posttoday

ดราม่า 'เคลิฟ' ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่พิสูจน์ความก้าวหน้าของวงการกีฬา!

06 สิงหาคม 2567

เชียร์ ‘จันทร์แจ่ม’ ก็ต้องรู้จักคู่แข่งให้ดี! และชีวิตของ ‘เคลิฟ’ ยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจให้มาก เพราะเส้นทางคว้าเหรียญของนักกีฬาคนนี้จะชี้ขาด 'วงการกีฬา' ระดับโลกว่าได้พัฒนาไปเท่าทันยุคสมัย ที่เรื่องของ 'เพศ' หลากหลายกว่าหญิง-ชายหรือไม่?

คืนนี้นักชกขวัญใจชาวไทยอย่าง ‘จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง ’ จะขึ้นชกกับ 'อิมาเน เคลิฟ' นักมวยชาวแอลจีเรียที่กลายเป็นดราม่ายกใหญ่จากประเด็นเรื่องเพศของเธอ

 

  • ดราม่าทั่วโลก! ในวันที่ชนะการแข่งขัน

ดราม่าดังกล่าวแพร่สะพัดทั่วโลก จน 'เคลิฟ' ออกมาตัดพ้อว่า เธอถูกเกลียดชังอย่างไม่ยุติธรรม และ การได้มาโอลิมปิกของเธอเป็นเพราะพรสวรรค์และความทุ่มเทของเธอ 

พร้อมกันนี้ เคลิฟ ยังให้สัมภาษณ์ว่า 'ฉันขออุทิศเหรียญนี้ให้กับโลกใบนี้และชาวอาหรับทุกคน และฉันขอบอกพวกคุณว่า ‘แอลจีเรียจงเจริญ'  เธอพยายามกลั้นน้ำตาเอาไว้ ก่อนจะกล่าวต่ออีกว่า 'ฉันอยากบอกคนทั้งโลกว่าฉันเป็นผู้หญิง และฉันจะยังคงเป็นผู้หญิงต่อไป'

ในขณะที่พ่อของเธอระบุว่า ตอนที่เคลิฟแพ้ ไม่เห็นจะมีใครสนใจเรื่องดังกล่าว

 

อิมาเน เคลิฟ

 

เคลิฟเกิดวันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1999 ที่ประเทศแอลจีเรีย โดยสูติบัตรและหนังสือเดินทางระบุว่าเธอมีเพศหญิง และมีความชื่นชอบในกีฬามวยมาตั้งแต่วัยเด็ก โดยพ่อของเธอเคยให้สัมภาษณ์ว่าอิมานเป็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่ชื่นชอบกีฬาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ โดยเธอเริ่มต้นที่กีฬาฟุตบอลก่อนที่จะเปลี่ยนมาชื่นชอบในกีฬาชกมวย ซึ่งตอนแรกพ่อของเธอไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่ากีฬาชกมวยไม่เหมาะกับผู้หญิง

ชื่อของเคลิฟปรากฎตัวครั้งแรกในวงการมวยปี 2018 โดยเธอจบการแข่งขัน 2018 AIBA Women's World Boxing Championships ไปด้วยลำดับที่ 17 ปีต่อมาเธอจบที่ลำดับที่ 33

ในปี 2020 เธอเป็นนักมวยหญิงคนแรกที่เข้าสู่โอลิมปิกในนามทีมชาติแอลจีเรีย แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับนักมวยหญิงชาวไอร์แลนด์ เคลลี่ แฮร์ริงตัน ในรอบก่อนรองชนะเลิศ ซึ่งเคลลี่ใช้ทักษะของเธอเอาชนะเคลิฟไปได้และคว้าเหรียญทองในการแข่งขัน

 

เคลิฟไม่ได้รับความสนใจจนกระทั่งในปี 2023 เธอลงแข่งขันเพื่อชิงเหรียญในเวทีชิงแชมป์โลกของ IBA และถูกตัดสิทธิด้วยข้อกล่าวหาจาก IBA ว่าเคลิฟไม่ผ่านการทดสอบ DNA โดยระบุว่าเคลิฟมีโครโมโซม XY อย่างไรก็ตามวอชิงตันโพสต์ได้ระบุว่า การออกมาตัดสิทธิในครั้งนี้ไม่ชัดเจน และการทดสอบที่ระบุว่าเคลิฟมีโครโมโซม XY หรือมีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูงนั้นไม่ได้มีการเปิดเผยวิธีการทดสอบ

ด้านเคลิฟออกมาปฏิเสธและระบุว่านี่เป็น ‘การสมคบคิดครั้งใหญ่’

 

ดราม่า \'เคลิฟ\' ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่พิสูจน์ความก้าวหน้าของวงการกีฬา!

 

จนถึงปัจจุบัน IOC ยังยืนยันว่า ‘เคลิฟ’ สามารถแข่งขันได้ เพราะเธอเกิดเป็นผู้หญิง ลงทะเบียนเป็นผู้หญิง ใช้ชีวิตเป็นผู้หญิง และชกมวยในฐานะผู้หญิง รวมไปถึงมีพาสปอร์ตที่ระบุว่าเธอเพศหญิง ซึ่งเคลิฟตอบรับคำประกาศของ IOC โดยระบุว่า 'ฉันรู้ว่าคณะกรรมการโอลิมปิกได้ให้ความยุติธรรมกับฉัน และฉันพอใจกับแนวทางแก้ไขนี้ เพราะมันคือความจริง'

ท่ามกลางกระแสดราม่าต่างๆ นานา ล่าสุด IOC ได้เปิดเผยเอกสารที่ระบุว่า เคลิฟคือเพศหญิง แต่มีพัฒนาการทางเพศในแบบที่แตกต่างคือ DSDs ซึ่งไม่เข้าข่ายคนข้ามเพศแต่อย่างใด

 

  • DSDs Differences in sex development คืออะไร?

ภาวะนี้เป็นอาการที่พบเห็นได้น้อย ซึ่งเกี่ยวข้องกับยีน ฮอร์โมน และอวัยวะที่เกี่ยวกับการสืบพันธุ์ ที่ทำให้พัฒนาการทางเพศแตกต่างไปจากผู้คนส่วนใหญ่

โดยในระยะแรกตั้งแต่มีการปฏิสนธิจนอายุครรภ์ 7 สัปดาห์ ตัวอ่อนทั้งเพศชายและหญิงจะมีลักษณะที่เหมือนกัน ไม่สามารถแยกลักษณะทางเพศได้ เรียกว่า indifferent state หลังจากนั้นจึงจะมีการพัฒนาทางเพศที่แตกต่างกัน ซึ่งจะมีขั้นตอนการพัฒนาต่างๆ ที่แปลกไปจากการพัฒนาทั่วไป ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการกำหนดเพศโดยโครโมโซม การพัฒนาของต่อมเพศ หรือการพัฒนาอวัยวะสืบพันธุ์ หากพัฒนาแปลกไปจากที่เคยเกิดขึ้นทั่วไป ก็จะทำให้เด็กมีภาวะการพัฒนาทางเพศที่ผิดปกตินั่นเอง

อาการที่พบมีอยู่หลายลักษณะ เช่น อวัยวะเพศภายนอกมีความกำกวม ลักษณะอาจจะมีความคล้ายเพศหญิง แต่เมื่อสูงวัยจะมีความเป็นชายเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีระดับเทสโทสเทอโรนสะสมสูงขึ้นได้ หรืออาการที่อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกเป็นเพศหญิงโดยสมบูรณ์ แต่มีพัฒนาการทางเพศขั้นที่สองไม่ดี แต่จะพบว่ามีไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบซึ่งเกิดจากตอ่มเพศอัณฑะไม่เลื่อนลงมา

นอกจากนี้ยังมีประเภทของอาการที่อาจจะได้รับการวินิจฉัยเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งมักมาพบด้วยภาวะมีบุตรยาก จากต่อมเพศไม่เจริญ จะมีตัวสูง หน้าอกใหญ่ อัณฑะขนาดเล็ก มีขนตามร่างกายน้อย ความต้องการทางเพศน้อยเป็นต้น

 

  • Intersex และแนวคิดเมื่อฉันไม่ใช่ทั้งชายและหญิงในกายภาพ

จะเห็นได้ว่าคนกลุ่มนี้จะมีอวัยวะเพศหรือโครงสร้างทางกายภาพในการสืบพันธุ์ที่แตกต่างออกไปจากชายหรือหญิง ซึ่งบางครั้งคนกลุ่มนี้จะถูกเรียกว่า Intersex หรือตัว I ใน LGBTQIA+  ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่คนทั่วไปได้รับความรู้น้อยมากๆ โดย ปัจจุบันประชากรชาว intersex มีอยู่ไม่มากนัก คิดเป็นร้อยละ 0.05-1.7 และอัตราการเกิดอยู่ที่ 1 : 1,000-2,000 คน

ความยากของการเป็น intersex คือพวกเขาถูกวินิจฉัยว่านี่คือสภาพผิดปกติ และต้องรักษาให้เป็นปกติ เด็กจำนวนไม่น้อยจึงถูกผ่าตัดแปลงให้เป็นชายหรือหญิงเพศใดเพศหนึ่ง และควบคุมโดยฮอร์โมน ซึ่งอันที่จริงแล้วหากไม่กระทบกับสุขภาพและอาการเจ็บป่วย ชาว Intersex บางคนก็ไม่อยากจะเปลี่ยนสิ่งที่ตัวเองเป็นเพื่อไปเป็นชาย-หญิงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่พวกเขาเรียกร้องที่จะเป็นเพศในแบบฉบับของตัวเองมากกว่า

 

Intersex จึงเป็นเพศใหม่อย่างยิ่งยวด ที่ผลักกรอบความคิดเรื่อง ‘เพศ’ ทางกายภาพออกไปได้ไกลกว่าเดิม

 

ส่วน ‘เคลิฟ’ เธอยืนยันว่าเธอเป็นผู้หญิง แม้ IOC จะยืนยันผลว่าเธอมีความผิดปกติทางเพศ ทำให้เข้าข่ายการเป็น Intersex  และมีระบุในพาสปอร์ตที่ออกโดยรัฐบาลแอลจีเรียว่าเธอเป็นเพศหญิง

อย่างไรก็ตาม จะพบว่าเคลิฟเติบโตมาในแอลจีเรีย ซึ่งประเทศแอลจีเรียไม่ได้เปิดรับสิทธิมนุษยชนด้าน LGBTQIA+ เท่าไหร่ และการเป็นเพศหลากหลายนั้นมีความผิดตามกฎหมายในประเทศของเคลิฟ 

 

ดราม่า \'เคลิฟ\' ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่พิสูจน์ความก้าวหน้าของวงการกีฬา!

 

  • เมื่อวงการกีฬา ไม่ทัน แนวคิด ‘เพศที่หลากหลาย’

กฎของโอลิมปิกนั้นมีข้อกำหนดแค่เพียง ‘คนข้ามเพศ’ ไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าแข่งขัน เช่น ข้ามเพศจากชายเป็นหญิง ก็จะไม่สามารถเข้าแข่งในประเภทหญิง รวมถึงเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจระดับเทสโทสเทอโรน หรือมีเงื่อนไขทางสุขภาพที่มีลักษณะเหมือนเพศชาย

อย่างไรก็ตามเคลิฟจะได้แข่งต่อไป และวันนี้จะต้องแข่งขันกับ จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง  นักชกหญิงตัวเต็งของไทย ที่เคยเอาชนะเคลิฟไปได้จากการถูกปรับแพ้ของฝั่งเคลิฟ หลังตรวจเพศไม่ผ่านในการแข่งขันที่จัดโดย IBA นั่นเอง

ด้านจันทร์แจ่มเองก็ให้สัมภาษณ์ว่า 'ฉันไม่กลัวที่จะเผชิญหน้ากับเธอในระดับนี้ ฉันจะทำให้ดีที่สุด'  ซึ่งในฐานะคนไทยก็ต้องนับถือและส่งกำลังใจให้เธอ ในฐานะนักกีฬาที่ทำหน้าที่ของตนเองบนสังเวียนอย่างดีที่สุด ไม่ว่าคู่ต่อสู้จะเป็นใครก็ตาม!

ท้ายสุด IOC ยังไม่ได้มีฉันทามติในเรื่องดังกล่าวทั้งในเรื่องของวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับเพศ หรือความเป็นธรรมในการแข่งขันแต่อย่างใด  แต่สิ่งหนึ่งที่เราได้รู้คือ จากดราม่าที่เกิดขึ้น เราพบว่าแนวคิด ‘เท่าเทียมและหลากหลาย’ โดยเฉพาะแนวคิดของชาว Intersex ที่มองว่าเพศของเขาไม่ใช่ทั้งหญิงและชายใหม่มากสำหรับวงการกีฬา ที่ยังเน้นการแข่งขันกีฬาบนพื้นฐานการแข่งขันของหญิงและชายมาตลอด โดยไม่ได้สนใจการให้พื้นที่แก่ความหลากหลายทางเพศที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน แม้ว่าโอลิมปิก 2024 ที่ฝรั่งเศสนี้จะชูประเด็นนี้สักแค่ไหนก็ตาม แต่แก่นของการแข่งขันอย่างเรื่องของ 'เคลิฟ' นี้กลับกลายเป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่ามันไม่ได้ไปไกลกว่าเดิม

แน่นอนว่าในอนาคตหากคณะกรรมการโอลิมปิกไม่ได้มีข้อตกลงในประเด็นนี้ ก็จะเป็นสิ่งที่ท้าทายไปตลอด เนื่องจากเพศในปัจจุบันนั้นมีหลากหลายมากกว่าชาย-หญิง และมันคงสะท้อนว่า ‘มาตรฐานสากล’ ระหว่างแนวคิดเรื่องเพศและกีฬา ยังไม่ได้อยู่บนหน้าเดียวกัน.