ไขความลับใต้ผืนผ้าใบ “ถวัลย์ ดัชนี” ในอาณาจักร "บ้านรั้วเขาควาย"
เปิดใจไขความกระจ่างครั้งแรกกับ ทิพย์ชาติ วรรณกุล (ป้าอ๊อด) คู่ชีวิต "ถวัลย์ ดัชนี" กับเบื้องลึกของผลงานยิ่งใหญ่ในอาณาจักรบ้านรั้วเขาควาย ปมมรดกพันล้าน ภาพวาดที่หายไป อะไรคือภาพจริง-ภาพปลอม! กับความจริงอีกด้านที่ไม่มีใครรู้
“ถวัลย์ ดัชนี” คือนามและกลายเป็นแบรนด์ของภาพวาดทรงพลังร้ายกาจในผืนพิภพ ไม่มีใครเหมือน ไม่มีใครทำได้เหมือน ไม่มี (ถวัลย์ ดัชนี) ที่อื่น ไม่มีชื่อภาพ ไม่มีลายเซ็นต์ในชิ้นงานขนาดใหญ่ เพราะภาพทั้งภาพคือลายเซ็นต์ของศิลปินที่ทะลุกรอบไปไกล ผู้จากเราไปเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง (3 กันยายน พ.ศ. 2557) แต่เรื่องราวของถวัลย์ ดัชนีและภาพวาดของเขาไม่ได้จบ ทว่ายังมีตัวตนอยู่ในกาล ท้าทายทุกงานศิลปะบนผืนผ้าใบในโลกปัจจุบัน ไม่ว่าใครจะทำอะไรกับภาพวาดที่เคยเป็นลมหายใจของเขา เขาไม่อาจรับรู้ได้อีกแล้ว มีเพียงความทรงจำและหลักฐานของความรักที่หลงเหลืออยู่เท่านั้น...
คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่า ป้าอ๊อดไม่ถูกนับจากครอบครัวทางฝั่งเชียงรายของถวัลย์ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด แต่เราจะไม่พูดถึงเรื่องนี้ เพราะปมต่างๆ ก็ได้คลี่คลายไปมากแล้ว ทั้งการแบ่งสรรปันส่วนมรดกระหว่างทายาทบุตรชายเพียงคนเดียวนายดอยธิเบศร์ ดัชนี และป้าอ๊อดแม้จะมีข่าวผ่านสื่ออยู่เนืองๆ ในเรื่องปมมรดกเกี่ยวกับภาพวาดที่หายไปและเรื่องภาพจริง-ภาพปลอม!
เผื่อใครยังไม่รู้ ศาลตัดสินแบ่งมรดกแล้วเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ปี 2562 โดยตัดสินให้นายดอยธิเบศร์เป็นผู้จัดการมรดกแต่เพียงผู้เดียว มรดกที่เหลือแบ่งสรรกันทั้งภาพวาด (แบบ50:50) และเงินในบัญชี (ทายาท60:ป้าอ๊อด40) ส่วนภาพวาดที่หายไปหลังถวัลย์เสียชีวิต (ตามที่เป็นข่าว) จำนวน 6 ภาพตามที่มีการแจ้งความ ผลการสืบสวนของคณะกรรมการสืบสวนเป็นที่รับรู้แล้วว่ามันถูกขายไปในช่วงที่ถวัลย์มีชีวิตอยู่ จึงไม่ถือว่าเป็น “ภาพหาย” ส่วนที่เหลือแม้จะยังอยู่ในกระแสสื่อแต่ก็ไม่มีหลักฐานที่จะเอาผิดได้ว่ามีการนำภาพออกไปสู่จุดหมายปลายทางใด ใครครอบครอง หรือเกิดอะไรขึ้นใต้ผืนผ้าใบ
บ้านรั้วเขาควาย ป้าอ๊อดและถวัลย์ ดัชนี
ภายใต้ผ้าคลุมของใบหน้าแย้มยิ้มและพื้นผิวอันสงบของความชรา ความรักครั้งนั้นยังเบิกบานอยู่ในดวงตาอย่างเต็มเปี่ยม เรื่องราวใดกันเล่าจะทรงพลังพอสำหรับความเชื่อและความวางใจ โพสต์ทูเดย์ได้มีโอกาสมาพูดคุยกับป้าอ๊อด ทิพย์ชาติ วรรณกุล ภายในบ้านรั้วเขาควายที่เงียบสงบและยังมีผลงานของถวัลย์โดดเด่นงามสง่าอยู่ในทุกมุมราวกับเขายังมีชีวิตอยู่ ทั้งโต๊ะทำงาน สิ่งของเครื่องใช้ เครื่องประดับ กระดูกสัตว์นานาชนิด และถ่านชาโคลบนจานรอง ถูกจัดวางไว้ราวกับเจ้าของเพิ่งจะออกไปข้างนอกเมื่อครู่นี้เอง
แต่สิ่งหนึ่งที่นำให้เรามาในวันนี้คือ “ความกระจ่าง” ในความจริงจากอีกฟากฝั่งของเรื่องราวที่ป้าอ๊อดต้องการให้โลกรับรู้ มาเริ่มกันเลย...
หลายเรื่องที่คนอยากรู้ เรื่องคดีความต่างๆ จบหรือยัง
“จบไปตั้งนานแล้ว ประมาณปีพ.ศ.2562 ป้าอ๊อดอยากอยู่เงียบๆ การที่ทรัพย์มันเป็นของเราตั้งแต่แรก สุดท้ายมันก็เป็นของเรา ไม่จำเป็นต้องไปป่าวประกาศโฆษณาให้ใครได้ทราบ” คือคำกล่าวอย่างเชื่อมั่น ไม่เกรงสิ่งใดของคู่ชีวิตที่ไม่ต้องมีเหตุผลใดมาอธิบายให้มากความ
แต่วันนี้ป้าอ๊อดอยากเปิดเผยต่อโลกให้ทุกคนทราบข้อเท็จจริงที่ไม่เคยเปิดเผยที่ใดหรือกับใครมาก่อนในเรื่องคดีความต่างๆ เกี่ยวกับมรดกพันล้านและคำตัดสินของศาล เพื่อไขข้อกระจ่างให้สังคมได้รับรู้ข้อเท็จจริงดังต่อไปนี้
รายละเอียดผลคดีฟ้องแบ่งทรัพย์
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 ศาลจังหวัดมีนบุรีได้โปรดมีคำพิพากษาตามยอมเป็นคดีหมายเลขแดงที่ พ.560/2562 สรุปคำพิพากษาโดยสังเขป ดังนี้
1.พิพิธภัณฑ์บ้านดำยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทลุงหวัน
2.ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 6 หมู่บ้านนวธานี (บ้านรั้วเขาควาย) ยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของป้าอ๊อด (โอนกรรมสิทธิ์เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562)
3.ที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 170/109 หมู่บ้านเกษราคลาสสิคโฮม ยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของป้าอ๊อด (โอนกรรมสิทธิ์เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2562)
4.ภาพวาดผลงานศิลปะที่เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์บ้านดำยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทลุงหวัน
5.ภาพวาดผลงานศิลปะที่เก็บไว้ที่บ้านเลขที่ 6 หมู่บ้านนวธานี (บ้านรั้วเขาควาย) ยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของป้าอ๊อด(ยกเว้นภาพที่วาดก่อนปีพ.ศ.2525)
6. ภาพวาดผลงานศิลปะที่เก็บไว้ที่บ้านเลขที่ 170/109 หมู่บ้านเกษราคลาสสิคโฮม แบ่งคนละครึ่งเท่าๆกัน (ยกเว้นภาพที่วาดก่อนปีพ.ศ.2525) แบ่งกันเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562
7.เงินที่ได้จากการขายภาพวาด 2 ภาพให้กับบุคคลภายนอกแบ่งกันคนละครึ่ง
8.ภาพวาดที่ทายาทลุงหวัน อ้างว่าหายไป หากได้กลับคืนมาสู่กองมรดก ให้แบ่งกันคนละครึ่ง
9.บัญชีเงินฝากทั้งหมด แบ่งกันในอัตราส่วนร้อนละ 60 ต่อ 40 (ทายาท 60 ป้าอ๊อด 40)
10.รถยนต์มี 2 คัน แบ่งคนละคัน
11.อาวุธปืน 1 กระบอก ยกให้ทายาทลุงหวัน
12.ลิขสิทธิ์ ยกให้ทายาทลุงหวัน และป้าอ๊อดสามารถนำภาพวาดผลงานศิลปะของลุงหวัน ออกแสดงได้ทั่วโลก
ซึ่งคดีดังกล่าวได้ถึงที่สุดแล้ว และได้มีการแบ่งทรัพย์สินกันตามคำพิพากษาเรียบร้อย ครบถ้วนถูกต้องแล้ว
“มีนักข่าวบางคนพูดอย่างสนุกปาก ว่าป้าอ๊อดไม่ได้เป็นคนวาดภาพ แล้วจะเป็นเจ้าของได้อย่างไร ร่วมกันทำมาหากินได้อย่างไร มีสิทธิในผลงานนั้นๆได้อย่างไร ป้าอ๊อดอยากถามว่า พวกคุณมาทำข่าว อ่านข่าว ภรรยาคุณมาร่วมอ่านข่าวด้วยมั๊ย ตำรวจไปจับผู้ร้ายภรรยาไปร่วมจับด้วยไหม”
ในส่วนคดีอาญา (ป้าอ๊อดถูกพาดพิงว่ามีส่วนในภาพที่หายไป) ผลคดีเป็นอย่างไร
คดีอาญาเกิดขึ้นช่วงที่เป็นคดีความฟ้องร้องแบ่งทรัพย์สินกันกว่าหนึ่งพันล้านบาท
ผลสรุปของคดี (คดีที่ 733/2560 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2560)
1.ผลการสอบสวนไม่พบการกระทำความผิด
2.ภาพของกลางทั้งหมด 6 ภาพที่อ้างว่าได้หายไปได้คืนให้กับเจ้าของเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากซื้อมาก่อนที่อาจารย์ถวัลย์เสียชีวิต
ป้าอ๊อดพอมีภาพพิมพ์ของลุงหวันไหม ขายที่ราคาเท่าไหร่ เห็นประกาศขายตาม facebook และสื่อออนไลน์ทั่วไป
ตลอดระยะเวลาการดำเนินชีวิตของอาจารย์ถวัลย์ไม่เคยนำผลงานภาพวาดของตนเองไปก็อปปี้ ทำซ้ำและออกขาย โดยเฉพาะผลงานที่ได้ขายออกไปแล้ว เป็นการให้เกียรติผู้ที่สะสมผลงานศิลปะ ไม่นำภาพที่ขายให้บุคคลอื่นแล้ว ไปก็อปปี้ทำซ้ำและออกขาย
ภาพวาดผลงานศิลปะ ต้องมีหนึ่งเดียว การก็อปปี้ ถ่ายสำเนา หรือ การทำซ้ำเป็นลดคุณค่าของผลงานศิลปะ ลดคุณค่าของผู้สร้างสรรค์ของผลงานศิลปะ
หากนำภาพที่ขายให้บุคคลอื่นไปแล้วนำไปก็อปปี้ ทำซ้ำและออกขาย ตามมารยาทแล้วต้องขออนุญาตเจ้าของภาพวาดผลงานศิลปะ ก๊อปปี้ภาพวาดแล้วยังไม่พอ กลับเซ็นชื่อตนเองลงในภาพวาดก๊อปปี้นั้นอีก ทั้งๆที่ตนเองไม่ได้เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะขึ้นมา อันนี้แปลกประหลาด ไม่มีศิลปินคนไหนทำกัน
เรื่องการออกใบรับรองงานศิลปะ (Certificate of Authenticity) ในผลงานภาพวาดของ "ถวัลย์ ดัชนี" ที่หลายคนอยากรู้
มีข่าวแพร่หลายว่า หากมีการประมูลขายภาพวาดของ อ.ถวัลย์ ดัชนี ทายาทผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จะเป็นผู้ออกใบรับรองยืนยันว่าเป็นภาพวาดผลงานของ อ.ถวัลย์ ดัชนี จริง หากไม่มีใบรับรองจะไม่มีใครกล้านำออกประมูลเพราะอาจเป็นของปลอม ป้าอ๊อดมีความเห็นอย่างไร นอกจากนี้ยังมีข่าวว่า หากภาพวาดออกมาทางฝั่งของป้าอ๊อดจะไม่รับรองให้เพราะเป็นของปลอม
ป้าอ๊อดได้มีการแจกแจงและตั้งคำถามต่อเรื่องดังกล่าวดังรายละเอียดต่อไปนี้
- งานที่จะมีลิขสิทธิ์ได้นั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ซึ่งผู้สร้างสรรค์ได้ทำหรือก่อให้เกิดขึ้นด้วยการริเริ่มของตนเองโดยใช้ความรู้ความสามารถและความวิริยะอุตสาหะจนทำให้งานนั้นสำเร็จจนถึงขนาดที่เรียกได้ว่าเป็นงานสร้างสรรค์โดยไม่ได้ลอกเลียนแบบหรือดัดแปลงมาจากงานอื่นใด
- ในคดีแพ่งที่แบ่งทรัพย์กัน มีภาพอยู่หลายร้อยภาพที่คู่ความไม่สามารถระบุได้ว่า วาดในช่วงปีไหน หากวาดก่อนที่ป้าอ๊อดจะมาอยู่กินกับลุงหวัน ภาพก็จะตกเป็นของทายาท ทนายความทั้ง 2 ฝ่ายเสนอให้ตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ ศาลท่านให้ความเห็นว่า ถ้าส่งตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ มีค่าใช้จ่ายสูง และอาจใช้เวลานานหลายปีกว่าจะพิสูจน์ ท่านแนะนำให้คู่ความใช้วิธีคาดคะเนเอา ซึ่งในวันที่แบ่งภาพวาดผลงานศิลปะใช้วิธีคาดคะเน แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย จึงจบลงด้วยดี
- ภาพที่อยู่ในบัญชีทรัพย์ระหว่างฟ้องร้องกัน มีการทำบัญชีทรัพย์อย่างถูกต้อง ผ่านการพิจารณาของศาล ภาพดังกล่าว เป็นของจริงแน่นอน แต่ภาพที่นอกเหนือจากบัญชีทรัพย์ จะทราบได้อย่างไรภาพไหนปลอม ภาพไหนจริง
- ภาพส่วนใหญ่จะไม่มีลายเซ็นลุงหวัน น้อยมากที่มีลายเซ็น โดยเฉพาะภาพวาดด้วยกระดาศบัสเวิร์ค (ฝีแปรงแบบฉับพลัน)
ทั้งหมดนี้ผ่านกระบวนการของเหตุผลในการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา อาจไม่มีความกระจ่างแจ้งในเรื่องภาพจริง-ภาพปลอม 100% เพราะเจ้าของผลงานไม่อยู่ยืนยันแล้ว คงเป็นไปตามสภาวะทางเหตุผลและของผู้ที่ยังอยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังว่าจะจัดการกับ “ผลงานศิลปะ” ของถวัลย์ ดัชนีอย่างไร ด้วยความถูกต้อง ชอบธรรม ยุติธรรมต่อผู้ที่ยังอยู่และเป็นไปโดยเคารพผู้วายชนม์อย่างที่สุด
แต่มีสิ่งหนึ่งที่ป้าอ๊อดรักษาไว้คือหลักฐานสำคัญหนึ่งเดียวที่ได้มีการระบุไว้ในบันทึก “คิดถึง ถวัลย์ ดัชนี” ในโอกาสจัดแสดงผลงานที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 21 มกราคม – 25 เมษายน 2566
ป้าอ๊อดเขียนเล่าในบันทึกเล่มนี้ว่า
“ช่วงย้ายมาอยู่ด้วยกันได้ไม่นาน มีครั้งหนึ่งลุงหวันขึ้นไปเชียงรายคนเดียว พอกลับมากรุงเทพฯ แกก็ยื่นกระดาษให้ป้าแล้วบอกว่า “อ๊อดเก็บไว้นะ วันหนึ่งมันจะมีประโยชน์กับอ๊อด”
มันคือใบหย่า ปรากฎว่าแกเพิ่งไปจดทะเบียนหย่ากับภรรยาเก่า (มากาเร็ต ฟันเดอร์ฮุค) หลังแยกกันอยู่มาสักพัก ป้าก็เก็บไว้ แล้วมันก็มีประโยชน์จริงๆ ในวันที่ลุงหวันจากไป ถ้าไม่มีใบหย่าป้าก็คงไม่สามารถรักษาบ้านหลังนี้เอาไว้ได้”
“เราไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ด้วยความที่แกเคยจด แล้วก็หย่ามาแล้วครั้งหนึ่ง ลุงหวันเลยมองว่าการเป็นคู่ชีวิตนั้นไม่ได้สำคัญที่กระดาษแผ่นเดียว”
ทรัพย์สินมากมาย จะทำอย่างไรต่อไป
ทรัพย์สินในคดีแพ่งดังกล่าวมีการแบ่งกันชัดเจนตามกฎหมายตามคำพิพากษาของศาลแล้ว เป็นของป้าอ๊อดแต่เพียงผู้เดียวโดยสมบูรณ์ หากป้าอ๊อดตายไป ทายาทลุงหวันไม่มีสิทธิมายุ่งเกี่ยว ทรัพย์สินทั้งหมดป้าอ๊อดได้ทำพินัยกรรมไว้แล้ว ป้าอ๊อดจะขายทรัพย์สินทั้งหมดและนำเงินที่ได้จากการขายทรัพย์สินมอบให้การกุศลทั้งหมด เช่น สภากาชาติไทย โรงพยาบาลต่างๆ ตามปณิธาน ของป้าอ๊อดกับลุงหวันร่วมกัน
“ณ ปัจจุบัน ป้าอ๊อด ยังหาที่อยู่ที่เหมาะสมให้ผลงานศิลปะของลุงหวันอยู่ มันควรไปอยู่ในที่ๆเหมาะสม และทุกสิ่งทุกอย่างที่ลุงหวันกับป้าอ๊อดร่วมกันสร้างกันมาด้วยความรักความผูกพัน จะคืนให้แก่แผ่นดิน”
ถวัลย์ ดัชนี
เกิดวันพุธที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2482 จังหวัดเชียงราย
ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2544
ศิลปินคนแรกของอาเซียนที่ได้รับรางวัล Fukuoka Asian Culture จากประเทศญี่ปุ่น
“นิทรรศการไตรสูรย์” ของ ถวัลย์ ดัชนี เป็นนิทรรศการที่ถูกจัดเป็นสุดยอดของตำนานในวงการศิลปร่วมสมัย
ถวัลย์ไม่เคยแสดงงานเดี่ยวในเมืองไทยมาเป็นเวลานาน จึงเป็นที่ตั้งตารอของผู้คนจำนวนมากมาย ทำให้มีสถิติผู้เข้าชมร่วม 3 หมื่นคนตลอดการแสดง บางวันมีคนมากกว่าพันคนในห้องแสดงงานทั้ง 3 ชั้นของหอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ในครั้งนั้นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีเสด็จทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดนิทรรศการที่ใช้ชื่อว่า “ไตรสูรย์” เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ตุลาคม 2547 โดยนิทรรศการจัดแสดงระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม 2547 – 11 มกราคม 2548 เป็นการรวบรวมผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ตลอดระยะเวลา 3 ปี
ไตรสูรย์หมายความถึงพระอาทิตย์ 3 ดวง สื่อนัยยะถึงช่วงเวลาอันรุ่งโรจน์แห่ง 3 ยุคสมัยที่เป็นบ่อเกิดและเบ้าหลอมแห่งอารยะธรรมของมนุษยชาติ หรืออีกนัยหนึ่งสื่อแสดงถึง อดีต ปัจจุบัน อนาคต