posttoday

‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ในยุคนายกอิ๊งค์ ฝันให้ไกล..ไปถึงหรือไม่?

06 กันยายน 2567

จับตานโยบาย 'ซอฟต์พาวเวอร์' ในยุคนายกอิ๊งค์ ชัดเจนเพียงใดและใช้ 'ซอฟต์พาวเวอร์' อย่างที่ชาวโลกเข้าใจหรือไม่ หลังความเคลื่อนไหวจากปาฐกถาของทักษิณ ชินวัตร และท่าทีของกระทรวงวัฒนธรรมภายใต้การบริหารงานของ 'รัฐมนตรีปุ๋ง' ที่ปักธงดัน ซอฟต์พาวเวอร์ เต็มกำลัง!

ซอฟต์พาวเวอร์ คำนี้โด่งดังขึ้นในไทยหลายปี ตั้งแต่สมัยอดีตนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากที่ ‘ลิซ่า’ โด่งดังเป็นพลุแตกทั่วโลก และศิลปินเกาหลีสามารถทำเงินเข้าประเทศได้แบบพลิกความคาดหมาย ทำให้คนให้ความสนใจกับคำว่าเศรษฐกิจที่มาจากการสร้างสรรค์ และซอฟต์พาวเวอร์ว่าสามารถสร้างเศรษฐกิจในประเทศได้อย่างไรบ้าง

 

แม้จะเห็นดีเห็นงาม แต่นโยบาย ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ เด่นชัดขึ้นหลังจากการขึ้นสู่อำนาจของพรรคเพื่อไทย และปักธงจะดันนโยบาย ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

โดย นายกอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร ณ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เคยกล่าวไว้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ว่า

 

“เราตั้งเป้าหมายว่าซอฟต์พาวเวอร์ต้องสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 4 ล้านล้านบาท และต้องยกระดับชีวิตของคนไทยทุกครัวเรือนให้มีรายได้  200,000 บาทต่อปี”

 

 

โดยมีการแบ่งซอฟต์พาวเวอร์ออกเป็น 11 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น 

 

  • ซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่ otop 

ซอฟต์พาวเวอร์นั้นเป็นรูปแบบของนโยบายที่มีโมเดลจากหลายประเทศไม่ใช่แค่ที่เกาหลีใต้ ที่ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นอีกประเทศที่ส่งออกและทำเงินจากอนิเมชันมาก่อน ส่วนเกาหลีใต้นั้นกว่าจะสำเร็จก็เริ่มนโยบายนี้มาตั้งแต่ปี 2544 หรือกว่า 20 ปีแล้ว

สำหรับประเทศไทย ภายใต้การนำของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เราเคยมีนโยบาย otop หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่โด่งดังในช่วงยุคสมัยของทักษิณ ชินวัตร บนวิธีคิดที่จะพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากในแต่ละตำบล โดย otop มีการจัดเรตติ้งและให้ดาวเป็นการการันตีคุณภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนการส่งออก และสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 2 ล้านล้านบาท ตามคำกล่าวของนายกอิ๊งค์

เมื่อเวลาผ่านไป มาสู่ยุคที่พรรคเพื่อไทย ขึ้นครองตำแหน่งอีกครั้งในรุ่นลูก เค้ารางของนโยบายเสริมเศรษฐกิจจากฐานราก ก็ได้กลับมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นการนำมาผนวกกับคำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ 

 

ซึ่งความหมายที่แท้จริงของซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่การขายผลิตภัณฑ์ เหมือนนโยบาย otop แต่อย่างใด แม้จะสามารถสร้างเศรษฐกิจได้เหมือนกัน แต่มีรายละเอียดที่ต่างกัน

 

ซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่การขายผลิตภัณฑ์ แต่คือการทำให้โลกยอมรับถึงวัฒนธรรม และทำให้วัฒนธรรมไทยนั้นสามารถแทรกซึมและเข้าไปอยู่ในใจของคนในชาติไทยและชาติอื่นๆ ได้ ซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจก็จะตามมาเองหลังจากนั้นทั้งในรูปแบบของการซื้อผลิตภัณฑ์ การมาท่องเที่ยว ฯลฯ

โดยต้องมีการตีโจทย์ให้แตกก่อน ฉะนั้น ซอฟต์พาวเวอร์จึงไม่ใช่แค่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ต้องสร้างความชื่นชอบ และความนิยมก่อน หากจะประกาศว่ากำลังทำนโยบาย ‘ซอฟต์พาวเวอร์’

 

  • ความคืบหน้าซอฟต์พาวเวอร์ก่อนเกิดการเปลี่ยนนายกฯ กะทันหัน

ตลอดหนึ่งปีของพรรคเพื่อไทยกับนโยบายนี้ ขยับแต่ไม่มากนัก 

กระทรวงต่างๆ พยายามผนวกเอานโยบายดังกล่าวร่วมกับสิ่งที่ตัวเองมี โดยเฉพาะการดำรงตำแหน่งของ รมว.ปุ๋ง สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ซึ่งเข้ารับตำแหน่งในครม.เศรษฐา 1 ในตำแหน่ง รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งมีนโยบายนำซอฟต์พาวเวอร์ เข้ามาเป็นเครื่องมือส่งเสริมการท่องเที่ยว หวังสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าไทย ถึงกับประกาศว่า จะเคลื่อน 7 นโยบายหลักในปี 67 ชูพลังซอฟต์พาวเวอร์ และปั๊มรายได้ท่องเที่ยว '3.5 ล้านล้านบาท' ดึงต่างชาติเที่ยวไทย 40 ล้านคน และกระจายรายได้จากนักท่องเที่ยวสู่ชุมชน

ซึ่งฝั่งเอกชนมองว่า ‘หืดขึ้นคอ’

อีเวนต์ใหญ่อย่าง ‘สงกรานต์’  ซอฟต์พาวเวอร์ ในช่วงเวลาดังกล่าว ก็มีการเผยแพร่ข่าวสารให้รับรู้ว่าสงกรานต์เมืองไทยจะเล่นตลอดเดือนเมษายน แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น แม้รายได้จะทะลุเป้าก็ตาม

 

ภายหลัง รมว.ปุ๋ง ได้ย้ายมาทำงานที่กระทรวงวัฒนธรรมเต็มตัว หลังมีการปรับครม. ซึ่งเป็นกระทรวงที่รับผิดชอบด้านซอฟต์พาวเวอร์โดยตรง ก็ประกาศดำเนินงานซอฟต์พาวเวอร์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้หัวใจสำคัญที่คือการพัฒนา ‘คน สังคม เศรษฐกิจ เทคโนโลยี และ ซอฟต์พาวเวอร์’ โดยรมว.ปุ๋ง มีวาระที่ตั้งใจจะผลักดันคือ นโยบายหนึ่งภูมิภาค หนึ่งมรดกโลก และ นโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power ซึ่งล่าสุดได้มีการเปิดลงทะเบียนออนไลน์ อบรม 13 หลักสูตรฟรีไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตั้งเป้าหมายที่จะอบรมออนไลน์รวมกว่า 266,400 คน และจะมีการอบรมออนไซด์ 30,000 คน

และอีกหลายโครงการที่ รมว.ปุ๋งมั่นใจว่า วธ.จะเป็นหนึ่งในกลไกเสริมทัพ สร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้ถึงเป้าหมาย 3.5 ล้านล้านบาทต่อปี

 

 

แม้ว่าจะแผ่วลงในช่วงเดือนท้ายๆ ของรัฐบาลเศรษฐา เนื่องจากเจอวิกฤตการเมืองเล่นงาน รวมถึงถูกจับตาในด้านเศรษฐกิจและดิจิทัลวอลเล็ตเป็นสำคัญ จนทำให้คำว่าซอฟต์พาวเวอร์เริ่มเลือนๆ ไปจากหน้าสื่อและหยุดชะงัก รวมถึงร่าง พ.ร.บ. THACCA เพื่อให้มีหน่วยงานขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ซึ่งมาพร้อมกับการของบสนับสนุนอีกกว่า 7,000 ล้านบาท ก็ยังค้างเติ่งอยู่

โดยแผนเดิมคือจะมี สำนักงาน “THACCA” ที่ทำหน้าที่บริหาร จัดสรรงบประมาณ มีภารกิจผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่สากล แต่ตามแผนเดิมจะถูกจัดตั้งในปี 2568

 

  • เอาจริงแน่! ในรัฐบาลนายกอิ๊งค์

การกลับมาเข้ารับตำแหน่งของนายกอิ๊งค์ ทำให้ ซอฟต์พาวเวอร์ กลายเป็นนโยบายเรือธงที่ต้องจับตามองอีกครั้ง ประกอบกับท่าทีของทักษิณ ชินวัตร ในการแสดงปาฐกถาที่บนเวที Vision For Thailand จัดโดย เนชั่น กรุ๊ป ก็ได้กล่าวถึงนโยบายนี้ว่า

“สิ่งที่อยากพูดถึงคือ..รัฐบาลนี้เอาแน่ เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ เอาจริงเอาจังแน่ เราต้องการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ทุกรูปแบบ”

โดยนายทักษิณ ชินวัตร เน้นหนักไปที่การส่งเสริมมวยไทย ซึ่งหวังไปถึงการเปิดลีกการแข่งขันเช่นเดียวกับฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

การสนับสนุนอีสปอร์ต ให้คนไทยสามารถผลิตและสร้างเกมเองได้ ผ่านกระบวนการรัฐจ่ายเป็นโทเคน มาขึ้นเงินกับรัฐบาล

ส่วนทางด้านศิลปะ ก็จะเน้นไปที่การเปิดกว้างให้คนทั่วไปสามารถสร้างสรรค์งานศิลปะได้ ผ่านระบบ บล็อกเชน-เอ็นเอฟที ซึ่งจะเกิดขึ้นหลัง ดิจิทัลวอลเล็ต

ในขณะที่ด้านแฟชั่น จะมีการส่งเสริมนางแบบเลือดไทย อย่างเช่นที่บราซิลเคยประสบความสำเร็จด้วยการปั้นนักบอลและนางแบบสัญชาติบราซิล นำเงินเข้าประเทศ

ที่สำคัญคือการฟื้นโปรเจกต์ครัวไทยสู่ครัวโลก ที่เคยถูกพูดถึงในยุคของทักษิณ ชินวัตร กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้นอยู่ภายใต้การดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ ที่ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็น 1 ใน 5 ของผู้ส่งออกสินค้าอาหารรายใหญ่ของโลกให้ได้ และสนับสนุนร้านอาหารไทยในต่างแดน และใช้ร้านอาหารไทยเหล่านี้เป็นแหล่งกระจายสินค้าไปทั่วโลก ซึ่งทำให้ร้านอาหารไทยทั่วโลกจากที่เคยมีอยู่ราว 5,000 ร้านเพิ่มเป็น 15,000 ร้าน เป็นปรากฎการณ์ที่สำนักข่าวต่างประเทศอย่าง the Economist บัญญัติศัพท์ใหม่ให้กับปรากฎการณ์นี้ขึ้นว่า “Gastrodiplomacy” หรือ “การทูตผ่านอาหาร” 

และวิธีการดังกล่าวนี้เองเป็นวิธีการเดียวกับที่เกาหลีใต้ทำ ภายใต้แคมเปญ The Global Hansik campaign ซึ่งทำควบคู่กับกระแส Korean Wave จนโด่งดังเป็นพลุแตก ในเวลาต่อมา

 

การออกมาพูดของทักษิณ ชินวัตร จะว่าไปก็ทำให้เห็นแนวทางของนโยบายดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ภายหลังจากก่อนหน้านี้ นโยบายโดนโจมตีตั้งแต่เรื่องของการตีความคำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ เลยทีเดียว อย่างไรก็ตามภายหลังการประกาศนโยบายของครม.อิ๊งค์ ก็คงต้องจับตามองว่า จะผลักดันนโยบายนี้ให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้มากน้อยแค่ไหน

 

แต่จากความเคลื่อนไหวล่าสุดของกระทรวงวัฒนธรรมในช่วงรอยต่อทางการเมือง พบว่าได้มีความเคลื่อนไหวสำคัญนั่นคือการหา 'คอนเซปต์' หรือ 'ธีม' เพื่อที่จะสร้างแบรนด์ให้แก่ประเทศไทย

นโยบายที่จะสร้าง ‘แบรนด์ประเทศไทย’ โดยการจัดทำร่างแผน (ร่าง) แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำการศึกษาและวิเคราะห์การดำเนินงานในภาพรวมของประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับเศรษฐกิจวัฒนธรรม ทั้งบริบทการดำเนินงานตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันและสถานการณ์ทั้งในและนอกประเทศและจุดยืนของประเทศไทยในมิติเศรษฐกิจวัฒนธรรมในระดับสากล

เพื่อสังเคราะห์ธีม (Theme) ในการนำเสนอประเทศไทยอย่างลุ่มลึก หลากหลาย และสร้างแรงดึงดูดที่มีพลังมากยิ่งขึ้น! และกำหนดวิสัยทัศน์ คือ            'แบรนด์ประเทศไทย เป็นที่ชื่นชอบ ชื่นชมและเชื่อถือทั่วทุกมุมโลก'

เพื่อเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนและแนวทางการเสนอแผนระดับ 3 และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

 

สุดท้าย ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ จะเป็นนโยบายเรือธงที่จะขับเคลื่อนอย่างจริงจังเป็นแน่ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือ เส้นทางการได้มาซึ่งเงินที่รัฐบาลวาดฝันไว้ ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท หรือรายรับจากลีกมวย เกม การส่งเสริมนางแบบ รายได้เกษตรจากครัวไทยสู่ครัวโลก หรือรายรับ 200,000 บาทต่อปีต่อครอบครัว

สิ่งเหล่านี้คงไม่ได้ง่ายแม้แต่น้อย บางอย่างดูเหมือนจะต้องสร้างระบบขึ้นมาใหม่ทั้งหมดและย่อมต้องอาศัยการทำงานอย่างเต็มรูปแบบ การกำหนดธีมที่ชัดเจน ในระยะเวลาและงบประมาณที่เพียงพอ เพื่อจะได้คว้ารายรับเข้าประเทศ อย่างที่รัฐบาล ‘ฝัน’ ให้กับคนไทย ไม่เช่นนั้นนโยบาย 'ซอฟต์พาวเวอร์' ก็คงจะจบลงแค่เพียงนโยบายขายของ ส่งออกผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ซึ่งไม่ใช่ ซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งกลายเป็นอำนาจที่สั่นสะเทือนโลกได้อย่างที่ควรจะเป็น.