posttoday

เป็นไปได้! เส้นใยที่เห็นถูกผลิตจากเปลือกหอย

24 กันยายน 2567

เปลือกหอย นับเป็นสิ่งเหลือทิ้งประจำมื้ออาหารที่เราต้องจัดการเป็นประจำ แต่วันนี้ขอแนะนำแนวคิดในการใช้เปลือกหอยมาผลิตเป็นผ้าขนสัตว์และพลาสติกชีวภาพ

หลายท่านอาจมองเปลือกหอยเป็นวัสดุสวยงาม นำไปใช้ในงานศิลปะและเครื่องประดับหลายชนิด แต่อันที่จริงเปลือกหอยจัดเป็นอีกหนึ่งชนิดขยะที่พบได้ทั่วไป ทั้งจากภาคการประมง เพาะเลี้ยง และการบริโภคในครัวเรือน ทำให้เปลือกหอยปริมาณมหาศาลกลายเป็นขยะที่ต้องได้รับการจัดการ

 

         นำไปสู่แนวคิดในการพัฒนาขยะเปลือกหอยให้กลายเป็นวัสดุที่สามารถใช้ประโยชน์ได้

 

เป็นไปได้! เส้นใยที่เห็นถูกผลิตจากเปลือกหอย

 

จากเปลือกหอยนางรมสู่ผ้าขนสัตว์

 

         ผลงานนี้เป็นของบริษัท Creative Tech Textile จากไต้หวัน กับแนวคิดในการใช้ประโยชน์จากเปลือกหอยนางรม ให้กลายเป็น Seawool เส้นด้ายชนิดพิเศษที่มีลักษณะและผิวสัมผัสใกล้เคียงกับผ้าขนสัตว์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมช่วยแก้ปัญหาขยะเปลือกหอยไปพร้อมกัน

 

         โดยพื้นฐานเปลือกหอยนางรมมีคุณสมบัตินำความร้อนต่ำจนเป็นฉนวน ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงนำเปลือกหอยนางรมที่ถูกทิ้งมาบดเป็นอนุภาคขนาดเล็ก ผสมเข้ากับผ้าโพลีเอสเตอร์ที่ผลิตจากวัสดุขวดพลาสติกรีไซเคิล แล้วจึงนำไปผ่านความร้อนให้แร่ธาตุภายในเปลือกหอยกลายเป็นแคลเซียมเพื่อเพิ่มความทนทาน

 

         ผลลัพธ์ที่ได้คือ ผ้าชนิดใหม่ที่มีลักษณะและผิวสัมผัสใกล้เคียงกับผ้าขนสัตว์จึงถูกตั้งชื่อว่า Seawool มีจุดเด่นในด้านน้ำหนักเบา ระบายอากาศดี ป้องกันรังสียูวีและอินฟราเรด รวมถึงยังมีคุณสมบัติเป็นฉนวนความร้อน ทำให้ผู้สวมใส่จะรู้สึกเย็นสบายในหน้าร้อนแต่อบอุ่นในหน้าหนาว

 

         ข้อดีที่แตกต่างจากผ้าขนสัตว์จริงคือ Seawool ไม่ก่อให้เกิดไฟฟ้าสถิตมากวนใจ และยังรองรับการทำความสะอาดด้วยเครื่องซักผ้าตามปกติ อีกทั้งส่วนประกอบหลักที่เป็นวัสดุเหลือใช้นำมารีไซเคิล นี่จึงเป็นผ้าขนสัตว์ชนิดใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้รับความสนใจจากหลายประเทศจนทำรายได้กว่า 6.1 ล้านดอลลาร์(ราว 203 ล้านบาท)/ปี

 

         แต่แน่นอนว่าพวกเขาไม่ใช่เจ้าเดียวที่นำขยะเปลือกหอยมาใช้ประโยชน์

 

เป็นไปได้! เส้นใยที่เห็นถูกผลิตจากเปลือกหอย

 

เส้นใยพลาสติกชีวภาพจากเปลือกหอยแมลงภู่ในไทย

 

         ผลงานนี้เป็นของนักวิจัยจาก สวทข. ร่วมกับ จุฬาฯ ในการนำขยะเปลือกหอยจากหอยแมลงภู่ อีกหนึ่งอาหารที่คนไทยนิยมในการบริโภคมาพัฒนาเป็น เส้นใยพลาสติกชีวภาพ ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเส้นใยพลาสติกตามท้องตลาด แต่มีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าและสามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ 100%

 

         เส้นใยพลาสติกเป็นวัสดุที่ถูกใช้ในอุปกรณ์เครื่องพิมพ์ 3 มิติกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะ Polylactic พลาสติกชีวภาพที่มีจุดเด่นด้านจุดหลอมเหลวต่ำแต่มีความไหลสูง สะดวกต่อการนำเป็นวัตถุดิบในการฉีดสำหรับขึ้นรูป แต่เนื่องจากเป็นสินค้านำเข้าจึงมีราคาค่อนข้างสูงจนยากต่อการใช้งานทั่วไป

 

         ด้วยเหตุนี้ทางทีมวิจัยจึงเกิดแนวคิดนำเอาขยะเปลือกหอยมาแปรรูปเป็น อนุภาคไบโอแคลเซียมคาร์บอตเนต ที่มีขนาดราว 109 นาโนเมตร พร้อมความบริสุทธิ์ 98% จากนั้นจึงนำมาผสมเข้ากับ Polylactic เพื่อให้กลายเป็นเส้นใยพลาสติกชนิดใหม่สำหรับใช้ร่วมกับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ

 

         ผลลัพธ์ที่ได้คือ เส้นใยพลาสติกที่พวกเขาคิดค้น สามารถนำมาใช้งานร่วมกับเครื่องพิมพ์ 3 มิติได้ทันที โดยมีคุณภาพและความทนทานเทียบเท่ากับเส้นใยพลาสติกที่ใช้งานกันทั่วไป จึงสามารถนำมาใช้ทดแทนเส้นใยพลาสติกที่มีการใช้งานทั่วไป ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติลดลง

 

         ความสำเร็จนี้เป็นประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งภาคธุรกิจที่มีต้นทุนในการขึ้นรูปสินค้าและผลิตต่อชิ้นลดลง เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ช่วยให้คนทั่วไปมีโอกาสในการเข้าถึงเครื่องพิมพ์ 3 มิติง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนนักศึกษาสำหรับใช้ในการเรียนการสอนและโครงการต่างๆ

 

 

 

 

 

         การนำขยะเปลือกหอยมาใช้ยังเป็นการนำขยะกลับมาใช้ซ้ำ ลดปริมาณขยะที่ก่อภายในอุตสาหกรรม นำทรัพยากรเหลือทิ้งกลับมาใช้งานให้เกิดประโยชน์ เป็นอีกหนึ่งแนวทางจัดการขยะรูปแบบใหม่ที่ช่วยแก้ไขปัญหาและเพิ่มมูลค่าแก่ขยะเปลือกหอยอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

 

         ถือเป็นแนวทางช่วยลดขยะเหลือทิ้งเพื่อผลักดันให้โลกและอุตสาหกรรมมุ่งสู่ความยั่งยืนต่อไป

 

 

 

         ที่มา

 

         https://www.thaiprint.org/2024/04/vol146/industrial146-04/

 

         https://phys.org/news/2024-08-gold-oyster-shells-repurposed-magic.html

 

         https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9660000104483