posttoday

‘ขบวนการแพทย์ชนบท’ คว้ารางวัลแมกไซไซ 2567 ที่มาแนวคิด ‘30บาทรักษาทุกโรค’

03 กันยายน 2567

ทำความรู้จัก ‘ขบวนการแพทย์ชนบท’ เจ้าของรางวัลรางวัลรามอนแมกไซไซ ประจำปี 2567 ที่มีเป้าหมายหลักต่อสู้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาคอร์รัปชัน จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม จนถึงวันนี้ ที่สามารถผลักดันนโยบายระดับประเทศจนเกิดการปฏิรูประบบสุขภาพ อาทิ ‘สิทธิบัตรทอง’

ขบวนการแพทย์ชนบท สามารถคว้ารางวัล รามอนแมกไซไซ ประจำปี 2567 ซึ่งเปรียบดังรางวัลโนเบลสาขาเอเชีย มอบให้กับผู้ที่มีผลงานโดดเด่นต่อมนุษย์ชาติในเอเชีย โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1957 เป็นต้นมา

โดยในปี 2567 มูลนิธิรางวัลแมกไซไซได้คัดเลือกผู้มีผลงานดีเด่นเข้ารับรางวัลจำนวน 5 รางวัล ให้กับ Karma Phuntsho จากภูฏาน, Miyazaki Hayao จากญี่ปุ่น, Nguyen Thi Ngoc Phuong จากเวียดนาม, Farwiza Farhan จากอินโดนีเซีย และขบวนการแพทย์ชนบท จากประเทศไทย โดยจะมีพิธีมอบรางวัลในวันที่ 16 พ.ย. 2567 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

 

‘ขบวนการแพทย์ชนบท’ คว้ารางวัลแมกไซไซ 2567 ที่มาแนวคิด ‘30บาทรักษาทุกโรค’

 

 

  • ขบวนการแพทย์ชนบท ชนวนจากเหตุการณ์ 14 ตุลา เมื่อหมอพบเห็นความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นชนวนเหตุครั้งใหญ่ ที่ทำให้แพทย์ได้พบเห็นความเดือดร้อนของประชาชนในชนบทอย่างแท้จริง และทัศนคติดังกล่าวได้หล่อหลอมหลายสิ่งให้เกิดเป็นรูปธรรม อย่างหนึ่งคือ ขบวนการแพทย์ชนบท ที่ยังคงสืบสานและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเพื่อเป็นแพทย์ที่ออกไปรับใช้คนจน!

ในปี 2519 จึงมีการจัดตั้ง สหพันธ์แพทย์ชนบท ขึ้น และเปลี่ยนชื่อเป็นชมรมแพทย์ชนบทในปี 2521 แต่ยังคงรักษาอุดมการณ์ดั้งเดิมคือการพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขในชนบทเป็นหลัก

ขบวนการแพทย์ชนบท ได้ขับเคลื่อนจนสามารถออกกฎหมายที่ใช้ในปัจจุบันได้ถึง 7 ฉบับ

แต่หนึ่งในนั้นที่ถือว่าเป็นผลงานชิ้นใหญ่ ที่ถือว่าเป็นหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้แก่คนไทยที่ไม่เคยได้อยู่ในระบบ คือการเสนอแนวคิดของ 'หมอหงวน' หรือ นพ.สงวน นิตยา รัมภ์พงศ์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ในเรื่อง 'หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ' (บัตรทอง) แก่พรรคไทยรักไทยในสมัยนั้น หลังจากที่พยายามเสนอให้แก่หลายพรรค

จนอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร รับลูกและเกิดเป็นโครงการบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคภายใต้ 'พระะราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545'  ที่สามารถกลายเป็นนโยบายเรือธง และกวาดเสียงคะแนนอย่างท่วมถ้น จนเกิดเป็นคำที่ว่า 'นโยบายประชานิยม' มาจนถึงยุคของนายกอิ๊งค์ บุตรสาว ซึ่งได้ขยายโครงการไปสู่การรักษาทุกที่ โดยใช้ประโยชน์จากระบบดิจิทัล

 

นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ บิดาแห่งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของไทย

 

นพ.วิชัย โชควิวัฒน คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะอดีตประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า หนึ่งในผลงานรูปธรรมคือการผลักดันให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ที่ประเทศไทยเริ่มต้นด้วยการมีค่าใช้จ่ายต่อหัวเพียง 30 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในเวลาเดียวกันนั้นสหรัฐอเมริกามีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อหัวอยู่ที่ 12,500 ดอลลาร์ ซึ่งนี่เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นและได้รับการกล่าวถึงเรื่อยมา

 

ด้าน นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย จ.สงขลา ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ขบวนการแพทย์ชนบท เป็นการรวมความคิดจากกลุ่มเครือข่ายไม่ว่าจะสหพันธ์ ชมรม หรือแพทย์ที่ทำงานในชนบท รวมทั้งกลุ่มต่างๆ อย่างกลุ่มสามพราน ที่เปรียบเสมือนวง Think Tank ของการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพ ที่มีเป้าหมายหลักเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และต่อสู้กับคอร์รัปชัน

โดยมีผลงานที่ก่อให้เกิดกฎหมายสำคัญในระบบสุขภาพอย่างน้อย 6 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมบุหรี่ การกำเนิดหน่วยงาน ส. ต่างๆ ตลอดจน พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ ล่าสุด ที่แสดงให้เห็นชัดว่านี่เป็นขบวนการทางความคิดที่สามารถสร้างรูปธรรม ผลักดันการทำงานจากพื้นที่ไปสู่การขับเคลื่อนเชิงนโยบายที่มีผลไปทั่วประเทศได้ จึงเป็นเหตุผลที่รางวัลแมกไซไซให้ความสำคัญและเชิดชูเกียรติ และเป็นรางวัลที่มีความหมายสำหรับพวกเราทุกคน

“เรามีชุดความคิดที่เป็นเอกเทศ เวลาเราเห็นสิ่งที่ไม่ใช่ เราก็มักจะให้ความเห็นออกไป ซึ่งในช่วงตลอด 20-30 ปีหลังมานี้เราให้ความเห็นต่อสังคมเยอะ และหลายอย่างก็เป็นความคิดเห็นที่ไม่ค่อยตรงกับผู้ใหญ่ในบ้านเมือง หรือรัฐบาล จึงทำให้ขบวนการแพทย์ชนบทถูกมองว่ามีความเป็นการเมืองขึ้นมา

แต่ความจริงแล้วเราให้ความเห็นในเชิงประโยชน์สาธารณะ บนพื้นฐานที่มีข้อมูลด้วยเพราะเราเองก็คือ NGOs ใน GO ที่อยู่ในระบบราชการ สามารถเข้าถึงทรัพยากรและข้อมูลได้หลายอย่าง นั่นเป็นจุดแข็งที่ทำให้ขบวนการนี้ขับเคลื่อนมาได้ยืนยาวถึง 50 ปี และมีบทบาทสำคัญในการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศเรื่อยมา” นพ.สุภัทร กล่าว