ออกสเต็ป ‘สวิงแดนซ์’ การเต้นที่เติบโตบนประวัติศาสตร์การแบ่งแยกสีผิว!
25 สิงหาคมนี จะมีการจัดงานเต้นสวิงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่ ‘หัวลำโพง’ โพสต์ทูเดย์จึงพาไปทำความรู้จัก ‘สวิงแดนซ์’ ที่เต้นระบำอยู่บนประวัติศาสตร์การแบ่งแยกสีผิว และทุกวันนี้ก็กลายเป็นกิจกรรมที่โอบรับคนทุกเพศ ทุกวัย ไปพร้อมกัน!
STEP INTO SWING งานเต้นสวิงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด ณ หัวลำโพง กำลังจะจัดขึ้น ในวันที่ 25 สิงหาคม 2024 นี้! โดยในงานจะมีทั้งการบรรเลงของวงสวิงแจ๊สชั้นนำจาก 3 ประเทศ อย่าง The Stumbling Swingout จากประเทศไทย The Frankie Sixes จากประเทศมาเลเซีย และ Carolina Reapers จากประเทศฝรั่งเศส อกจากนี้ยังตื่นตาไปกับการแข่งขัน Battle รอบชิงชนะเลิศรายการ Swing Era City Battle ที่ประกอบด้วยผู้เข้าแข่งขันจากทีมปักกิ่ง ทีมไทเป ทีมสิงคโปร์ ทีมกัวลาลัมเปอร์ และทีมกรุงเทพฯ พร้อมทั้งมีคลาสสอนเต้นให้กับนักเต้นมือใหม่
การเต้นสวิงในประเทศไทย โดยเฉพาะใน กทม. เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในคนทุกรุ่นตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ นอกจากจะมีสตูดิโอเปิดสอนหลากหลายแล้ว ยังมีกิจกรรมตามสถานที่ต่างๆ ในกทม. ที่แต่ละสตูดิโอจัดขึ้นไม่ว่าจะเป็นในสวนสาธารณะ เยาวราช หน้าพระปฐมเจดีย์ ที่จังหวัดนครปฐม หรือครั้งนี้ที่หัวลำโพง
- รู้จัก 'สวิงแดนซ์' ให้มากขึ้น การเต้นที่เชื่อมความแตกต่างเข้าด้วยกัน
การเต้นสวิง ถือกำเนิดขึ้นในชุมชนชาวแอฟริกันอเมริกัน ราวปีค.ศ.1920-1940 ซึ่งการเต้นสวิงนั้นมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ Balboa Collegiate Shag หรือ Charleston แต่รูปแบบหนึ่งที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ก็คือ Lindy Hop
Lindy Hop พัฒนาขึ้นจากการผสมผสานรูปแบบการเต้นที่มีมาก่อนหน้านี้ เช่น ชาร์ลสตัน (Charleston), เบรกอะเวย์ (Breakaway) และแทปแดนซ์ (Tap Dance) โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันเป็นการเต้นแบบคู่ที่มักจะมีการปล่อยมือจากคู่เต้นเป็นระยะ ๆ และกลับมาจับมือกันอีกครั้งในการเต้น ซึ่งแตกต่างจากการเต้นแบบคู่ที่เป็นทางการในยุคนั้น
โดย ชื่อ "Lindy Hop" มาจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การบินในปี 1927 เมื่อชาร์ลส์ ลินด์เบิร์ก (Charles Lindbergh) บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกโดยไม่มีการหยุดพักในเครื่องบิน "Spirit of St. Louis" ผู้คนเรียกการบินของเขาว่า "Lindy's hop" ("การกระโดดของลินดี้") ซึ่งนำมาใช้เรียกการเต้นนี้ด้วย เนื่องจากการเคลื่อนไหวในการเต้นนี้ดูเหมือนกับการกระโดด
Lindy Hop เป็นการเต้นที่มีความหมายทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีการแบ่งแยกสีผิวในสังคมอเมริกาอย่างชัดเจน แต่มีสตูดิโอแห่งหนึ่งซึ่งชื่อว่า The Savoy ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่ทำให้การเต้นแบบ Lindy Hop เติบโตขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว ด้วยว่าเป็นสตูดิโอเพียงแห่งเดียวจากห้าแห่งในแมนฮัตตัน ที่เปิดให้คนผิวสีสามารถเข้าใช้บริการร่วมกับคนผิวขาวได้โดยหนึ่งในนักออกแบบท่าเต้นที่ช่วยทำให้ Lindy Hop โด่งดังเคยกล่าวไว้ว่า‘ไม่มีใครสนว่าคุณจะสีผิวอะไร เรามองแต่เท้าของคุณเท่านั้น’
โดยแต่ละปีสตูดิโอแห่งนี้จะเปิดรับนักเต้นสวิงกว่า 70,000 คน และยืนยันว่าที่นี่เป็นบ้านของ ‘Happy Feet’ หรือการเคลื่อนไหวของเท้าที่มีชีวิตชีวา และแน่นอนว่าที่นี่เป็นสถานที่ของดนตรีที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองก็ว่าได้
ส่วนใครที่สนใจอยากจะเปิดประสบการณ์ในสถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร และสนุกสนานไปกับดนตรีแจ๊ส และการเต้นแบบสวิง รู้จักดนตรีและเพื่อนใหม่ สามารถเข้าร่วมงานได้ฟรี ตั้งแต่เวลา 16:00 - 19:00 น. ลงทะเบียนได้ที่ https://ticket.jellyrolljazzclub.com/hualampong2024