง่ลบเกี่ยวกับประเทศไทย แต่ฉากนี้ใช้เพื่อสื่อสารถึงความรู้สึกแปลกใหม่ของ 'อื่นๆ' ในที่แห่งนี้ทุกสิ่งดูแปลกตา แต่ iPhone ที่ตะวันตกคุ้นเคยและสะดวกใช้งานจะช่วยคุณได้ ในปี 2024 มีผู้ชมจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เบื่อหน่ายกับมุมมองแบบตะวันออกเช่นนี้

 

สำหรับชาวเน็ตจำนวนมาก การเปรียบเทียบกับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีรายอื่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ทำให้เรื่องราวนี้แย่ลงไปอีก แคมเปญวิดีโอปี 2023 โดย Google Japan กลายเป็นกระแสในเครือข่ายโซเชียล เนื่องจากผู้ใช้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่ชาวเอเชียมองโฆษณา Google Pixel ในแง่บวกมากขึ้น แม้จะเดินตามเส้นทางนักท่องเที่ยวเหมือนกัน แต่ก็ทำให้ประเทศได้เห็นแสงที่สมจริงยิ่งกว่ามาก อุปสรรคหลายประการที่เหมือนกันสามารถเอาชนะได้โดยใช้เทคโนโลยี รวมถึงอุปสรรคด้านภาษาโดยเฉพาะ

 

 

และต้องบอกว่า ประเด็นนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่น่าสนใจ เนื่องจากประเทศไทยมีกำหนดฉายรอบปฐมทัศน์ The White Lotus ใน HBO (มีฉากที่ถ่ายทำในประเทศไทย) และแน่นอนว่าต้องมีการตามรอยรีสอร์ทหรูในฮาวายและอิตาลี ซึ่งเรื่องนี้จะนำชื่อเสียงและนำนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาสู่สถานที่ถ่ายทำ และ ...อย่างน้อยภาพนี้จะทำให้ประเทศไทยมีความได้เปรียบในระดับสูง และเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่น

 

ก่อนทิ้งท้ายว่า เราสามารถพูดแบบเดียวกันนี้กับวิดีโอของแอปเปิลได้หรือไม่?