posttoday

‘เมดพาร์ค’ ย้ำจุดยืน รักษาโรคยาก ชี้คนไทยเข้าไม่ถึงการรักษากว่า 3.5 ล้านคน

26 ตุลาคม 2567

คนไทยมีผู้ป่วยโรคหายากซึ่งยากต่อการรักษากว่า 3.5 ล้านคน หรือ 5% ของประชากร ที่ต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก! นี่จึงเป็นที่มาของบทสัมภาษณ์พิเศษ ผู้บริหารโรงพยาบาล ’เมดพาร์ค’ ตอกย้ำจุดยืนโรงพยาบาล 'เน้นรักษาโรคยากและซับซ้อน' ด้วยความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่ทันสมัย!

ก้าวสู่ปีที่ 5 ของโรงพยาบาลเมดพาร์ค โพสต์ทูเดย์ ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค (MedPark) ด้วยวิสัยทัศน์ตั้งแต่การก่อตั้งโรงพยาบาลที่อยากจะเน้นการรักษาโรคยาก และซับซ้อน เพื่อตอบสนองความต้องการและอุดรอยรั่วของวงการสุขภาพไทยให้ถึงที่สุด!

 

เพราะเมื่อกล่าวถึงโรคหายาก การจำกัดความของโรคดังกล่าวนั้นจะอยู่ที่ โรคซึ่งมีอาการปรากฎอาจจะมีความคล้ายคลึงกับโรคทั่วไป จนทำให้การวินิจฉัยคลาดเคลื่อนได้ง่าย ผู้ป่วยไม่หายและยังคงเป็นเรื้อรังจนต้องใช้เวลารักษาอย่างยาวนาน หรือบางครั้งต้องปล่อยตัวเองไปเรื่อยๆ มารู้ตัวอีกทีก็มีอาการที่เป็นหนักเข้าเสียแล้ว!

โดยปัญหาของการรักษาโรคยาก คือ การรักษาต้องอาศัยแพทย์ในหลายสาขาวิชาเข้ามาร่วมกันวินิจฉัยโรค และต้องใช้ความชำนาญในการวินิจฉัยโรคซึ่งต้องอาศัยเวลา เมื่อหันมาดูสถิติแพทย์ต่อผู้ป่วยในไทย ซึ่งพบว่าสัดส่วนมากกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดถึงสองเท่า ก็คงแทบจะเป็นไปได้ยากในการปฏิบัติโดยเฉพาะในโรงพยาบาลรัฐที่มีผู้ป่วยเข้ารับบริการเป็นจำนวนมาก

 

จนทุกวันนี้มีการคาดการณ์ว่า สัดส่วนผู้ป่วยโรคหายากมีจำนวนถึง 3.5 ล้านคนในไทยหรือราว 5% ของประชากรทั่วประเทศ ที่ต้องเผชิญกับการใช้ชีวิตที่มีความยากลำบาก

 

โรงพยาบาลเมดพาร์ค ก่อตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ที่จะขยายขอบเขตความเป็นไปได้ของการรักษาโรคยากและซับซ้อนในประเทศไทย นอกจากเพื่อสุขภาพของคนไทยแล้วยังเป็นการตอบสนองต่อนโยบาย Medical Hub ของประเทศที่ต้องสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นให้ได้  จึงเป็นที่มาของการรวมตัวทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีประสบการณ์การรักษาอย่างยาวนาน ผนวกกับการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในการรักษาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา

 

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค (MedPark)

 

  • โรงพยาบาลที่มีผู้เชี่ยวชาญหลายสาขามีเจตนารมณ์ร่วมกัน

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค (MedPark) กล่าวว่า เมื่อมีเจตนาจะเป็นโรงพยาบาลที่รักษาโรคยาก จึงทำให้โรงพยาบาลต้องออกแบบส่วนต่างๆ ให้สอดคล้องกับประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะการหาแพทย์หรือคนร่วมงานที่มีเจตนารมณ์ร่วมกัน

 

“ การดูแลโรคยากนั้นจะอยู่ในรูปแบบของคนไข้มาคนหนึ่ง หมอหลายคนมาช่วยกันตรวจ เพื่อแยกโรคว่าโรคที่ผู้ป่วยเป็นเกี่ยวกับหัวใจ ปอด หรือไต พร้อมๆ กัน .. เพราะฉะนั้นคนที่จะมาทำงานที่นี่จะต้องจบเฉพาะทางและต้องมีประสบการณ์การทำงานหลังจากจบเฉพาะทางมาแล้วอย่างน้อย 5 ปี ”

 

นายแพทย์พงษ์พัฒน์กล่าวว่า การรักษาโรคยากเหมือนกับการต้องลงไปดูชีวิตของผู้ป่วย เพื่อค้นหาสาเหตุและเบื้องหลังของอาการ จึงต้องอาศัยความมุ่งมั่นและใส่ใจจากแพทย์เป็นอย่างมาก

 

 

“ เรามีเคสหนึ่ง ครึ่งปีที่แล้วมีอาการน้ำในไขสันหลังรั่วออกมาจนทำให้เกิดอาการเวียนหัว เมื่อตื่นนอนและลุกขึ้นยืน ก็ต้องล้มลงนอน ไปหาแพทย์เพื่อตรวจก็หาสาเหตุไม่เจอ ผ่านการผ่าตัดจากโรงพยาบาลใหญ่ๆ แห่งหนึ่งมาแล้วแต่ก็ไม่หาย เพราะไม่รู้ว่าน้ำในไขสันหลังที่รั่วนั้นรั่วจากตรงไหน

วิธีการรักษาคือต้องฉีดสีเข้าไปเพื่อดู แต่ถ้ามันไหลเร็วก็หาไม่เจออยู่ดี เพราะมันจะไหลออกเร็วจนสีเปรอะไปหมด เราต้องอาศัยทีมงานที่อดทนอยากจะค้นและหาให้ได้ เคสนี้เรามาช่วยกันรักษา มีอาจารย์ทีมแพทย์ช่วยกันสังเกต ค่อยๆ ดูอย่างช้าๆ จนกระทั่งหาจุดได้และไปผ่าตัดจึงหาย " นายแพทย์พงษ์พัฒน์ยกตัวอย่าง

 

‘เมดพาร์ค’ ย้ำจุดยืน รักษาโรคยาก ชี้คนไทยเข้าไม่ถึงการรักษากว่า 3.5 ล้านคน

 

" หรือมีเคสหนึ่งผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจ โรงพยาบาลอื่นบอกว่าเคสนี้ยากแล้วเพราะน้ำเกินและคอยท่วมปอดเรื่อยๆ มีการแนะนำให้ผู้ป่วยล้างไตดีกว่าแม้ว่าไตจะไม่ได้เสีย เพราะจะได้ดูดน้ำออกจากร่างกาย ซึ่ง 3 วันก็ต้องล้างไตทีหนึ่ง เพื่อให้ผู้ป่วยชะลอการเสียชีวิตไปเรื่อยๆ แต่เรามาดูและใช้ความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ตอนนี้คนไข้ดีขึ้นไม่ต้องล้างไตและมีชีวิตต่อได้ ”

 

สิ่งที่นายแพทย์พงษ์พัฒน์เล่าให้ฟังย้ำความจริงของวงการสาธารณสุขไทยว่า ไม่ใช่ทุกโรงพยาบาลและ ‘ทุกที่’ ที่จะรักษาโรคยากได้

 

“ ตอนนี้มีนโยบายทุกโรคตอนนี้ให้รักษาทุกที่ แต่ความพร้อมของโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะพร้อมรักษาทุกโรคหรือไม่ เป็นของควรระวังเวลาที่จะสื่อสารออกไป เพราะสุดท้ายอาจจะทำให้เกิดผลเสียต่อผู้ป่วยเอง ..

เพราะแต่ละโรคก็จะมีช่วงเวลาสำคัญที่ต้องรักษา (Golden Period ) ของโรค บางเคสไม่สมควรตาย” นายแพทย์พงษ์พัฒน์กล่าว

 

  • เน้นด้านมะเร็งมากขึ้น หานวัตกรรมทางการรักษาและความร่วมมือกับนานาชาติ

“ เราเดินบนไกด์ไลน์ของการรักษาโรคยาก สิ่งที่เราทำทั้งหมดก็จะต้องล้อมรอบเรื่องนี้”

นายแพทย์พงษ์พัฒน์กล่าวถึงความสำคัญของบทบาทของนวัตกรรมด้านการรักษาที่มีความสำคัญอย่างมากในโรงพยาบาลเมดพาร์ค นอกจากการจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีเจตนารมณ์ของการดูแลผู้ป่วยโรคยากให้ดีที่สุดแล้ว ‘เมดพาร์ค’ ยังมองถึงการขยายขอบเขตนวัตกรรมทั้งทางด้านการรักษา และการวิจัย เพื่อมองหาโซลูชันที่ดีและมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยให้มากที่สุด

 

‘เมดพาร์ค’ ย้ำจุดยืน รักษาโรคยาก ชี้คนไทยเข้าไม่ถึงการรักษากว่า 3.5 ล้านคน

 

เราเน้นด้านการรักษามะเร็งเพิ่มขึ้น ตอนนี้เรามีทีมผู้เชี่ยวชาญการเปลี่ยนถ่ายไขกระดูก มีเรื่องของ Car T-Cell (ภูมิคุ้มกันบำบัด) อย่างไรก็ตาม Car-T-Cell ยังอยู่ในขั้นวิจัย แต่จะเป็นในลักษณะของการทำงานร่วมกับทางโรงพยาบาลจุฬาฯ โดยจุฬาฯ ทำหน้าที่ในการผลิตและใช้พื้นที่การรักษาที่เรา

ในส่วนนี้เราได้ทำ MOU กับมหาวิทยาลัยในปักกิ่งเป็นที่เรียบร้อยที่จะแลกเปลี่ยนความรู้และดูแลเคสร่วมกัน เพราะประเทศจีนทำ Car-T-Cell เยอะมาก และมองว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย

 

‘เมดพาร์ค’ ย้ำจุดยืน รักษาโรคยาก ชี้คนไทยเข้าไม่ถึงการรักษากว่า 3.5 ล้านคน

 

นอกจากนี้จะมีการเปิดศูนย์จีโนมขึ้นมา เพื่อพัฒนาการวินิจฉัยเรื่องมะเร็งถึงระดับ DNA  เนื่องจากแต่ก่อนเราต้องส่งไปเมืองนอก ซึ่งกว่าจะได้ผลกลับมามีความล่าช้า ใช้เวลาราว 6 อาทิตย์ ซึ่งตอนนี้หากทำที่เราและร่วมกับต่างประเทศในการแปรผล จะเหลือเวลาเพียงแค่ 2 อาทิตย์เท่านั้น โดยร่วมลงลงทุนกับบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านจีโนมิกส์จากจีนและพาร์ทเนอร์คนไทย ซึ่งมีการลงทุนราว 40 ล้านบาทและจะเปิดในต้นปีหน้า  รวมไปถึงโครงการอื่นๆ เช่นโครงการเกี่ยวกับโรคหัวใจ ที่จะมีโครงการใหม่ซึ่งต้องรอติดตามกันต่อไป แต่น่าจะออกมาได้ราวๆ ต้นปี ”

 

นายแพทย์พงษ์พัฒน์มองว่า งบประมาณในการลงทุนส่วนใหญ่ในเชิงนวัตกรรมทุกวันนี้ยังเน้นไปที่การรักษา แต่ส่วนที่ขาดคือ การลงทุนในด้านการวิจัย ซึ่งทางโรงพยาบาลเมดพาร์คอยู่ในช่วงของการเจรจาหาช่องทางและเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศให้ได้ อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของโรงพยาบาลเอกชนในการทำวิจัยในประเทศไทยยังติดด้วยข้อกำหนดของแพทยสภา ซึ่งคงต้องใช้เวลา

 

‘เมดพาร์ค’ ย้ำจุดยืน รักษาโรคยาก ชี้คนไทยเข้าไม่ถึงการรักษากว่า 3.5 ล้านคน

 

ท้ายสุด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้แพทย์และบุคลากรมีเจตนารมณ์ที่จะรักษาโรคยากอย่างถึงที่สุดร่วมกัน หรือการนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาใช้ สิ่งสำคัญคือ ‘การเข้าใจความต้องการของผู้ป่วย’ เป็นที่ตั้ง

 

“ผมมองว่าทุกเคสที่จะต้องเจอโรคยากจะต้องมีการนั่งคุยกัน ตั้งแต่ระดับผู้บริหาร เช่น คนไข้อยากสู้อยู่ไม่อยากตาย และสามารถใช้จ่ายมีเงินที่จะซัพพอร์ตความต้องการนี้ได้ เราก็ต้องเข้าใจ มีคนไข้บางคนที่บางส่วนมีโรคอาจจะจัดการไม่ได้ บางที่อาจทิ้งแล้วแต่ ‘เขาอยากมีชีวิต’ นั่นคือหน้าที่ของเรา ที่จะต้องหาวิธีการดูแลให้ดีที่สุด”  นายแพทย์พงษ์พัฒน์กล่าว.