posttoday

’หมอยง‘ ชี้คนไทยที่เกิดหลังปี 2523 ไม่ได้ปลูกฝี เสี่ยงติด ฝีดาษลิง ง่ายกว่า!

23 สิงหาคม 2567

’หมอยง‘ ชี้ผู้สูงอายุในไทยส่วนใหญ่เคยได้รับวัคซีนป้องกันฝีดาษแล้ว จากการปลูกฝี ซึ่งสามารถป้องกัน ‘ฝีดาษลิง‘ ได้แม้จะไม่สมบูรณ์ แต่ไทยยกเลิกการปลูกฝีในปี 2523 ทำให้ผู้ที่เกิดหลังจากนั้นเสี่ยงต่อการติดโรคได้มากกว่า!

เมื่อวานนี้ (22 สิงหาคม 2567) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ 'โรคฝีดาษวานร' ที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง ในประเด็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงของโรคว่า

 

บุคคลที่ติดเชื้อฝีดาษวานรแล้ว จะทำให้เกิดโรครุนแรง ที่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงมีดังนี้

บุคคลที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ติดเชื้อ HIV และไม่ได้รับการรักษา กินยากดภูมิต้านทาน โรคเรื้อรังที่ทำให้ภูมิต้านทานต่ำร่างกายอ่อนแอ

เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี

บุคคลที่มีผื่นภูมิแพ้เรื้อรัง eczema

สตรีตั้งครรภ์

การติดต่อของสายพันธุ์ 1b สามารถติดต่อได้ทางฝ่ายละอองที่ออกมาทางจมูกและปาก และการสัมผัส กับผู้ป่วย การสัมผัสฝอยละออง การติดต่อจึงง่ายกว่าสายพันธุ์ 2b จึงทำให้มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นได้

ความรุนแรงของโรคสายพันธุ์ 1b มีความรุนแรงมากกว่า 2b ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะการติดเชื้อในวัยเด็กและเด็กส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิต้านทาน ซึ่งต่างกับผู้ใหญ่ที่มีอายุมาก โดยเฉพาะที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ส่วนใหญ่เคยปลูกฝี ป้องกันฝีดาษหรือไข้ทรพิษมาแล้ว จึงมีภูมิต้านทานข้ามสายพันธุ์ที่มาปกป้องหรือลดอาการของโรคได้บางส่วน

ทำไมผู้สูงอายุจึงไม่จัดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสำหรับ Mpox

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เคยได้รับวัคซีนป้องกันฝีดาษมาแล้ว วัคซีนดังกล่าวเมื่อปลูกฝีแล้วสามารถมีภูมิต้านทานต่อไข้ทรพิษได้ตลอดชีวิต และขณะเดียวกันสามารถข้ามไปปกป้องสายพันธุ์ Mpox ได้ด้วยถึงแม้จะไม่สมบูรณ์ จึงสามารถป้องกันการติดเชื้อ หรือลดความรุนแรงของโรคลงได้ 

ประเทศไทย เลิกปลูกฝีอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ปี พ.ศ 2523 ที่จริงแล้วการปลูกฝีเริ่มปลูกน้อยลงตั้งแต่ปีพ.ศ 2517  และเลิกเป็นทางการในปี 2523  แสดงว่าผู้ที่เกิดหลังปี 2523  จะเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการปลูกฝี จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เสี่ยงต่อการติด Mpoxได้มากกว่าผู้ที่เคยปลูกฝีแล้ว