สัมผัสกับมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของไทย ที่ “ภูพระบาท”
ภูพระบาทแตกต่างจากสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ หรือ แหล่งโบราณคดีอื่นอย่างไร กับพื้นที่ทางธรณีวิทยาเมื่อราวร้อยล้านปีที่ผสมผสานกับความเชื่อของคนท้องถิ่นแถวอีสานเหนือทั้งผีและพุทธในช่วงไม่กี่พันปีที่ผ่านมา
ธรรมชาติ ผี พุทธ การผสมผสานความเชื่อที่ลงตัว
หลายท่านอาจคุ้นชินกับสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ หรือ แหล่งโบราณคดี ที่เป็นซากปรักหักพังของวิหาร เจดีย์ร้าง กำแพงเมืองเก่า หรือ เมืองเก่า อย่าง อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา หรือ สุโขทัย แต่กับที่ “ภูพระบาท” นั้นแตกต่าง น่าจะทำให้นักท่องเที่ยวเกิดความรู้สึกแปลกใหม่กับ พื้นที่ทางธรณีวิทยาเมื่อราวร้อยล้านปีผสมผสานกับความเชื่อของคนท้องถิ่นแถวอีสานเหนือทั้งผีและพุทธในช่วงไม่กี่พันปีที่ผ่านมา
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี มีลำน้ำโมงไหลลงสู่แม่น้ำโขง มีทิวเขาภูพานพาดผ่าน เป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐานโดยรอบภูมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และมีการปรับใช้พื้นที่บนยอดภูเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเกี่ยวกับวัฒนธรรมหินตั้งเมื่อราว 3,000 ปี และสืบเนื่องต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยทวารวดี (วัฒนธรรมสีมา) เขมร ล้านช้าง และรัตนโกสินทร์
สำหรับวิธีการเริ่มสัมผัสประสบการณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจภายในอุทยานนั้น เราจะเริ่มเดินท้าวตามทางเดินเข้าตัวอุทยาน สองข้างทางช่วงเดือนตุลาปลายฝนต้นหนาว ทุ่งอย่างเขียวชอุ่มด้วยต้นไม้ที่ขึ้นตามเพิงหินทรายที่ดูแปลกตา โบราณสถานแรกที่แนะนำ คือ ถ้ำวัว-ถ้ำคน ซึ่งปรากฏภาพเขียนสี (Pictograph) ที่แสดงถึงความเชื่อของผีบรรพบุรุษและสัตว์ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ราว 3,000 ปีมา นอกจากนี้ เพิงหิน ยังแสดงถึงความเกี่ยวข้องกับ วัฒนธรรมหินตั้ง (Megalithic culture) ที่ปรากฏในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 3,500 ปี เช่น แหล่งโบราณคดีสวนหินตั้งและทุ่งไหหินในลาว เพื่อการสถิตอยู่ของผีทั้งคนและสัตว์
จากนั้นเมื่อเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12 – 16) ชุมชนที่นี่เริ่มรับเอาศาสนาสากลเข้ามา คือ พุทธศาสนา จึงมีการปรับเปลี่ยนความเชื่อจากวัฒนธรรมหินตั้งกลายมาเป็นการใช้ “สีมา” โดยหน้าที่ของสีมาใช้ปักบอกขอบเขตพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์รวมถึงอาจเป็นสัญลักษณ์รูปเคารพภายในตัวเอง ซึ่งตามคัมภีร์สมันตปาสาทิกา อรรถกถา พระวินัยปิฎก ได้กล่าวถึงการใช้นิมิตล้อมรอบสถานที่ หนึ่งในนั้น คือ การใช้หิน บอกขอบเขตพัทธสีมา โดยสีมาบางกลุ่มอาจมีการปักถึง 3 ชั้น เพื่อบอกขอบเขตทั้งขัณฑสีมา สีมันตริกและมหาสีมา เช่นที่ แหล่งโบราณคดีดอนหินศิลา หรือ กลุ่มสีมาบวชพระปู่ วัดพระพุทธบาทบัวบาน
เฉพาะภายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมโบราณสถานที่เกี่ยวข้องการปรับใช้หรือใช้เพิงผาหินทรายรูปทรงแปลกประหลาดและมีการปักใบสีมาล้อมรอบ อาทิ ถ้ำฤาษี หอนางอุสา กู่นางอุสา เพิงหินนกทา คอกม้าน้อย คอกม้าท้าวบารส เป็นต้น
ประเภทของโบราณสถานแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ เพิงหินตามธรรมชาติที่มีสีมาหินล้อมรอบ เพิงหินตามธรรมชาติโดยมีการสกัดตกแต่งเป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและมีสีมาหินล้อมรอบ กลุ่มเพิงหินตามธรรมชาติที่มีการสกัดเป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมโดยไม่มีสีมาหินล้อมรอบ และกลุ่มโบราณสถานที่ไม่มีเพิงหินแต่มีการสกัดพื้นที่เพื่อทำพิธีกรรมทางศาสนา
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 – 18 ภูพระบาทปรากฏอิทธิพลงานศิลปะเขมรจากเมืองพระนครเข้ามา ดังปรากฏหลักฐานบนใบสีมาที่มีการสลักเป็นรูปบุคคลอยู่ในโคนซุ้มที่กลุ่มสีมา บวชพระปู่ วัดพระพุทธบาทบัวบาน ลักษณะศิลปะ อาทิ พระพักตร์สี่เหลี่ยม สีหน้าเคร่งขรึม ทรงเทริดหรือกระบังหน้า และมีมงกุฎทรงกรวย อิทธิพลศิลปะแบบเกาะแกร์ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 หรือ บริเวณถ้ำพระ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ปรากฏกรอบซุ้มพระพุทธรูปที่มีลวดลายและมีประติมากรรมสลักรูปเทวดาประทับนั่งอยู่ที่ส่วนของยอดซุ้มและมีนางอัปสรฟ้อนรำ ทั้งการทรงผ้า มงกุฎ ท่าทางการยกขาและกางแขน
นอกจากนี้ยังปรากฏอิทธิพลศิลปะเขมรสมัยบายน ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ที่ วัดลูกเขย ดังปรากฏการเรียงหินทรายก่อเป็นห้องล้อมรอบพื้นที่ใต้เพิงหิน มีการเจาะช่องแสง ซึ่งเป็นวิธีการสร้างปราสาทหินทรายในวัฒนธรรมเขมร มีการสร้างฐานรูปเคารพที่เป็นลักษณะฐานบัวลูกฟักสกัดจากหินธรรมชาติซึ่งอยู่ติดกับที่ และพบภาพวาดจิตรกรรมลายเส้นบริเวณผนังเหนือแท่นชุกชี เป็นภาพพระพุทธรูปยืน ด้านซ้ายเป็นภาพเทวดา 4 องค์
เข้าสู่ช่วงครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 18 – 19 ภูพระบาทยังคงถูกใช้งานอย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏรูปแบบสิ่งก่อสร้างและงานศิลปะแบบหลังเมืองพระนครและสมัยก่อนศิลปะล้านช้าง ตรงบริเวณรูปสลักแถวพระพุทธรูปยืน 6 องค์ และชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายจำนวนมากที่วัดพ่อตาและโบสถ์วัดพ่อตา
ในสมัยล้านช้าง อิทธิพลวัฒนธรรมล้านช้างได้แผ่ลงมาสู่พื้นที่อีสานเหนือ โดยเริ่มมีการสร้าง “รอยพระพุทธบาท” ไว้
ดังปรากฏรอยพระพุทธบาทจำนวน 5 รอย ตามตำนานพระพุทธเจ้าเลียบโลกและอุรังคธาตุ ซึ่งก็คือ ที่มาของชื่อ “ภูพระบาท” นั่นเอง โดยรอยพระพุทธบาทที่พบ มีดังนี้ 1.รอยพระพุทธบาทบัวบก วัดพระพุทธบาทบัวบก 2. รอยพระพุทธบาท วัดพระพุทธบาทบัวบาน 3. รอบพระพุทธบาทที่อูปโมงค์หรือเจดีย์ร้าง อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท 4. รอยพระพุทธบาทที่ภูผาแดง 5. รอยพระพุทธบาทหลังเต่า ใกล้กับวัดพระพุทธบาทบัวบก สันนิษฐานว่ารอยพระพุทธบาทมีการสร้างมาในสมัยล้านช้างและมีการสร้างทับหรือบูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยมีการสร้างเจดีย์ครอบทับ เช่น พระพุทธบาทบัวบกในปี พ.ศ.2461-2479
สำหรับท่านที่สงสัยชื่อของโบราณสถานต่างๆ ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีที่มาจากนิทานพื้นบ้านเรื่อง “นางอุสา – ท้าวบารส” ซึ่งเป็นนิทานหรือเรื่องเล่าที่แพร่หลายในกลุ่มวัฒนธรรมลาวและอีสานเหนือ ซึ่งต้นเรื่องน่าจะมากเรื่องของพระกฤษณะจากอินเดียและเข้ามาที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในชื่อ อุณรุท โดยชาวบ้านได้นำเอาสถานที่ต่างๆไปผูกติดกับเรื่องราวนี้ เช่น หีบศพพ่อตา บ่อน้ำนางอุสา หอนนางอุสา กู่นางอุสา คอกม้าท้าวบารส วัดลูกเขย หีบศพท้าวบารส
ท่านใดสนใจจะมาสัมผัสกับธรรมชาติและโบราณสถานในที่เดียวกัน รวมถึงการเป็นมรดกของคนทั้งโลกที่ต้องมาเรียนรู้และรักษาพื้นที่อันล้ำค่าแห่งนี้ไว้ ก็สามารถเดินทางจากตัวอำเภอบ้านผือโดยรถยนต์ 12 กิโลเมตร เปิดให้ทักท่องเที่ยวเข้าชมตั้งแต่เวลา 8.30 น. ถึง 17.00 น. ช่วงเวลา 16.30 น. จะเป็นช่วงสุดท้ายที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม มีรถไฟฟ้าบริการสำหรับผู้สูงอายุ
บทความโดย: วีรพงษ์ คำด้วง มัคคุเทศก์และอาจารย์พิเศษด้านโบราณคดี