posttoday

แฉ ‘อาชญากรรมทางเพศ’ ในเกาหลีใต้ ฉายภาพสังคม ‘โอปป้าเป็นใหญ่’

30 สิงหาคม 2567

2 เหตุการณ์ใหญ่สั่นสะเทือนไปถึงไส้ในสังคมเกาหลีใต้ หนึ่งคือกลุ่มเยาวชน แชร์รูปภาพอนาจารของเพื่อน-ครอบครัวตัวเอง จนเกิดแถลงการณ์ว่า ‘สังคมเกาหลีใต้ที่พลังทลายก่อให้เกิดผู้กระทำผิดทางเพศกว่า 220,000 คน’ และอีกหนึ่งคือการกล่าวหาไอดอลเกาหลีในคดีอาชญากรรมทางเพศ!

ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เกาหลีใต้เผชิญกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ 'อาชญากรรมทางเพศ' ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้กับสังคมทั้งในเกาหลีใต้และทั่วโลก จนเกิดการลุกฮือเรียกร้องของกลุ่มสตรี และกลุ่มที่ต้องการปกป้องสิทธิของผู้หญิงในเกาหลีใต้อย่างกว้างขวาง

โพสต์ทูเดย์ ติดตามประเด็นสำคัญดังกล่าว และพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ อาจหยั่งรากลึกไกลกว่าที่คิด และภาพ ‘โอปป้า’ ในฝันของใครหลายคน อาจจะต้องใช้วินาทีนี้ดึงสติกลับมาบนพื้นฐานความเป็นจริงครั้งใหญ่!

 

  • กลุ่มลับเยาวชนใช้แผยแพร่ภาพโป๊เปลือยของเพื่อนและครอบครัว ที่มีสมาชิกกว่า 220,000 คน

เหตุการณ์แรก คือการเปิดโปงแชทกลุ่มลับใน Telegram ซึ่งมีการเผยแพร่ภาพและวิดีโอทางเพศที่ถูกบันทึกโดยไม่ได้รับความยินยอม กลุ่มเหล่านี้มีสมาชิกมากกว่า 220,000 คน และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนบุคคลของเหยื่อ เช่น เพื่อนร่วมชั้น หรือสมาชิกในครอบครัว รวมถึงมีการสนับสนุนให้ทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับญาติพี่น้องของตนเอง

 

ภาพจาก koreaboo

 

นอกจากการเผยแพร่ภาพโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว วิธีการที่กลุ่มลับใช้ยังมีหลายรูปแบบ มีการใช้ Deepfake นำภาพของหญิงสาวที่ไม่ได้รับอนุญาตไปเข้ากระบวนการ และนำใบหน้าของบุคคลเหล่านั้นใส่ในวิดิโอต่างๆ ที่เป็นวิดิโอโป๊เปลือย

ที่น่าตกใจคือ ตามรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติของเกาหลีใต้ ในช่วงเจ็ดเดือนแรกของปีนี้ มีการรายงานการก่ออาชญากรรม deepfake ทางเพศถึง 297 กรณี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีเพียง 180 กรณี และเกือบสองเท่าของจำนวนในปี 2021

นอกจากนี้ ท่ามกลางผู้ที่ถูกตั้งข้อหากว่า 178 คน  113 คนยังเป็นเยาวชน! เพราะตามข้อมูลการรายงานล่าสุด แสดงให้เห็นว่ามีการสร้างเนื้อหาเหล่านี้โดยเฉพาะในโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วประเทศในเกาหลีใต้ รวมถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำด้วย!

 

รวมไปถึง "Nth Room" ซึ่งเป็นห้องแชทใน Telegram มีการตั้งกลุ่มแชทที่มีหมายเลขต่อท้าย เช่น ห้องที่ 1, ห้องที่ 2, จนถึง "Nth" ซึ่งห้องแต่ละห้องจะมีการเผยแพร่เนื้อหาที่รุนแรงและผิดกฎหมายมากขึ้นตามลำดับ นอจากนี้ยังมีชื่อห้องที่ตั้งตามหมวดหมู่อย่าง ห้องญาติ , ห้องแม่ , ห้องพี่สาวคนโต ซึ่งแตกต่างจากเว็บโป๊ทั่วไปคือ บุคคลที่ถูกนำมาแชร์นั้นเป็นบุคคลจริงๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับตนเอง รวมไปถึงคุณครูที่สอน หรือทหารหญิงที่ร่วมฝึกด้วยกัน

นอกจากนี้ วิธีการที่ได้มาของภาพดังกล่าว ยังรวมไปถึงการบังคับและข่มขู่เหยื่อให้ถ่ายวิดีโอหรือรูปภาพในลักษณะที่น่าอับอายหรืออนาจาร จากนั้นจึงนำเนื้อหาเหล่านี้ไปเผยแพร่ใน "ห้อง" หรือห้องแชทที่ผู้ใช้สามารถเข้าร่วมได้โดยการจ่ายเงิน

 

ทั้งนี้ คดีล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ซึ่งโด่งดังภายในระยะเวลา 2 อาทิตย์ที่ผ่านมานี้ เคยเกิดขึ้นแล้วในเดือนมีนาคม 2020 ในแอปพลิเคชัน Telegram เช่นกัน โดยมีผู้ใช้งานคือ Dr.Joo-bin แอบอ้างเป็นแพทย์ และสร้างช่องทางเพื่อเผยแพร่เนื้อหาลามกดังกล่าว ซึ่งนำไปสู่การสืบสวนและจับกลุมในช่วงเวลานั้น

อย่างไรก็ตาม กลุ่มลับใน Telegram ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง จนนำมาสู่การเปิดโปงห้องแชทที่พบว่ามีจำนวนสมาชิกกว่า 220,000 คน และส่วนใหญ่เป็นเยาวชน!

 

แผนที่แสดงจุดที่พบการใช้ Deepfake ก่ออาชญากรรมทางเพศในเกาหลีใต้

 

  • ไอดอลค่ายดัง ถูกแจ้งความ ‘อาชญากรรมทางเพศ’

แม้คดีจะอยู่ในกระบวนการแจ้งความ และสืบสวน แต่การออกมาประกาศยุติบทบาทของ 'แทอิล สมาชิกในวง NCT' ของไอดอลชายค่ายยักษ์ใหญ่ในวงการ k-pop เกาหลี อย่าง SM Entertainment ได้สร้างความสะเทือนใจและตกใจให้แก่บรรดาแฟนคลับไม่น้อย  เนื่องจากข้อความในการประกาศ ระบุว่า แทอิล อยู่ในขั้นตอนของการถูกแจ้งความในประเด็นอาชญากรรมทางเพศ โดยทางสถานีตำรวจโซลได้แจ้งเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า แทอิลได้รับรายงานข้อกล่าวหาอาชญากรรมทางเพศเมื่อเดือนมิถุนายน โดยเหยื่อระบุนามสมมติ A เป็นผู้หญิงที่บรรลุนิติภาวะแล้วได้เข้าแจ้งความเมื่อเดือนมิถุนายนและขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน

แม้ข้อเท็จจริงยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ว่าการแจ้งความนั้นจริงเท็จมาน้อยเพียงใด แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นในทันทีคือ การโดนถอดออกจากวง NCT รวมไปถึงเพื่อนร่วมวงก็ทยอย ‘อันฟอลโลว์’ ในบัญชีอินสตราแกรมจนครบทุกคน และเกิดการวิจารณ์กันในวงกว้างในกลุ่มแฟนคลับ

 

ทั้งนี้ เมื่อย้อนหลังไปก่อนหน้านี้ ไอดอลชายเกาหลีหลายคนเคยมีคดีอาชญากรรมทางเพศ โดยหลายรายพิสูจน์แล้วว่าเป็นความจริง และมีบางส่วนที่สามารถเอาชนะคดีและพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้ ยกตัวอย่างเคสที่โด่งดังที่สุดอย่าง อีซึงฮยอน หรือ ซึงรี อดีตสมาชิกวง BIGBANG ซึ่งมีข่าวเกี่ยวข้องกับคดี Burning Sun ซึ่งข้องแวะกับการค้ามนุษย์ ร่วมถึงล่วงละเมิดทางเพศและถ่ายทำภาพหรือวิดิโอที่ไม่เหมาะสม

จางจุนยอง นักร้องและนักแสดงที่โดนคดีล่วงละเมิดทางเพศเช่นกัน รวมไปถึง ชอยจุงฮุน อดีตสมาชิกวง F.T.Island ซึ่งถูกจับกุมและถูกตัดสินใจคดีที่เกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศ

อย่างไรก็ตามมีหลายกรณีที่ไอดอลเกาหลีใต้ถูกแจ้งความแต่ต่อมาพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้กระทำความผิด เช่น คิมฮยองจุง อดีตสมาชิกวง SS501 และนักแสดง ซึ่งถูกแฟนเก่าแจ้งความเรื่องทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศ และพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้กระทำความผิดจริง

 

ไม่ว่าคดีความของ แทอิล อดีตสมาชิกวง NCT จะมีบทสรุปเช่นไรในท้ายที่สุด แต่การออกมาดำเนินการของ SM Entertainment ซึ่งรวดเร็วและเด็ดขาดมากกว่าครั้งไหนๆ ในช่วงเวลาที่คดี Telegram  ก็ทำให้มองเห็นว่า ‘อาชญากรรมทางเพศ’ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและสั่นไหวต่อสังคมเกาหลีมากเพียงใดในระยะเวลา 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา

 

 

ประกาศจาก SM ถอดไอดอลออกจากวง

 

  • ผลกระทบทางสังคมและการออกมาเรียกร้องของ ‘ผู้หญิง’ ในสังคมเกาหลี

หลังคดี Telegram ฉาวโฉ่ไปทั่วโลก ได้มีการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มสิทธิสตรีและผู้หญิงในเกาหลีใต้ อาทิ กลุ่ม Womenlink ซึ่งได้ออกมาประณามและเรียกร้องรัฐโดยกล่าวว่า ผู้หญิงในเกาหลีใต้นั้น ‘อยู่โดยปราศจากรัฐ’ โดยมองว่าประเทศเกาหลีไม่สามารถปกป้องผู้หญิงได้ โดยได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมากล่าวว่า

‘สังคมที่พังทลายทำให้เกิดผู้กระทำความผิดทางเพศกว่า 220,000 คน’ และตั้งคำถามว่า ‘เกาหลีใต้จะเพิกเฉยต่อสถานการณ์อันน่าสังเวชนี้ไปอีกนานเพียงใด’

 

แฉ ‘อาชญากรรมทางเพศ’ ในเกาหลีใต้ ฉายภาพสังคม ‘โอปป้าเป็นใหญ่’

 

โดยพวกเธอกล่าวว่า ผู้หญิงเกาหลีต้องอาศัยอยู่ในสังคมที่อาชญากรรมและความรุนแรงมุ่งเป้าไปที่พวกเธอโดยไม่ได้รับการลงโทษหรือการปกป้องที่ดีพอ และมองว่าการกระทำที่เกิดขึ้นใน Telegram นั้นหมายความว่าผู้ชายเกาหลีมองเพื่อนร่วมงานผู้หญิง หรือคนรู้จักที่เป็นผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศอย่างนั้นหรือ?

นอกจากนี้ยังประณามรัฐบาลยุนซุกยอล โดยมุ่งไปที่ความพยายามของรัฐบาลที่จะยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว โดยอ้างว่าในเกาหลีใต้ไม่มีการเลือกปฏิบัติทางเพศ ซึ่งไม่เป็นความจริง!

 

ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนมกราคม ปี 2023 เกาหลีใต้ได้มีความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายการข่มขืนให้รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้รับความยินยอม แต่ในอีกเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงต่อมาก็ได้มีการปฏิเสธแนวคิดนี้ ท่ามกลางความรุนแรงทางเพศที่แทบจะเป็นปรากฎการณ์ในเกาหลีใต้

ปี 2019 สายด่วนผู้หญิงเกาหลี พบว่ามีผู้หญิงถูกฆ่าทุก 1.8 วันในเกาหลีใต้ และพบว่าเหยื่อฆาตกรรม 98% เป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลก นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ชายร้อยละ 80 (ศึกษาจากผู้ชายเกาหลีใต้ 2,000 คน)  เคยทำร้ายร่างกายหรือจิตใจของคู่ครองระหว่างความสัมพันธ์

 

Institut du Genre en Géopolitique (IGG) องค์กรที่มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ประเด็นเกี่ยวกับเพศสภาพในบริบทของภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งก่อตั้งที่ฝรั่งเศสเปิดเผยว่า ระบบยุติธรรมของเกาหลีใต้นั้นผ่อนปรนต่อผู้ก่ออาชญากรรมทางเพศ สาเหตุเป็นเพราะ ‘ระบบชายเป็นใหญ่’ ที่หยั่งรากลึกในเกาหลีใต้ โดยมองว่าระบบขงจื๊อเป็นระบบที่กดขี่ผู้หญิง เพราะในระบบขงจื๊อผู้หญิงต้องเสียสละเพื่อครอบครัว และมีลำดับชั้นระหว่างชายและหญิงในทุกสถาบันของสังคม สังคมเกาหลียังสนับสนุนให้ผู้หญิงอ่อนโยน สวยและอ่อนน้อม คุณค่าของผู้หญิงผูกติดอยู่กับร่างกายของพวกเธอจนทำให้ถูกทำให้เป็นเพียงวัตถุทางเพศ

 

นอกจากนี้ในเกาหลีใต้ยังมีสำนวนที่เรียกว่า นัมจอนยอบี หมายถึง ผู้ชายสูงกว่าผู้หญิง อีกด้วย

 

สิ่งนี้ยังส่งผลต่อสังคมเกาหลีใต้ในปัจจุบัน เมื่อครั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดี ยุนซอกยอล ในช่วงหาเสียงเขากล่าวว่าสังคมเกาหลีใต้นั้นไม่มีการเลือกปฏิบัติ เป็นเพียงคำพูดเก่าๆ ว่าผู้หญิงได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมและผู้ชายได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าในเกาหลีใต้ ซึ่งค้านกับสถิติและความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าประธานาธิบดียุนซอกยูลใช้กลยุทธ์ต่อต้านสตรี และสามารถชิงตำแหน่งได้สำเร็จ เนื่องจากผู้ชายเกาหลีส่วนใหญ่ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีลงคะแนนให้เขาในการเลือกตั้ง! จนทำให้สังคมเกาหลีใต้แตกแยกมากกว่าที่เคย และนำไปสู่การจะยุบกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว ซึ่งกลับทำให้เกิดความเคลื่อนไหวของกลุ่มสตรีนิยมเพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา.