posttoday

'ฮัน คัง' สะท้อนความเหลื่อมล้ำของสตรีเกาหลีใต้ จนคว้ารางวัลโนเบลล่าสุด!

11 ตุลาคม 2567

'ฮัน คัง' นักเขียนชาวเกาหลีใต้คว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 2024 ไปครอง เธอเป็นชาวเกาหลีใต้คนแรกและเป็นผู้หญิงคนแรกในเอเชียที่คว้ารางวัลดังกล่าว ด้วยผลงานเขียนที่โดดเด่นอย่าง The Vegetarian ตีแผ่ชีวิตผู้หญิงในสังคมเกาหลีได้อย่างมีชั้นเชิง!

ถ้าถามว่าหนังสือเล่มไหนของ 'ฮัน คัง' นักเขียนหญิงชาวเกาหลีใต้ที่สามารถคว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 2024 มาครองได้สำเร็จ ท่ามกลางเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่ารางวัลนี้เป็นรางวัลที่มักจะมอบให้แก่นักเขียนชายมากกว่า นั่นคือหนังสือเรื่อง The Vegetarian ซึ่งเป็นหนังสือเล่มแรกของเธอที่ได้ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ 

เธอจบจากมหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของเกาหลีใต้ อยู่ในครอบครัวของนักเขียน และเริ่มเขียนนวนิยายตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา ผลงานชิ้นแรกของเธอได้รับการตีพิมพ์ในปี 1993 จนกระทั่งปี 2007 เมื่อหนังสือเรื่อง The Vegetarian ได้ถูกตีพิมพ์ และเป็นชิ้นที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักมากที่สุด

 

  • The Vegetarian

The Vegetarian เป็นเรื่องราวของหญิงสาวชื่อยองฮเย (Yeong-hye) ที่ตัดสินใจเลิกกินเนื้อสัตว์หลังจากฝันร้ายเกี่ยวกับความรุนแรง ในสภาพสังคมและวัฒนธรรมเกาหลีที่การกินเนื้อคือเดอะเบสท์!  เธอต้องเผชิญกับความกดดันจากครอบครัวและสังคม ซึ่งไม่เข้าใจการตัดสินใจของเธอ โดยเฉพาะกับผู้เป็นสามีที่บังคับให้เธอกินเนื้อสัตว์ จนกระทั่งสร้างรอยบาดแผลให้กับเธอ  หนังสือเล่มนี้แบ่งเป็นสามส่วน ได้แก่

 

ส่วนแรก คือมุมมองที่ถ่ายทอดจากมุมของสามีของยองฮเย ผู้ซึ่งไม่เข้าใจการตัดสินใจของภรรยาและมองว่าการเป็นมังสวิรัติของเธอเป็นเรื่องประหลาด

ส่วนที่สอง คือ มุมมองของน้องเขยของยองฮเย ซึ่งเกิดความหลงใหลในตัวเธอและหมกมุ่นกับการสร้างผลงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับร่างกายของเธอ

ส่วนที่สาม คือ มุมมองของน้องสาวของยองฮเย ซึ่งต้องดูแลพี่สาวที่ประสบปัญหาทางจิตใจอย่างรุนแรงหลังจากเผชิญกับการต่อต้านจากสังคม

 

แม้จะเป็นเรื่องราวของ ยองฮเย แต่วิธีการเขียนของ 'ฮัน คัง' กลับเลือกที่จะไม่เขียนในมุมมองของยองฮเยเลย แม้เรื่องราวจะถ่ายทอดและทำให้รู้ว่า ยองฮเย กลายเป็นผู้ป่วยโรคจิตเวชในสายตาผู้อื่น ตัวเธอดำดิ่งลงในบาดแผลและรู้สึกแปลกแยกเรื่อยมา อีกทั้งน้องเขยที่เสน่หาในเรือนร่างของเธอเท่านั้นและนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งสะท้อนการที่ผู้ชายเห็นผู้หญิงเป็นเพียงแค่วัตถุ  การเปลี่ยนแปลงของยองฮเยนำไปสู่ความขัดแย้งในครอบครัวและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อจิตใจของเธอและคนรอบข้าง จนกระทั่งสภาพจิตใจของเธอกลายร่างจากหญิงสาวธรรมดา กลายเป็นต้นไม้ที่ไร้ชีวิต! 

 

The Vegetarian ได้สะท้อนเรื่องราวของคนที่เลือกจะแตกต่างในสังคมเกาหลี ต้องกลายเป็นคนแปลกแยกและเป็นคนชายขอบได้อย่างลงตัว หากคุณมีค่านิยมที่ผิดจากสังคม หรือเพียงแต่เป็นผู้หญิง ย่อมจะไม่ได้ถึงซึ่งเสรีภาพ และการยอมรับ แม้แต่การควบคุมร่างกายและจิตใจของตนเองยังกระทำได้ยาก 

 

ในเรื่องของสังคมชายเป็นใหญ่ในประเทศเกาหลีใต้นั้น เป็นปัญหาใหญ่ที่หลังๆ มีคนออกมาพูดถึงและเรียกร้องค่อนข้างมาก โดยพบว่าผู้หญิงมีความเหลื่อมล้ำจากผู้ชายค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องของค่าจ้าง การมีส่วนร่วมในแรงงานของผู้หญิง บทบาทในครอบครัวที่ถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่ในการดูแลครอบครัวและลูกเป็นหลัก ส่งผลให้ผู้หญิงจำนวนมากต้องออกจากงานหรือหยุดพักงานเป็นระยะเวลานานหลังจากมีลูก ซึ่งทำให้โอกาสในอาชีพลดลง รวมไปถึง ปัญหาความรุนแรงทางเพศในเกาหลีใต้ยังคงเป็นเรื่องที่ร้ายแรง โดยมีอัตราการรายงานการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

งานเขียนของ 'ฮัน คัง' มักจะใช้สำนวนที่เข้มข้น ละเอียดอ่อน แต่ก็รุนแรงในการถ่ายทอดความรู้สึกของตัวละคร ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นกวีในผลงาน โดย The Vegetarian (채식주의자) ได้รับรางวัล Man Booker International Prize ในปี 2016  อีกด้วย

 

ฮัน คัง

 

  • งานเขียนร้อยแก้วที่เหมือนกับบทกวีอันทรงพลังแรงกล้า

ผลงานของ 'ฮัน คัง' เล่มอื่นๆ ยังผูกโยงกับสภาพสังคม ประวัติศาสตร์ของเกาหลี โดยมุ่งไปที่ประเด็นความแปลกแยก และความรู้สึกของผู้คนเหล่านั้นได้อย่างแยบยล 

ในช่วงที่ปาร์ค กึนเฮดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีระหว่างปี 2013-2017 ฮัน คังเป็นหนึ่งในศิลปินมากกว่า 9,000 คนที่ถูกขึ้นบัญชีดำเนื่องจากวิจารณ์รัฐบาลของปาร์ค  ศิลปินเหล่านั้นได้แสดงการสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านเสรีนิยมหรือวิจารณ์รัฐบาลอนุรักษ์นิยมของปาร์คและความล้มเหลวของนโยบาย รวมถึงความผิดพลาดในการกู้ภัยหลังเหตุการณ์เรือเฟอร์รีเซวอลอับปางในปี 2014 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตประมาณ 300 คน อีกด้วย

 

การชนะรางวัลโนเบลของฮันในวันพฤหัสบดีนี้สร้างความประหลาดใจไม่น้อย  เนื่องจากเธอไม่ได้ถูกกล่าวถึงในการคาดการณ์ก่อนการประกาศรางวัล อย่างไรก็ตามในการประกาศรางวัลที่กรุงสตอกโฮล์มของสวีเดน คณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมได้แถลงยกย่องผลงานของฮัน คัง ว่าเป็น

“งานเขียนร้อยแก้วที่เหมือนกับบทกวีอันทรงพลังแรงกล้า ซึ่งเผชิญหน้ากับบาดแผลทางประวัติศาสตร์ และเผยถึงความเปราะบางของชีวิตมนุษย์”